ADVANC ไตรมาส 3/64 กำไร 6,374 ล้านบาท ลดลง 2.1% จากปีก่อน
ADVANC ไตรมาส 3/64 คว้ากำไร 6,374 ล้านบาท ลดลง 2.1% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน-ค่าเสื่อมราคา และลดลง 9.5% จากไตรมาสก่อนที่มีกำไรพิเศษ
บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC เปิดเผยว่า กำไรในไตรมาส 3 ปี 2564 บริษัทฯ มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เท่ากับ 22,888 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อย
ละ 3.6 เทียบกับปีก่อน ตามการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการให้บริการหลัก ควบคู่กับการบริหารต้นทุนอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ลดลงร้อยละ 0.5 เทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากต้นทุนการให้บริการที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนในโครงข่าย 5G
ในด้านกำไรสุทธิเท่ากับ 6,374 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.1 เทียบกับปีก่อน มีสาเหตุหลักมาจากขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่รับรู้ และการเพิ่มขึ้นของค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย และลดลดร้อยละ 9.5 เทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลจากรายการพิเศษในไตรมาส 2 ปี 2564 ซึ่งหากไม่รวมขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนและรายการพิเศษ (หลังหักภาษี) กำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติ (Normalized) จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่
ลดลงร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน
สำหรับรายได้ในไตรมาส 3 ปี 2564 อยู่ที่ 42,377 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 เทียบกับปีก่อน จากการเติบโตที่แข็งแกร่งของธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้านและธุรกิจ
บริการลูกค้าองค์กร แต่ลดลงร้อยละ 0.9 เทียบกับปีก่อน จากยอดขายเครื่องมือถือที่ลดลง เนื่องจากมาตรการปิดเมืองซึ่งกระทบช่องทางจัดจำหน่าย ขณะที่รายได้จากการให้บริการหลัก (ไม่รวมค่าเชื่อมโยงโครงข่ายและรายได้จาก
การเป็นพันธมิตรกับทีโอที) อยู่ที่ 32,797 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 เทียบกับปีก่อน และร้อยละ 1.4 เทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลจากการเติบโตต่อเนื่องในธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน และธุรกิจบริการลูกค้าองค์กร
ขณะที่ผลการดำเนินงานใน 9 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทฯ มีรายได้รวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 เทียบกับปีก่อน ปัจจัยหนุนมาจากการเพิ่มขึ้นของยอดขายเครื่องโทรศัพท์ เนื่องจากปีก่อนเป็นช่วงที่ได้ผลกระทบจากมาตรการปิดเมือง รายได้หลักจากการให้บริการทรงตัวอยู่ที่ 97,575 ล้านบาท สะท้อนถึงผลกระทบด้านสภาวะเศรษฐกิจที่ยึดเยื้อจากการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคที่อ่อนตัว การแข่งขันที่รุนแรงและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อยู่ในระดับต่ำยังคงกดดันให้รายได้โทรศัพท์เคลื่อนที่ (87,653 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ 1.6 เทียบกับปีก่อน
อย่างไรก็ตาม รายได้ธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน (6,146 ล้านบาท) เติบโตสูงที่ร้อยละ 20 เทียบกับปีก่อน โดยได้แรงหนุนจาก
จำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตบ้านในการทำงานและการเรียนที่บ้าน ในส่วนของธุรกิจบริการลูกค้าองค์กรยังคงแข็งแกร่งและเติบโตได้ดีที่ร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับปีก่อนจากความต้องการบริการคลาวด์ดาต้าเซ็นเตอร์ และไอซีทีโซลูชั่น เนื่องจากองค์กรต่างๆ พยายามปรับธุรกิจเข้าสู่เทคโนโลยีดิจิทัล
การลงทุนขยายโครงข่าย 5G ของบริษัทฯ เพื่อเสริมความเป็นผู้นำ ส่งผลให้ต้นทุนการให้บริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 เทียบกับปีก่อน อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้ควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารในช่วงการแพร่ระบาดของโดวิด ส่งผลให้ลดลงร้อยละ 13 เทียบกับปีก่อน มาอยู่ที่ 15,880 ล้านบาท สำหรับค่าใช้จ่ายการตลาดอยู่ที่ 4,310 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 12 เทียบกับปีก่อนเนื่องด้วยการจำกัดการทำกิจกรรมการตลาด ในส่วนค่าใช้จ่ายในการบริหารและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ลดลงร้อยละ 14 เทียบกับปีก่อน มาอยู่ที่ 11,570 ล้านบาท
โดยสรุป บริษัทฯ มี EBITDA สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เทียบกับปีก่อน แม้รายได้จากการให้บริการจะทรงตัว แต่ชดเชยด้วยการควบคุมต้นทุนที่ดี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 เทียบกับปีก่อน เนื่องจากการรับมอบใบอนุญาตคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 20,059 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1 เทียบกับปีก่อน