รฟท.เปิดทางซีพี เลื่อน-แบ่งจ่าย ค่างวดหมื่นล้าน
รฟท. เปิดทางกลุ่มซีพีเลื่อนจ่ายค่างวดแอร์พอร์ตลิงก์ออกไปอีก 3 เดือน พร้อมแบ่งจ่าย 6 งวด จากเดิมที่ต้องจ่ายเต็มจำนวน 10,671 ล้านบาทในวันที่ 24 ตุลาคมนี้
เมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ หรือเอ็มโอยู เรื่องการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ กับบริษัท เอเชีย เอรา วัน ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงหรือไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน หลังจากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแนวทางการแก้ปัญหาผลกระทบจากโควิดให้กับคู่สัญญา ซึ่งจะทำให้การบริการของแอร์พอร์ตลิงก์ในช่วงรอยต่อของการรับมอบพื้นที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
เอ็มโอยูดังกล่าวจะทำให้บริษัท เอเชีย เอรา วัน สามารถเข้าบริหารโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ต่อจาก รฟท.ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป หลังจากคู่สัญญาได้ยื่นข้อเสนอขอเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 และคณะกรรมการบริหารโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เห็นชอบในหลักการเยียวยาผลกระทบในส่วนการชำระค่าสิทธิโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ที่ต้องชำระทั้งจำนวน 10,671 ล้านบาท ภายในวันที่ 24 ตุลาคม 2564
ที่ผ่านมา ครม.มอบหมายให้ รฟท. และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ สกพอ. และบริษัท เอเชีย เอรา วัน ร่วมกันพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้การเดินรถไฟฟ้าสะดุดและส่งผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งในกรณีการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนจะต้องดำเนินให้เรียบร้อยตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี
ขณะที่บริษัท เอเชีย เอรา วัน แจ้งความประสงค์เข้าบริหารโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ในวันที่ 24 ตุลาคม 2564 ตามที่กำหนดในสัญญาร่วมลงทุน โดยขอผ่อนผันการชำระเงินค่าสิทธิบริหารโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ออกไป 3 เดือน และขอปรับรูปแบบการจ่ายจากเดิมที่ต้องชำระทั้งจำนวน 10,671 ล้านบาท โดยจะแบ่งชำระ 10 งวด ในระยะเวลา 10 ปี
ส่วนคณะกรรมการบริหารสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน พิจารณาให้มีการชำระ 6 งวด จากข้อเสนอของเอกชนคู่สัญญาที่เสนอมา 10 งวด โดยการชำระ 6 งวด และเมื่อรวมกับดอกเบี้ยที่ต้องชำระเพิ่มเติมจะทำให้เอกชนคู่สัญญาต้องชำระตามมูลค่าปัจจุบันสุทธิ หรือ NPV ที่ 11,705 ล้านบาท หรือสูงกว่าวงเงินเดิม 1,034 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การแบ่งชำระงวดที่เหลือยังเป็นข้อเสนอที่คณะกรรมการบริหารโครงการฯ ต้องมาพิจารณาสรุปไปพร้อมกับการแก้ไขสัญญาที่การรถไฟฯ สำนักงานอีอีซีและเอกชนคู่สัญญาต้องไปสรุปรายละเอียดอีกครั้ง