กลไกคาร์บอนเครดิต ป่าชุมชน สู่กติกาใหม่ธุรกิจโลก
ประเทศไทยยังมีปริมาณการปล่อยคาร์บอนสูงทั้งจากภาคพลังงานและภาคการขนส่ง กลไกเรื่องของคาร์บอนเครดิตเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาโดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯได้นำร่งทำกับป่าชุมชน ตรียมดึงป่าชุมชนมาขยายผลช่วยให้เกิดการปลูกป่าสร้างรายได้ให้ชุมชน
นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการเดินทางนำคณะผู้แทนไทยเดินทางไป เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เพื่อเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) สมัยที่ 26 ระหว่างวันที่ 1-2 พ.ย.นี้ สำหรับการประชุม COP26มุ่งเป้าให้นานาชาติต้องหันกลับมาร่วมมืออย่างจริงจังสู่การลดภาวะโลกร้อนให้ได้โดยเร็วที่สุด
ปัจจุบันประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 12 ของโลก เฉลี่ยปีละกว่า 300 กว่าตัน จึงมีโอกาสสูงที่จะได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศและกติกาทางการค้าต่างๆ
กลไก “คาร์บอนเครดิต” จึงเป็นทางออกของภาคธุรกิจที่จะผันตัวเองเข้าสู่เงื่อนไขโลกใหม่ คือ ภาคธุรกิจที่ผลิตหรือปล่อยก๊าซเรือนกระจกสามารถนำคาร์บอนเครดิตจากแหล่งต่างๆที่มีการผลิตขึ้นจากกระบวนการปลูกและดูแลป่าเพื่อมาใช้ชดเชย (offset) กับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ผลิตขึ้นระหว่างกระบวนการผลิต ขนส่ง หรือภาคเกษตร โดยกลไกนี้นอกจากช่วยให้ภาคเอกชนสามารถบรรลุเป้าหมายในการเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ หรือองค์กรที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ได้ ขณะเดียวกันยังสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนที่ดูแลและอยู่คู่กับป่าได้อีกด้วย
หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ความต้องการของคาร์บอนเครดิตจะมีมากขึ้น และราคาของคาร์บอนเครดิตมีแนวโน้มจะสูงขึ้นต่อเนื่องไปอีกนับสิบปี ซึ่งเป็นโอกาสที่จะสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ป่าชุมชนทั่วประเทศ โดยมุ่งส่งเสริมชุมชนที่ดูแลป่าชุมชนภายใต้ พ.ร.บ. ป่าชุมชน 2562
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงได้เริ่มต้นโครงการต้นแบบ “คุณดูแลป่า เราดูแลคุณ” ผ่านกลไกการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยโครงการนี้เป็นความริเริ่มของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ในการผสานงานพัฒนาชนบทกับการรักษาป่าเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย
ที่ผ่านมาโครงการนี้ดำเนินงานมาแล้ว 15 เดือนร่วมกับชุมชนที่รักษาป่า 16 แห่งของจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และพะเยา รวม 19,611 ไร่ มีประชาชนได้รับประโยชน์จำนวน 9,166 คน และได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ เป็นอย่างดี โดยคาดว่าจะมีปริมาณคาร์บอนเครดิตจากป่าชุมชน 16 แห่งรวม 392,220 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ตลอดระยะเวลา 20 ปี
โครงการต้นแบบในป่าชุมชนทั้ง4 จังหวัดที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน 7 หน่วยงาน ได้แก่ 1) ก.ล.ต. 2) บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) 3) บริษัทอินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด 4) บริษัททีเอ็มที สตีล จำกัด (มหาชน) 5) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 6) บริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส จำกัด และ 7) บริษัทพีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด รวมเป็นวงเงินประมาณ 43 ล้านบาทสำหรับระยะเวลาหกปีเพื่อวางรากฐานให้กับชุมชน
สำหรับโครงการในระยะต่อไปจะมีการขยายโครงการต้นแบบสู่การดำเนินงานอย่างจริงจัง เข้าร่วมกับป่าชุมชนอีก 33 แห่ง ประมาณ 32,500 ไร่ในจังหวัดเชียงใหม่ กำแพงเพชร อุทัยธานี และกระบี่ระหว่างปี 2564 – 2565 และคาดว่าจะครอบคลุมพื้นที่ป่าชุมชน 150,000 ไร่ในปี 2566 ทั้งยังประเมินว่าป่าชุมชนดังกล่าวสามารถกักเก็บก๊าซเรือนกระจกและคิดเป็นคาร์บอนเครดิตมากถึงประมาณ 2.8 ล้านตัน และสร้างรายได้ให้ชุมชนรวม 840 ล้านบาทในระยะเวลา 20 ปีและในระยะต่อไปจะขยายผลครอบคลุมป่าชุมชนที่มีศักยภาพทั่วประเทศ โดย
สมิทธิ หาเรือนพืชน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนการปฏิบัติงานพิเศษมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า ปัจจุบันราคาคาร์บอนเครดิตคำนวณที่ราคา 3,000 บาท/ตัน/ปี และในอนาคตคาร์บอนเครดิตจะมีกระดานซื้อขายเหมือนดัชนีสินค้าอื่นๆ โดยราคาขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้นไม้และป่า
อย่างไรก็ตามต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือ T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) รับรองโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และผู้ประเมินภายนอกที่มีความเป็นอิสระ ซึ่งในอนาคตมีโอกาสที่จะพัฒนาเป็นภาคบังคับได้ภายหลังจากที่ พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีการประกาศใช้