ร.ฟ.ท.ยกแพ็คสายสีแดง เปิดพีพีพี 1.8 แสนล้านปี 65
การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในปี 2565 อาจเป็นช่วงของการปรับโฉมองค์กร สู่การเป็นหน่วยงานรัฐบริหารและจัดเก็บรายได้ ทั้งทรัพย์สินที่ดิน พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ รวมทั้งล่าสุดยังมีแผนผลักดันนำโครงการลงทุนรถไฟชานเมืองสายสีแดง เปิดให้เอกชนร่วมลงทุน
จเร รุ่งฐานีย รองผู้ว่าการกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ครั้งที่ 1 โครงการศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการ จัดทำเอกสารประกวดราคาและการดำเนินงาน ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุน ระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (พีพีพี)ของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา พร้อมระบุว่า โดยจะเป็นการศึกษาทบทวนและวิเคราะห์การลงทุนครอบคลุมโครงข่ายรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม และสายสีแดงอ่อน รวม 6 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.ช่วงบางซื่อ-รังสิต 2.ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน 3.ส่วนต่อขยาย ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 4.ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช 5.ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และ 6.ช่วงบางซื่อ-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง หรือที่เรียกว่า Missing Link
จเร กล่าวด้วยว่า นโยบายของศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้ ร.ฟ.ท.ทบทวนแนวทางการลงทุนโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง และส่วนต่อขยาย 4 เส้นทาง เพื่อจัดหาเอกชนร่วมลงทุนบริหารการเดินรถและซ่อมบำรุง รวมถึงการบริหารสถานีกลางบางซื่อ และสถานีตลอดแนวเส้นทาง ส่งผลให้ ร.ฟ.ท.จึงว่าจ้างที่ปรึกษา เริ่มทบทวนความเหมาะสม จัดทำเอกสารประกวดราคา และจะดำเนินการตามพ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เป้าหมายเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2571
มูฮัมมัดมูนิตร์ พิมพ์ประพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการลงทุน ที่ปรึกษาโครงการ เผยว่า มูลค่าโครงการที่จะเปิดพีพีพีรถไฟชานเมืองสายสีแดงทั้ง 6 โครงการ รวมกว่า 1.8 แสนล้านบาท ไม่รวมติดตั้งระบบและการจัดหาขบวนรถ ขณะที่ปริมาณผู้โดยสารคาดการณ์จากปัจจุบันมีเส้นทางที่เปิดให้บริการแล้ว 2 เส้นทาง คือ ช่วงบางซื่อ - รังสิต และบางซื่อ – ตลิ่งชัน จึงคาดว่าในปี 2564 จะมีผู้โดยสารรวม 9.9 หมื่นคนต่อวัน เมื่อมีการทยอยเปิดให้บริการส่วนต่อขยายเพิ่มขึ้นในปี 2569 จะมีผู้โดยสารเพิ่มเป็น 2.5 แสนคนต่อวัน และในปี 2620 ประมาณการว่าปริมาณผู้โดยสารใช้บริการระบบขนส่งรถไฟชานเมืองสายสีแดง 6 เส้นทาง จะมีสูงถึง 1.3 ล้านคนต่อวัน
ทั้งนี้ โครงการได้ดำเนินการศึกษา ทบทวน วิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจและการเงิน โดยพิจารณาระยะเวลาร่วมลงทุนที่เหมาะสม 50 ปี เปรียบเทียบรูปแบบการร่วมทุนใน 3 ลักษณะ คือ ลักษณะ คือ
1. Net Cost
2. Gross Cost
3. Modified Gross Cost
พบว่าพีพีพีรูปแบบ Modified Gross Cost เป็นแนวทางที่คุ้มค่าต่อการลงทุนมากสุด ซึ่งรัฐจะรับผิดชอบในส่วนของการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน การลงทุนงานโยธา และระบบรถไฟ โดยจะจ่ายค่าจ้างและโบนัสให้เอกชน นำไปเป็นค่าใช้จ่ายบริหารโครงการ พร้อมนำรายได้ค่าโดยสารและรายได้จากกิจกรรมเชิงพาณิชย์ส่งคืนแก่รัฐ
โดยผลตอบแทนทางการเงินในภาพรวมทั้ง 6 โครงการ พบว่า IRR 8.62% คิดเป็นมูลค่า NPV 9,670.51 ล้านบาท โดยเอกชนที่ได้รับคัดเลือกร่วมลงทุนจะรับรู้รายได้ทันทีหลังลงนามสัญญา หรือภายในไตรมาส 4 ปี 2567 ราว 275 ล้านบาท และภาพรวมตลอดอายุสัญญา 50 ปี จะมีรายได้รวมอยู่ที่ 5.8 แสนล้านบาท เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มขั้นตอนการประกวดราคาในเดือน มิ.ย.2565
สำหรับบรรยากาศสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน ครั้งที่ 1 จัดขึ้นผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting มีเอกชนที่เข้าร่วม อาทิ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด หรือ BEM, บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน),กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชันแนล, บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด ( มหาชน ), บริษัท ราช กรุ๊ป จากัด (มหาชน) และบริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด เป็นต้น