5 องค์กรชู “กรีนพลาส พาเลท” ไม้เทียมจากพลาสติกใช้แล้วสู่ภาคอุตสาหกรรม
5 องค์กร ชู “กรีนพลาส พาเลท” ไม้เทียมจากพลาสติกใช้แล้วสู่ภาคอุตสาหกรรม ตั้งเป้ารีไซเคิลขยะ 1 ล้านตันในปี 2573 พร้อมวางแผนใช้แผ่นไม้เทียมมาประกอบเป็นพาเลทเกือบ 59,000 ตัวในปีหน้า หวังลดก๊าซคาร์บอน 108 ตันต่อปี เทียบเท่าปลูกต้นไม้ 333 ไร่ต่อปี
นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทฯ มุ่งมั่นนำความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์จากการดำเนินโครงการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนต่างๆ เข้ามาช่วยพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างตลาดให้กับพลาสติกที่ใช้แล้วซึ่งให้มีมูลค่าและมีการเก็บเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ สอดคล้องกับเป้าการทำงานด้านความยั่งยืน ล่าสุดได้ร่วมมือกับ กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอ็ม.บี.เจ.เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พัฒนาโครงการ Greenplas Pallet for Green Industry พาเลทสำหรับคลังสินค้าและงานขนส่งอุตสาหกรรมซึ่งผลิตจากไม้เทียมผสมบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้แล้ว เช่น ถุงเติมสบู่เหลว ถุงเติมน้ำยาปรับผ้านุ่ม แชมพูชนิดซอง ฯลฯ โดยได้เริ่มใช้งานจริงในโรงงานและคลังสินค้าของบริษัทฯ แล้ว สามารถลดขยะได้กว่า 104 ตันต่อปีในระยะแรก และยังมีแผนจะช่วยส่งเสริมให้ไปสู่เชิงพาณิชย์ในบริษัทอื่นๆ ต่อไป
ทั้งนี้ ตั้งเป้าภายในปี 2573 จะทำให้ขยะพลาสติกจำนวน 1 ล้านตันถูกเก็บกลับมาใช้ใหม่ผ่านการดำเนินการของบริษัทฯ และความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ อย่างไรก็ตาม พาเลทไม้เทียมเป็นหนึ่งในไม่กี่ผลิตภัณฑ์ในปัจจุบันที่สามารถดึงขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ได้ในปริมาณมาก เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดเก็บและขนส่งสินค้าในเกือบทุกอุตสาหกรรม และนำไปประยุกต์ใช้งานด้านอื่นๆ เช่น เฟอร์นิเจอร์ รั้ว สนามเด็กเล่นได้ในอนาคต โดยภายในปีหน้าวางแผนจะใช้แผ่นไม้เทียมจากพลาสติกใช้แล้วนี้ประมาณ 147,000 แผ่นต่อปี นำมาประกอบเป็นพาเลทเกือบ 59,000 ตัว ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ได้ประมาณ 108 ตันต่อปี เทียบเท่าปลูกต้นไม้ 333 ไร่ต่อปี
“บริษัทฯ ได้นำผลิตภัณฑ์กรีนพลาส พาเลท ที่ได้ไปใช้งานในโรงงานและคลังสินค้าเราแล้ว และในระยะต่อไปจะนำผลิตภัณฑ์เพื่อการขยายตลาดไปยังกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ด้วย โดยมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ และรณรงค์ให้ผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้นในการคัดแยกถุงบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วเพื่อเป็นวัตถุดิบ ซึ่งจะช่วยให้พลาสติกใช้แล้วถูกนำไปใช้ประโยชน์ในวงกว้างส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยมากยิ่งขึ้น” นายฉัตรชัย กล่าว
นางชู ลิม รองประธานบริหาร ฝ่ายซัพพลายเชน กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทยและภาคพื้นอาเซียน กล่าวว่า การเปลี่ยนถุงพลาสติกหลายชั้นที่มีมูลค่าต่ำและเป็นพลาสติกที่มักมีการรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อมให้สามารถนำกลับมาเป็นวัตถุดิบหรือรีไซเคิลที่จะนำไปใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ในการขับเคลื่อนนโยบายในการเรียกเก็บบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้แล้วนำกลับมาเข้าสู่ระบบรีไซเคิลให้ได้มากที่สุด โดยบริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะเรียกเก็บบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วให้มีปริมาณที่มากกว่ายอดขายที่จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายในปี 2568 ให้สำเร็จและลดการใช้เม็ดพลาสติกใหม่ในบรรจุภัณฑ์พลาสติกของเราลงครึ่งหนึ่ง เพิ่มปริมาณวัสดุพลาสติกรีไซเคิลในบรรจุภัณฑ์ 