SCGP เผยกำไรไตรมาส 3/64 ที่ 1,781 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33%
SCGP เผยกำไรไตรมาส 3/64 ที่ 1,781 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33% และ 9 เดือนปีนี้ มีกำไร 6,179 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังความต้องการซื้อในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารเครื่องดื่ม และ ผลิตภัณฑ์รักษาความสะอาดยังเติบโต
บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ไตรมาสที่ 3/64 มีรายได้จากการขายเท่ากับ 31,930 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากการขยายธุรกิจแบบ M&P (SOVI, Go-Pak, Duy Tan และ Intan Group) และ การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคระบาดในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งส่งผลให้อุปสงค์ของผู้บริโภคในประเทศกลับมาขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค แล ะสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ ในส่วนของ EBITDA ในช่วงเวลาเดียวกันมีมูลค่าเท่ากับ 4,910 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% เมื่อเทียบกับปีก่อน และ ลดลง 12% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยมี EBITDA margin ที่ 15%
ส่วนกำไรสำหรับงวดเท่ากับ 1,781 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ ลดลง 21% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยมีอัตรากำไรสุทธิที่ 6% สาเหตุหลักที่ทำให้ EBITDA และ กำไรสำหรับงวดลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนนั้นมาจากต้นทุนค่าระวางเรือ และ ต้นทุนวัตถุดิบที่อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ บริษัทมีการกระจายความเสี่ยง โดยการจัดหาวัตถุดิบจากหลายแหล่งทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และ โอเชียเนีย รวมถึงเพิ่มเครือข่ายจุดรับกระดาษรีไซเคิลภายในประเทศ
ในช่วง 9 เดือนของปี 64 มีรายได้จากการขายเท่ากับ 89,078 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าจะเกิดภาวะโรคระบาดระลอกใหม่ แต่ความต้องการซื้อในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารเครื่องดื่ม และ ผลิตภัณฑ์รักษาความสะอาดยังสามารถเติบโตได้ ประกอบกับ การขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องทั้งในรูปแบบ Organic Expansion และ Merger and Partnership (M&P)
ทั้งนี้ การที่บริษัทมีฐานการผลิตในหลายประเทศ และ ผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองลูกค้าในหลายอุตสาหกรรม ทำให้สามารถกระจายความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนของปัจจัยภายนอกได้ดี ในส่วนของ EBITDA ในช่วงเดียวกันมีมูลค่าเท่ากับ 15,741 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมี EBITDA margin ที่ 18% จากการบริหารจัดการต้นทุนเชิงรุกในภาวะที่ต้องเผชิญกับต้นทุนที่อยู่ในระดับสูง และ การพัฒนาการดำเนินงานขององค์กรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่วนกำไรสำหรับงวดเท่ากับ 6,179 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ มีอัตรากำไรสุทธิที่ 7%
ทางด้านความคืบหน้าโครงการขยายกำลังการผลิต ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 64 มีโครงการที่ยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างทั้งหมด 4 โครงการ ในประเทศไทย เวียดนาม และ ฟิลิปปินส์ ประกอบด้วย
1. ประเทศเวียดนาม (VKPC, เวียดนามเหนือ) - โครงการขยายการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ โดยมีกาลังการผลิตส่วนเพิ่ม 370,000 ตันต่อปี คิดเป็น 70% ของกำลังผลิตปัจจุบัน โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 11,793 ล้านบาท และ คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ช่วงต้นปี 2567
2. ประเทศไทยและเวียดนาม (โครงการลงทุนสายการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหาร) - โดยขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 1,838 ล้านชิ้นต่อปี คิดเป็น 25% ของกำลังผลิตปัจจุบัน เพื่อรองรับความต้องการบรรจุภัณฑ์อาหารที่เพิ่มขึ้นจากประเทศนอกอาเซียน โดยมีรายละเอียดดังนี้
2.1 ขยายกำลังการผลิตของบรรจุภัณฑ์อาหารจากกระดาษเพิ่มขึ้น 1,615 ล้านชิ้นต่อปี ที่โรงงานบ้านโป่ง ประเทศไทย และที่ โรงงาน Binh Duong ประเทศเวียดนาม โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาสที่ 1/65
2.2 ขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารจากเยื่อธรรมชาติเพิ่มขึ้น 223 ล้านชิ้นต่อปี ที่โรงงานวังศาลา ประเทศไทย โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาสที่ 2/65
3. ประเทศไทย จังหวัดสมุทรสาคร (Prepack #2)- โครงการขยายการผลิตบรรจุภัณฑ์พอลิเมอร์แบบอ่อนตัว โดยมีกำลังการผลิตส่วนเพิ่ม 53 ล้านตารางเมตรต่อปี คิดเป็น 15% ของกำลังผลิตปัจจุบัน โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 600 ล้านบาท โดยได้เริ่มดำเนินการผลิตในช่วงปลายไตรมาสที่ 3/64
4. ประเทศฟิลิปปินส์ เมือง Bulacan (UPPC #3)- โครงการขยายการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ โดยมีกำลังการผลิตส่วนเพิ่ม 220,000 ตันต่อปี คิดเป็น 90% ของกำลังผลิตปัจจุบัน โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 5,388 ล้านบาท และ คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในช่วงต้นปี 65
สำหรับแนวโน้มในอนาคต สถานการณ์ภาพรวมทางเศรษฐกิจในอาเซียนช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 64 จนถึงต้นปี 65 นั้น มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัว เนื่องจากมาตรการการผ่อนคลายกิจกรรมทางสังคมของภาครัฐที่ดำเนินมาตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสที่ 3 อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวจะมีลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไปตามกำลังซื้อ และ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
ประกอบกับ ประสิทธิภาพในการผลิตสำหรับภาคอุตสาหกรรมที่จะทยอยปรับตัวดีขึ้นตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา และ ยุโรป มีแนวโน้มที่จะสั่งเตรียมสินค้าสำหรับเทศกาลต่าง ๆ ช่วงปลายปี
ด้านต้นทุนการผลิตนั้น ค่าระวางเรือ ต้นทุนพลังงาน และ ต้นทุนด้านวัตถุดิบในภูมิภาคยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทผู้ผลิตตลอดทั้งอุตสาหกรรม ปัญหาภาวะการกดดันด้านเงินเฟ้อ (Inflationary pressure) และ ความแออัดของภาคการขนส่ง (Logistics bottleneck) เป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง และ ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจทั่วภูมิภาค และ ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ธุรกิจแพคเกจจิ้งยังคงเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทานที่จะตอบสนองความต้องการซื้อสินค้าที่เติบโตของผู้บริโภคในอาเซียน
ทั้งนี้ SCGP ได้ดำเนินการขยายธุรกิจตามเป้าหมาย ทั้งการเติบโตจากการขยายกำลังการผลิต (Organic growth) และ การเร่งขยายธุรกิจจากการควบรวมกิจการ (M&P) ซึ่งการควบรวมกิจการที่กำลังจะเสร็จสิ้นในไตรมาส 4 ปีนี้ กับบริษัท Deltalab ผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ในประเทศสเปนนั้น จะช่วยให้บริษัทสามารถขยายธุรกิจเข้าสู่อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสุขภาพ และ การแพทย์ที่กำลังเติบโตได้
นอกจากนั้น โครงการขยายกำลังการผลิตของโรงงานเดิมในประเทศไทย และ อินโดนีเซีย อยู่ระหว่างการเพิ่มอัตราการผลิตตามแผนงาน ในขณะเดียวกันบริษัทยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง