รู้จัก “ภาษีป้าย” พร้อมเกณฑ์ใหม่ แบบไหนต้องจ่ายภาษี วางแผนอย่างไรให้ประหยัด
ร้านค้า ธุรกิจต้องรู้ ปี 2564 "ภาษีป้าย" มีการปรับอัตราภาษีใหม่ และกำหนดลักษณะที่มีความครอบคลุมมากขึ้น ชวนไปดูวิธีคำนวณภาษีป้าย พร้อมหลักเกณฑ์ที่ต้องศึกษาก่อนตัดสินใจทำป้าย
หากเราเดินไปตามถนนหนทางมักเจอร้านรวงต่างๆ ติดป้ายโปรโมทหน้าร้านดีไซน์สวยงาม โดดเด่นสะดุดตาจนทำให้อยากเข้าไป แต่รู้หรือไม่ว่าป้ายที่เห็นตามข้างทาง หน้าร้าน ตามตึก ตลอดจนป้ายที่อยู่ตามสถานที่ที่มีผู้คนพลุกพล่านเหล่านี้ ผู้ที่เป็นเจ้าของป้ายจะต้องเสียภาษีจากป้ายที่ติดนี้ด้วยนะคะ
และในปีนี้ (พ.ศ.2564) "ภาษีป้าย" ได้มีการปรับอัตราภาษีใหม่ และยังเป็นการกำหนดให้ครอบคลุมลักษณะของป้ายที่มีหลากหลายมากขึ้นในปัจจุบัน เช่น ป้ายดิจิตอล ป้ายที่สามารถเคลื่อนไหวได้ เพื่อสร้างความชัดเจนในการคำนวณภาษีป้ายได้ง่ายขึ้น
ถือเป็นตัวช่วยให้กิจการได้วางแผนก่อนที่จะผลิตป้าย ว่าควรทำป้ายดีหรือไม่ หากทำแล้วจะทำในลักษณะใด เข้าข่ายอยู่ในกลุ่มป้ายประเภทไหน และเมื่อคำนวณตามสูตรแล้วต้องเสียภาษีป้ายเท่าไรกันแน่?
- ป้ายแบบไหน “ต้องเสียภาษี”
"ภาษีป้าย" คือ ภาษีที่จัดเก็บจากป้ายโฆษณาสินค้าต่างๆ เช่น ป้ายชื่อ ยี่ห้อ หรือเครื่องหมายที่ใช้ประกอบการค้า หรือประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้ หรือ โลโก้บนวัตถุต่างๆ ที่ประกอบด้วยอักษร ภาพ ไม่ว่าจะเป็นป้ายทั่วไป ป้ายบนทางด่วน ป้ายผ้าใบ รวมถึงป้ายไฟที่ใช้เพื่อหารายได้หรือการโฆษณา
โดยผู้ที่เป็นเจ้าของป้ายที่นำมาติดจะต้องเป็นผู้ที่เสียภาษีป้าย แม้จะเป็นป้ายขนาดเล็ก หรือเป็นป้ายผ้าใบขนาดใหญ่ ก็ต้องเสียภาษีป้ายทั้ง 2 แบบ
ในกรณีที่ไม่มีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย หรือเจ้าหน้าที่ไม่สามารถหาเจ้าของป้ายได้ ให้ถือว่าผู้ครอบครองป้ายนั้นเป็นผู้เสียภาษี หรือถ้าหากไม่สามารถหาตัวผู้ครอบครองป้ายได้ หากป้ายติดอยู่ที่ไหน เช่น หน้าอาคาร บนที่ดินที่ติดตั้ง ให้ถือว่าเจ้าของสถานที่นั้นๆ เป็นเจ้าของป้าย และมีหน้าที่ต้องเสียภาษีป้าย
- ป้ายแบบไหน “ไม่ต้องเสียภาษี”
ทั้งนี้ อาจเห็นได้ว่า ภาษีป้ายที่ผู้เป็นเจ้าของป้ายต้องเสียนั้น ยังมีอีกหลายสถานที่และหลายลักษณะที่ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขที่ต้องเสียภาษี โดยกฎกระทรวงได้มีข้อยกเว้นไม่เก็บภาษีป้ายที่ติดตามพื้นที่ต่างๆ สำหรับป้ายที่มีเข้าข่าย ดังนี้
1) ป้ายที่ติดในอาคาร
2) ป้ายที่มีล้อเลื่อน (ต้องมีการเลื่อนป้ายเข้าออก)
3) ป้ายตามงานอีเวนท์ที่จัดเป็นครั้งคราว
4) ป้ายของทางราชการ
5) ป้ายของโรงเรียนทั้งรัฐและเอกชน
6) ป้ายวัด สมาคม มูลนิธิ
7) ป้ายที่ติดหรือแสดงไว้ที่รถยนต์ส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ รถบดถนนหรือรถแทรกเตอร์
8) ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่ยานพาหนะนอกเหนือจากข้อ 7) โดยมีพื้นที่ไม่เกิน 500 ตร.ซม.