25% เข้าสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมใหม่นี้อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ กรีนพลาส พาเลท ผลิตจากไม้เทียมที่มีส่วนผสมระหว่างผงไม้กับพลาสติกใช้แล้วเพื่อทดแทนไม้จริง ในสัดส่วน 10-45% โดยใช้ประโยชน์จากพลาสติกที่รีไซเคิลยาก ได้แก่ ถุงบรรจุภัณฑ์ที่ประกอบด้วยพลาสติกหลายชั้น เช่น ถุงน้ำยาปรับผ้านุ่ม ถุงผงซักฟอก แชมพู-ครีมนวดผมชนิดซอง รวมทั้งขวดบรรจุภัณฑ์ชนิดที่มีสีหรือขุ่นที่รีไซเคิลได้แต่มีร้านที่รับซื้อไม่มากนัก เช่น ขวดแชมพู ขวดน้ำยาล้างจาน และยังมีแผนที่จะขยายการทดสอบไปสู่พลาติกชนิดอื่นๆ เพิ่มเติมในระยะถัดไป อีกทั้งผู้บริโภคสามารถรวมบรรจุภัณฑ์พลาสติกมาผลิตกรีนพลาส พาเลท เพื่อลดขยะอย่างยั่งยืนตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วย
นายสมศักดิ์ บริสุทธนะกุล กรรมการ/ประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง/กรรมการความยั่งยืนและบรรษัทภิบาล บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในฐานะผู้ผลิตบรรจุพันธ์มีแนวคิดในการประกอบธุรกิจอยู่แล้ว มองว่าวัสดุใช้แล้วมีคุณค่า โดยความร่วมมือครั้งนี้จะนำไปสู่การบริหารจัดการขยะพลาสติกได้อย่างครบวงจรตั้งแต่การจัดหาพลาสติกที่ใช้แล้วจากผู้บริโภค การแปรรูปพลาสติกที่ใช้มาเป็น ผลิตภัณฑ์พาเลทไม้เทียม ที่ผ่านการทดสอบพบว่ามีความแข็งแรง ทนทาน และสามารถใช้งานได้เทียบเท่าไม้จริง ดังนั้น โครงการนี้จึงถือเป็นหนึ่งในโครงการต้นแบบที่นำเอาหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy มาใช้ได้ ลดการรั่วไหร่ของพาสติก ช่วยในด้านสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง
นายบำรุง เจษฎาพงศ์ไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็ม.บี.เจ.เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด กล่าวว่า ถือเป็นก้าวสำคัญที่ประสบความสำเร็จด้วยดี เนื่องจากวัตถุดิบเป็นขยะพลาสติกมัลติเลเยอร์ ยากต่อการกำจัด ถือว่ามีความท้าทายอย่างมากในการวิจัยและพัฒนาการนำขยะพลาสติกใช้แล้ว นำกลับมารีไซเคิลผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ไม้เทียมที่มีคุณสมบัติที่ดีและมีความแข็งแรงทนทาน สามารถนำมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์พาเลทสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทฯ เชื่อว่าผลิตภัณฑ์ Greenplas Pallet นอกจากแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนแล้ว ยังสามารถสร้างประโยชน์ในด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นๆ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้ นับเป็นการสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ ที่มีการนำขยะไปใช้ต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์ต่อสังคมและส่วนรวมได้
ศาสตรตารย์สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า จากการพัฒนานวัตกรรมโครงการ Greenplas Pallet for Green Industry จนประสบผลสำเร็จในการนำไปใช้เชิงพาณิชย์ได้ โดยจะใช้ประกอบชิ้นส่วนของงานก่อสร้าง สามารถดัดแปลงใช้กับวัสดุอื่นๆ จึงอยากให้วิศวกรมาร่วมด้วย จะได้พัสดุที่ต่อยอดได้ในกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง อีกทั้ง ขณะนี้ สถาบันฯ อยู่ระหว่างนำพาเลทมาใช้สร้างเตียง โต๊ะต่างๆ ทั้งในโรงพยาบาล โรงเรียน ถือเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดี สามารถรองรับน้ำหนักได้เทียบเท่าไม้จริง
ทั้งนี้ แผ่นไม้เทียมที่ใช้ผลิตกรีนพลาส พาเลท มีคุณสมบัติ แข็งแรง ยืดหยุ่น สามารถเจาะ หรือตอกตะปู เพื่อยึดติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ รองรับน้ำหนักได้เท่าพาเลทที่ทำจากไม้จริง ตอบโจทย์นโยบายสิ่งแวดล้อมทั้งระดับโลก เช่น เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN’s SDGs) ระดับประเทศ เช่น นโยบาย BCG (Bio-Circular-Green) Economy ของรัฐบาล และส่งเสริมเป้าหมายด้านความยั่งยืนในระดับองค์กรของบริษัทผู้ร่วมโครงการ และผู้ที่นำกรีนพลาส พาเลท ไปใช้งาน