กฟผ.เร่งพัฒนาพลังหมุนเวียน สู่สังคมคาร์บอนต่ำดันเศรษฐกิจท่องเที่ยว
ยุคที่ทุกประเทศเผชิญกับปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงและทวีคูณมากขึ้น พลังงานหมุนเวียน (RE) ถือเป็นอีกทางเลือกในการผลิตกระแสไฟฟ้า เนื่องจากเป็นพลังงานที่มีทั่วไปตามธรรมชาติ เมื่อนำมาใช้แล้วสามารถหมุนเวียนนำกลับมาใช้ได้อีก อาทิ พลังงานจากแสงอาทิตย์ ลม น้ำ
“บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร” ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.ตระหนักถึงความสำคัญที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันมุ่งสู่พลังงานสะอาดและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยมีเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่พลังงานสะอาด และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปีค.ศ.2065-2070 เมื่อวันที่ 4 ส.ค.2564
ทั้งนี้ เพื่อให้เป้าหมายภายใต้หลักการสร้างสมดุลในการสร้างการผลิตไฟฟ้า ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในประเทศ กฟผ.ได้กำหนดทิศทางเพื่อมุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนภายใต้การเติบโตสู่สังคมคาร์บอนต่ำร่วมกัน สู่สังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยการจัดการตั้งแต่ต้นกำเนิด การดูดซับเก็บคาร์บอนอย่างมีส่วนร่วม และการสนับสนุนโครงการหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คือการปรับสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ต่อเนื่อง
“ปีค.ศ.2050 ตั้งเป้าผลิตพลังงานไฟฟ้าเชื้อเพลิงไฮโดรเจนไว้ที่ 6.6 แสนล้านหน่วย กฟผ.ผลิตไฟฟ้าโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล 5,320 เมกะวัตต์ ในปีค.ศ.2036 เพื่อให้ได้พลังงานหมุนเวียนมาใช้อย่างเหมาะสมไม่กระทบต่อการผลิตไฟฟ้า และวางแนวทางนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าอนาคต โดยการเพิ่มปริมาณดูดเก็บก๊าซคาร์บอน เช่น โครงการปลูกป่า 1 ล้านไร่ ภายในระยะเวลา 10 ปี จะช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซต์ 1.2 ล้านตันต่อปี”
นอกจากนี้ กฟผ. ได้เล็งเห็นถึงคุณประโยชน์ของพลังงานหมุนเวียนที่สามารถนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าได้ไม่มีวันหมดสิ้น จึงได้เดินหน้าโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยหลายแห่ง ได้แก่
โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อน (Hydro-floating Solar Hybrid) หรือ โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด โดยโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวัน และใช้พลังน้ำจากเขื่อนผลิตไฟฟ้าในช่วงเวลาที่แสงแดดไม่เพียงพอ หรือเวลากลางคืน ซึ่งได้เริ่มนำร่องแห่งแรก ณ เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนได้ถึงประมาณ 47,000 ตัน/ปี หรือเทียบเท่ากับการปลูกป่า 37,600 ไร่ นอกจากนี้ การติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์และทุ่นลอยน้ำที่ปกคลุมผิวน้ำ ยังช่วยลดการระเหยของน้ำได้ประมาณ 460,000 ลบ.ม./ปี
นอกจากสร้างพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว กฟผ.ยังได้ก่อสร้างเส้นทางเดินชมธรรมชาติ หรือ Nature Walkway บริเวณโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด เพื่อเป็นจุดเช็คอินและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งใหม่ของ จ.อุบลราชธานี ถือเป็นการสร้างทัศนียภาพที่สวยงาม ให้มีความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากจดจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่แล้ว ยังมีโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดที่ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก สามารถมองในมุมสูงได้ภาพที่สวยงาน
“ปัจจุบันอยู่ระหว่างปรับภูมิทัศน์รอบพื้นที่รวมถึงก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์สำหรับให้ข้อมูลนักท่องเที่ยวก่อนเดินชม คาดจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ในเดือนม.ค.2565 เพื่อช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจท่องเที่ยวของจังหวัดกลับมาคึกคักและสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่ง”
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร ถือเป็นโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำที่ไฮบริดกับพลังน้ำจากเขื่อนขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำและอุปกรณ์ต่างๆ จากขอบเขตพื้นที่ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธรประมาณ 760 ไร่ โดยติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์อยู่บนพื้นที่ผิวน้ำประมาณ 450 ไร่
นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีแผนก่อสร้างโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดที่เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ขนาดกำลังผลิต 24 เมกะวัตต์ ซึ่งตามแผนคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2566 และ กฟผ. ได้เตรียมแผนพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดบริเวณเขื่อนอื่นๆ ของ กฟผ. อีก 9 เขื่อน ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2580 รวมเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 2,725 เมกะวัตต์
เดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำจุฬาภรณ์แบบสูบกลับ ตั้งอยู่ที่ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมินับเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ แห่งที่ 2 ของภาคอีสาน พร้อมเป็นแหล่งพลังงานสำรองขนาดใหญ่กว่า 800 เมกะวัตต์ เป็นระบบกักเก็บพลังงาน ช่วยเติมเต็มโครงข่ายระบบไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น คาดพร้อมจ่ายไฟฟ้าได้ในปี 2578 และยังคงเดินหน้าศึกษาศักยภาพพื้นที่ต่างๆ ที่มีความเหมาะสมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับทั่วประเทศอีกด้วย
โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนผาจุก ตั้งอยู่ที่ต.ผาจุก อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ ขนาดกำลังผลิต 14 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ตั้งอยู่บริเวณเขื่อนทดน้ำผาจุก โดยนำน้ำมาใช้ประโยชน์ในการผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อบูรณาการการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่กระทบกับวัตถุประสงค์ของการใช้น้ำเพื่อการชลประทาน คาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เดือนก.ย.2565
โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก เป็นการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนเก็บน้ำของกรมชลประทานที่มีศักยภาพทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 24 เขื่อน รวมแล้วมีขนาดกำลังผลิต 69 เมกะวัตต์ โดยนำร่องก่อสร้างที่เขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา เขื่อนน้ำปี้ จ.พะเยา และเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ คาดว่าแล้วเสร็จในปี 2568 ซึ่งตามแผนฯ มีกำหนดก่อสร้างที่เขื่อนอื่นๆ ทั่วประเทศจนถึงปี 2580
แม้ว่าไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะเป็นพลังงานสะอาด หมุนเวียนนำมาใช้ไม่หมดสิ้น แต่ก็ยังมีข้อจำกัดเพราะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ปริมาณน้ำ หรือแสงแดดมีไม่สม่ำเสมอ ทำให้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง กฟผ. จึงได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านพลังงานมาพัฒนาระบบไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น หรือที่เรียกว่า Grid Modernization ให้มีความมั่นคงและยืดหยุ่นด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ได้แก่ การพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจาก RE การติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ระบบ Battery Energy Storage System หรือ BESS ในพื้นที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ และสถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี มาใช้เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากพลังงานหมุนเวียนได้ยาวนานขึ้น
ระบบไฟฟ้าของประเทศไทยมีขนาดใหญ่ จึงต้องมีความมั่นคงในระบบไฟฟ้า ซึ่งต้องอาศัยการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงประเภทอื่นๆ เช่น ฟอสซิลที่มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำ เพื่อเตรียมรองรับการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาดในอนาคต รอการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนต่อไป