“พลังงาน” ลุ้นเปิดประเทศ เปิดชิงปิโตรฯ 3 แปลงอ่าวไทย
“กรมเชื้อเพลิง” ลุ้นเปิดประเทศ ดันเปิดประมูลสำรวจปิโตรเลียมรอบใหม่ 3 แปลง อ่าวไทย ระบุหากนักท่องเที่ยวแห่เข้าไทย เล็งเสนอให้เปิดประมูลฯ คาดเกิดการลงทุนในการสำรวจขั้นต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) เปิดเผยว่า กรมฯ อยู่ระหว่างรอติดตามข้อมูลสถานการณ์ต่างๆ และจังหวะเวลาที่เหมาะสมต่อการเปิดประมูลสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 24 จำนวน 3 แปลงบริเวณในอ่าวไทย ทั้งนี้ เมื่อมีการประกาศเชิญชวนนักลงทุนมาสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแปลงบนบกที่แปลงสำรวจ L1/64 พื้นที่ 78.90 ตารางกิโลเมตร ในเขตจังหวัดสุโขทัย และกำแพงเพชร เมื่อ 2 ส.ค.2564 ที่ผ่านมา โดยให้เป็นรอบที่ 23 แล้ว ทำให้การเปิดประมูลในอ่าวไทยใน 3 แปลงที่เตรียมไว้ขยับมาเป็นรอบที่ 24
ทั้งนี้ ถือเป็นการเปิดสำรวจแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทย ที่ไม่ได้มีการเปิดให้สำรวจนับตั้งแต่ปี 2550 หรือกว่า 14 ปีมาแล้ว โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติคาดหวังว่าพื้นที่แปลงสำรวจและผลิตดังกล่าวจะช่วยเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่ร่อยหรอลงเรื่อยๆ ให้เพิ่มขึ้นมาได้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้ภาครัฐ และทดแทนการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ยังคงเตรียมแผนการเปิดประมูลฯ อย่างต่อเนื่อง ถือเป็นเป้าหมายสำคัญที่จะดำเนินการอย่างเร็วที่สุด ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการลงทุน และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ
“ตอนนี้เตรียมแผนไว้อยู่แล้ว รอดูผลของการเปิดประเทศหลังจากวันที่ 1 พ.ย.2564 ก่อนว่าจะได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างไร เมื่อเปิดแล้วมีคนเข้ามาดูการลงทุนหรือไม่ ต้องดูสถานการณ์อย่างน้อย 2 สัปดาห์ ว่านักลงทุนให้ความสนใจมากน้อยแค่ไหน ถึงจะสามารถแพลนแผนและเห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งตนเองก็เชียร์และยังหวังอยู่ว่าจะได้รับการตอบรับที่ดี เพราะนักลงทุนต้องเดินทางมาดูข้อมูล ถ้าจะลงทุนสำรวจขุดเจาะ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รายงานข้อมูลกับท่านนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทระทรวงพลังงาน เป็นระยะ ว่าถ้าสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น เปิดประเทศได้ ก็น่าจะสามารถนำเสนอให้เปิดประมูลฯได้”
ทั้งนี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา (วันที่ 2มี.ค.2563) ได้เผยแพร่ประกาศกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เรื่อง การกำหนดเขตพื้นที่แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยสำหรับการให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1.ให้ยกเลิกประกาศกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เรื่องเขตพื้นที่แปลงสำรวจปิโตรเลียมบนบก และในทะเลอ่าวไทยที่เปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ลงวันที่ 5 มี.ค.2561
2.กำหนดเขตพื้นที่แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย สำหรับการให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจำนวน 3 แปลง รวมพื้นที่ทั้งหมด 34,873 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย แปลง G1/63 ซึ่งอยู่ด้านบนสุด มีขนาดพื้นที่ 8,197 ตารางกิโลเมตร แปลงG2/63 ซึ่งอยู่ตรงกลาง มีขนาดพื้นที่ 15,030 ตารางกิโลเมตร และแปลงG3/63 ที่อยู่ล่างสุด มีขนาดพื้นที่ 11,646 ตารางกิโลเมตร
อย่างไรก็ตาม การให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำนวน 3 แปลงดังกล่าว จะดำเนินการภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) เช่นเดียวกับแหล่งเอราวัณและบงกช ภายหลังสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี2565-2566 ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการปิโตรเลียมที่ได้กำหนดไว้ก่อนหน้านี้
โดยก่อนหน้านี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ มีแผนจะออกประกาศเชิญชวนเปิดประมูลสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ดังกล่าวตั้งแต่เดือน มี.ค.2563หลังจากที่ประเทศไทยไม่ได้เปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมา 13 ปี นับจากปี 2550 เป็นต้นมา และคาดหมายว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนในการสำรวจขั้นต่ำกว่า 1,500 ล้านบาทแต่จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่สามารถออกประกาศเชิญชวนฯ ได้เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา
สำหรับแปลงสำรวจบนบกหมายเลข L1/64 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ได้มีมติเห็นชอบให้สัมปทานปิโตรเลียมแก่ บริษัท ซีเอ็นพีซีเอชเค (ไทยแลนด์) จำกัด จำนวน 1 แปลง พื้นที่รวม 78.90 ตารางกิโลเมตร ในเขตจังหวัดสุโขทัย และกำแพงเพชร ซึ่งการได้ผู้รับสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยในการสร้างความต่อเนื่องในการจัดหาปิโตรเลียมภายในประเทศได้ ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าแหล่งปิโตรเลียมดังกล่าวจะสามารถผลิตน้ำมันดิบได้วันละประมาณ 300-400 บาร์เรลต่อวัน และสามารถทดแทนมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบได้ประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้พิจารณาคำขอสิทธิสำหรับแปลงสำรวจปิโตรเลียมดังกล่าว โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ จากข้อเสนอทางด้านเทคนิคและผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ที่มีศักยภาพเกิดการสร้างงาน การสร้างรายได้แก่ท้องถิ่น รวมทั้งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม โดยในช่วง 3 ปีแรกของการสำรวจจะมีการลงทุนขั้นต่ำภายในประเทศ และผลประโยชน์พิเศษที่รัฐจะได้รับ รวมประมาณ 4.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 130 ล้านบาท และหากสามารถพัฒนาแหล่งและผลิตปิโตรเลียม ในแปลงสำรวจปิโตรเลียมดังกล่าวได้ก็จะสามารถสร้างรายได้ให้แก่รัฐในรูปแบบของค่าภาคหลวงและภาษีเงินได้ปิโตรเลียมด้วย