TFM เล็ง M&A พาร์ทเนอร์ ขยายธุรกิจอาหารสัตว์ต่างประเทศ
TFM ชี้ การเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นช่วยอันล็อกธุรกิจ เตรียมพร้อม M&A พันธมิตร-ขยายธุรกิจต่างประเทศ ตั้งเป้าหมาย 5 ปี รายได้โต 8,000-10,000 ล้านบาท
นายบรรลือศักร โสรัจจกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFM เปิดเผยว่า ภายหลังการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) บริษัทฯ จะนำเงินที่ได้ประมาณ 1,177.40 ล้านบาท ไปใช้ชำระคืนเงินกู้ยืม และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมองการเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นเป็นโอกาสในการอันล็อกธุรกิจ สำหรับการขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงโอกาสในการควบรวมกิจการ (M&A) กับธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ฐานทุนที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ของบริษัทปรับลดลงเหลือ 0.3 เท่า อย่างไรก็ดี ภายหลังนำเงินที่ได้ไปใช้ขยายธุรกิจ คาดว่า D/E Ratio จะขยับขึ้นมาอยู่ที่ 0.5 เท่า โดยบริษัทมีเป้าหมายรักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนให้ไม่เกิน 1 เท่า
สำหรับแผนการดำเนินงานภายหลังการเข้าระดมทุน บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายขยายธุรกิจในต่างประเทศเป็นหลัก โดยจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไม่เกิน 250 ล้านบาท ไปใช้ขยายกำลังการผลิตของโรงงานในประเทศอินโดนีเซียให้เพิ่มขึ้นเท่าตัวมาอยู่ที่ 36,000 ตันต่อปีภายในปี 2566 รวมถึงขยายธุรกิจในประเทศอื่นๆ ภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ อินเดีย และปากีสถาน ส่วนธุรกิจในประเทศจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนราว 200 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและระบบไอที
ขณะที่เป้าหมายรายได้ในปี 2564 บริษัทคาดว่าจะเติบโต 10-20% แตะ 4,800 ล้านบาท จากปี 2563 ที่มีรายได้รวม 4,244.47 ล้านบาท และคาดว่าผลการดำเนินงานจะเติบโตต่อเนื่องในปี 2565 จากความต้องการอาหารสัตว์ทั่วโลกเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติหลังโควิด-19 และการเติบโตของธุรกิจในต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายระยะยาวรายได้เติบโต 8,000-10,000 ล้านบาทภายใน 4-5 ปี (2568-2569)
นอกจากนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายสัดส่วนรายได้ต่างประเทศเติบโตแตะระดับ 25% (ประมาณ 1,500 ล้านบาท) ภายใน 5 ปี (2569) จากสัดส่วนรายได้ทั้งหมด จากปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้ต่างประเทศเพียง 3% (ประมาณ 100 ล้านบาท) โดยคาดว่าในปี 2565 สัดส่วนรายได้จะขยับขึ้นมาอยู่ที่ 20% (ประมาณ 700 ล้านบาท) จากการรับรู้รายได้ในประเทศอินโดนีเซียเต็มปี รวมถึงรายได้จากประเทศปากีสถานที่เริ่มรับรู้มาตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2564
เมื่อสอบถามถึงความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน นายบรรลือศักร กล่าวว่า บริษัทฯ มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอยู่แล้ว ขณะที่ความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นจะอยู่ในการแปลงค่าเงินเข้ามาในงบรวมเท่านั้น จากปกติบริษัทมีการซื้อขายและรับรู้รายได้ต่างประเทศเป็นสกุลเงินท้องถิ่นอยู่แล้ว แม้จะมีการนำเข้าวัตถุดิบบางส่วนจากต่างประเทศ แต่ถือเป็นส่วนน้อยเท่านั้น