และอื่นๆ ตาม พ.ร.บ.ภาษีป้าย พ.ศ.2510 กำหนด
- อัตราภาษีป้ายปีตามเกณฑ์ใหม่
เนื่องจากอัตราภาษีป้ายได้มีกำหนดใช้มายาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 ปัจจุบันได้มีการอัพเดตอัตราภาษีป้ายใหม่ เริ่มใช้เมื่อปี พ.ศ.2564 โดยกฎกระทรวงกำหนดอัตราภาษีป้ายไว้ดังนี้
1.ป้ายที่มีอักษรไทยล้วน
(1.1) ป้ายที่มีข้อความที่เคลื่อนที่หรือเปลี่ยนเป็นข้อความอื่นได้ อัตราภาษีป้าย 10 บาท ต่อขนาดป้าย 500 ตร.ซม.
(1.2) ป้ายติดทั่วไปที่นอกเหนือจากข้อ (1.1) อัตราภาษีป้าย 5 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
2.ป้ายที่มีอักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศ และ/หรือปนกับภาพ และ/หรือเครื่องหมายอื่น
(2.1) ป้ายที่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพที่เคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้ อัตราภาษีป้าย 52 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
(2.2) ป้ายติดทั่วไปที่นอกเหนือจากข้อ (2.1) อัตราภาษีป้าย 26 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
3.ป้ายที่ไม่มีอักษรไทยไม่ว่าจะมีภาพหรือเครื่องหมายใดๆ หรือไม่ และป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วน หรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ
(3.1) ป้ายที่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพที่เคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้ อัตราภาษีป้าย 52 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
(3.2) ป้ายติดทั่วไปที่นอกเหนือจากข้อ (3.1) อัตราภาษีป้าย 50 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
- ขั้นตอนการเสียภาษีป้าย
เมื่อกิจการได้มีการทำป้ายขึ้นมาพร้อมใช้งานแล้ว ก่อนที่จะนำไปติดควรมีการขออนุญาตติดตั้งป้ายก่อน โดยมีขั้นตอนคือ
1.ขอคำอนุญาต โดยแจ้งขนาด พร้อมด้วยภาพถ่ายหรือภาพสเกตช์ของป้าย และแผนผังที่ตั้งของป้ายกับสำนักงานเขต เทศบาล หรือ อบต.
