‘เงินบาท’ วันนี้เปิด’ทรงตัว’ ที่33.35บาทต่อดอลลาร์
“กรุงไทย” ชี้เงินบาทเปิดตลาดวันนี้(21ต.ค.)ทรงตัวที่33.35บาทต่อดอลลาร์ ทิศทางเงินบาทยังผันผวน ตามกระแสฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ จนกว่าปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจจะดีขึ้นชัดเจนและปรับประมาณการกำไรบจ. มองกรอบเงินบาทวันนี้ที่ 33.25-33.45บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันนี้(21ต.ค.) ที่ระดับ 33.35 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.25-33.45 บาทต่อดอลลาร์
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังมีทิศทางการเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways โดยปัจจัยหนุนในฝั่งแข็งค่าคือ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดที่จะกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง รวมถึง โฟลว์ขายทำกำไรทองคำ เราคาดว่าจะเริ่มเห็นภาพดังกล่าว หากราคาทองคำปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์
อย่างไรก็ดี ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะฟันด์โฟลว์หุ้นนั้น จะเป็นปัจจัยที่สร้างความผันผวนให้กับเงินบาทได้ เพราะจะเห็นได้ว่า หากนักลงทุนต่างชาติขายทำกำไรหุ้นไทย ก็อาจกดดันให้เงินบาทผันผวนในฝั่งอ่อนค่า กลับกัน แรงซื้อหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติจะช่วยหนุนให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้น ดังที่เห็นในสัปดาห์นี้ เรามองว่า โฟลว์นักลงทุนต่างชาติอาจมีการซื้อ-ขาย สลับกัน จนกว่าปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจจะมีทิศทางดีขึ้นชัดเจนและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนเริ่มดีขึ้น จนนักวิเคราะห์มีการปรับเป้าผลกำไร ซึ่งจะช่วยลดระดับ Valuation ของหุ้นไทยให้ถูกลงจนน่าสนใจได้ เนื่องจากปัจจุบัน ระดับ Valuation หุ้นไทยถือว่าแพงพอสมควร
ทั้งนี้ แนวต้านสำคัญของเงินบาทยังอยู่ในโซน 33.50-33.60 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ส่งออกบางส่วนต่างรอขายเงินดอลลาร์อยู่ ส่วนผู้นำเข้าบางส่วนก็รอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้ เงินบาทยังมีแนวรับสำคัญที่โซน 33.10-33.20 บาทต่อดอลลาร์
บรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมยังอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ทยอยออกมาดีกว่าคาด ขณะที่ ผู้เล่นในตลาดก็ไม่ได้กังวลต่อปัญหาเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นมากนัก ซึ่งส่วนหนึ่งสอดคล้องกับความเห็นของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ที่ต่างมองว่า เงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูงเพียงชั่วคราว อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่มองว่า หากเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงนานเกินกว่าคาดในปี 2022 อาจทำให้เฟดจำเป็นต้องพิจารณาใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นการทยอยขึ้นดอกเบี้ยได้ในปีหน้า นอกจากนี้ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาดยังได้สะท้อนผ่านการปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงของสินทรัพย์ทางเลือกอย่าง Bitcoin ที่ล่าสุดปรับตัวขึ้นแตะจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์แล้ว
ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดได้หนุนให้ ในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 เดินหน้าปรับตัวขึ้นราว +0.37% ในขณะที่ ดัชนี หุ้นเทคฯ Nasdaq กลับย่อตัวลงเล็กน้อย -0.05% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นแรงขายทำกำไรหุ้นเทคฯ ที่รีบาวด์ปรับตัวขึ้นมาในระยะสั้น รวมถึงแรงกดดันต่อ valuation หุ้นเทคฯ หลังบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นและมีแนวโน้มจะปรับตัวขึ้นต่อได้ ทำให้ ผู้เล่นในตลาดอาจเลือกที่จะเน้นลงทุนในหุ้นสไตล์ Cyclical Value มากกว่าหุ้น Tech. / Growth อย่างไรก็ดี เราคาดว่ารายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจับตามองและอาจส่งผลบวกต่อทิศทางของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในระยะสั้นนี้
ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX50 ปิดตลาด +0.13% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีเช่นกัน อาทิ หุ้นกลุ่มพลังงาน กลุ่มธนาคาร รวมถึง กลุ่มสินค้าแบรนด์เนม ทว่า เราเริ่มเห็นแรงขายทำกำไร หุ้นเทคฯ ยุโรป โดยเฉพาะหุ้นที่ตลาดคาดหวังผลประกอบการไว้สูง อาทิ ASML -3.8% ที่ประมาณการยอดขายในไตรมาส 4 ที่น้อยกว่าตลาดคาดหวังไว้จากปัญหาด้าน Supply Chain
ในฝั่งตลาดบอนด์ ภาพตลาดเดินหน้าเปิดรับรับความเสี่ยงมากขึ้นและผลการประมูลบอนด์ 20ปี สหรัฐฯ ที่ความต้องการน้อยกว่าตลาดคาด ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นกว่า 2bps สู่ระดับ 1.66% ทั้งนี้ หากบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1.70%-1.75% ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในปีนี้ เราคาดว่าอาจเห็นผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้ามาซื้อบอนด์ระยะยาวที่ระดับดังกล่าว ทำให้บอนด์ยีลด์อาจแกว่งตัวในกรอบไม่เกิน 1.75% จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาหนุนการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังผู้เล่นในตลาดลดการถือครองเงินดอลลาร์เพื่อหลบความผันผวนลงตามการทยอยเปิดรับความเสี่ยงของตลาด ทำให้ล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ย่อตัวลงกลับไปที่ระดับ 93.60 จุด ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นมาใกล้ระดับ 1,780 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงทิศทางนโยบายการเงินของเฟด ซึ่งบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ได้ให้สัมภาษณ์ตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ต่างสนับสนุนการลดคิวอีในเดือนหน้า และยังคงมองว่า เงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูงชั่วคราว แต่ถ้าเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นและอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด ก็อาจทำให้เฟดจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเร็วขึ้น
นอกจากนี้ รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อทิศทางของตลาดการเงินในระยะนี้ เพราะหากงบของบรรดาบริษัทจดทะเบียนต่างออกมาดีกว่าคาดหรือมีแนวโน้มจะเติบโตได้ในอนาคตและดีกว่าที่ตลาดคาดหวังไว้ ก็จะช่วยให้ตลาดทยอยเปิดรับความเสี่ยงต่อได้