2.ยื่นแบบฟอร์มชำระภาษีป้าย (ภ.ป.1) ซึ่งประกอบด้วย
- บัตรประจำตัวประชาชน
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- เลขประจำตัวผู้เสียภาษี เลขที่ทะเบียนการค้า
- หนังสือรับรองบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด (กรณีนิติบุคคล)
- รูปถ่ายป้าย พร้อมขนาดกว้าง x ยาว
- ใบอนุญาตติดตั้งป้าย หรือใบเสร็จรับเงินจากร้านทำป้าย
ในกรณีที่เคยยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีป้ายไว้แล้ว ให้นำใบเสร็จรับเงินค่าภาษีป้ายจากปีก่อนมาแสดงด้วย
3.ชำระภาษีป้ายที่สำนักงานเขต หรือผ่านธนาคารกรุงไทย
- หากเป็นป้ายที่ติดตั้งใหม่ ให้ยื่นแบบ ภ.ป.1 ภายใน 15 วัน
- หากเป็นป้ายที่ชำระภาษีต่อเนื่องทุกปี ให้ยื่นแบบ ภ.ป.1 ได้ตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม ของทุกปี
- หากเป็นป้ายที่ชำระภาษีประจำปี และต้องการเปลี่ยนแปลงป้ายให้แจ้งภายใน 15 วัน
- หากมีการยกเลิกใช้ป้าย เนื่องจากเลิกกิจการให้แจ้งภายในเดือนธันวาคมของทุกปี
4.สามารถแบ่งชำระได้ เป็น 3 งวด หากภาษีป้ายที่ต้องชำระมากกว่า 3,000 บาท
5.เสียภาษีอย่างต่ำ 200 บาท ในกรณีที่เมื่อคำนวณพื้นที่ของป้ายแล้ว ต้องเสียภาษีต่ำกว่าป้ายละ 200 บาท ให้เสียภาษีที่ขั้นต่ำจำนวน 200 บาท
- คำนวณภาษีป้าย...ก่อนตัดสินใจทำป้าย
ตามกฎหมายแล้วหากกิจการมีการทำป้ายที่ไม่เข้าข่ายยกเว้นภาษี ก็จำเป็นต้องเสียภาษีป้าย ไม่ว่าจะมีขนาดเท่าไร โดยมีวิธีการคำนวณภาษีป้ายคือ
กว้าง x ยาว / พื้นที่ 500 ตร.ซม. = พื้นที่ที่ต้องเสียภาษี
พื้นที่ที่ต้องเสียภาษี x อัตราภาษี = ภาษีป้ายที่ต้องจ่าย
ตัวอย่างเช่น : ป้ายมีขนาด กว้าง 1 เมตร ยาว 2.5 เมตร
100 x 250 ซม. / 500 ตร.ซม. = 50 ตร.ซม.
ทั้งนี้หากเป็นประเภท “ป้ายที่มีอักษรไทยล้วน” จะคำนวณได้ 50x10 = 500 บาท
แต่ถ้าหากหลีกเลี่ยงภาษีป้าย จะต้องเสียภาษีป้ายเพิ่ม จากที่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว ซึ่งอัตราค่าปรับมีดังนี้
- ไม่ยื่นแบบภายในเวลาที่กำหนด จะต้องเสียค่าปรับ 10% ของค่าภาษี
- ไม่ชำระเงินค่าภาษี หลังจากที่ยื่นแบบภายใน 15 วัน จะต้องเสียค่าปรับ 2% ของค่าภาษี
- ถ้ายื่นภาษีไม่ตรงตามความเป็นจริง จะต้องเสียค่าภาษีที่ขาดไป และเสียค่าปรับอีก 10% ของค่าภาษี
ดังนั้น หากกิจการ ร้านค้า หรือใครก็ตามที่ต้องการติดป้ายไว้เพื่อโปรโมท โฆษณาร้านตนเอง โดยที่อาจจะยังไม่ทราบว่าต้องเสียภาษีป้าย หรือป้ายแบบไหนต้องเสียภาษีอย่างไร และเสียภาษีป้ายเท่าไร ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับภาษีป้ายให้ดี เพื่อเป็นตัวช่วยในการวางแผนในการจัดทำป้ายให้ถูกต้อง และประหยัดภาษี รวมถึงไม่ให้ถูกเสียค่าปรับภาษีป้ายย้อนหลังแบบไม่ทันตั้งตัวอีกด้วยค่ะ
Source by : Inflow Accounting