ราคาน้ำมันดิบผันผวนระดับสูงจากการใช้น้ำมันในเอเชียที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง

ราคาน้ำมันดิบผันผวนระดับสูงจากการใช้น้ำมันในเอเชียที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 81-86 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 83-88 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบผันผวนระดับสูงจากการใช้น้ำมันในเอเชียที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (1-5 พ.ย. 64)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มผันผวนในระดับสูง จากปัจจัยการฟื้นตัวของปริมาณความต้องการใช้ทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชีย ส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบในเอเชียปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกครั้ง นอกจากนี้ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากมาตรการเปิดพรมแดนระหว่างประเทศตั้งแต่เดือน พ.ย.64 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ตลาดจับตาการประชุมโอเปคพลัสที่จะจัดขึ้นในสัปดาห์นี้ว่าจะมีมติในการปรับเพิ่มการผลิตอย่างไร รวมถึงนโยบายของเฟดในการประชุมที่จะจัดขึ้นในสัปดาห์นี้ที่คาดว่าจะมีการประกาศการปรับลด QE ภายในสิ้นปีนี้ นอกจากนี้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ในช่วงเดือน พ.ย.64 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือน ต.ค.64 หลังแหล่งผลิตและท่อขนส่งน้ำมันดิบบริเวณอ่าวเม็กซิโกส่วนใหญ่กลับมาดำเนินการต่อได้แล้ว

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

-  ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบในเอเชียเดือน ต.ค.64 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย.64 สู่ระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือนที่ 25 ล้านบาร์เรลต่อวัน และสูงกว่าระดับการนำเข้าก่อนการเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเดือน ต.ค.62 ที่ 24.5 ล้านบาร์เรลต่อวันล่าสุดอินเดียมีการนำเข้าในเดือน ต.ค.64 ปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 4.2 ล้านบาร์เรลต่อวันจาก 3.9 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ก.ย.64 เพื่อรองรับปริมาณความต้องการใช้ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลดิวาลีและการนำเข้าน้ำมันดิบของญี่ปุ่นในเดือน ต.ค.64 ที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบปีที่ 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่หลายประเทศในเอเชียเริ่มทยอยเปิดประเทศแล้วในไตรมาส 4 ปีนี้

 

-   ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือน พ.ย.64 หลังนายโจ ไบเดนประธานาธิบดีสหรัฐฯ เตรียมการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบโดสโดยไม่ต้องกักตัวทั้งภาคพื้นดินและอากาศยาน โดยเฟสแรกจะเริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นเดือน พ.ย.64 สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวจากสหราชอณาจักร ประเทศกลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรป รวมถึงอินเดีย และจะมีการเพิ่มรายชื่อประเทศที่ได้รับการยกเว้นการกักตัวสำหรับเฟสถัดไปในเดือน ม.ค.65 
-   การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปลายปี 2564 มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ดีขึ้น หลังองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกรายวัน เฉลี่ยเดือน ต.ค.64 สิ้นสุด ณ วันที่ 27 ต.ค.64 ปรับตัวลดลง 22% จากอัตราการติดเชื้อเฉลี่ยในเดือน ก.ย.64 นอกจากนี้จำนวนผู้ได้รับวัคซีนต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด Bloomberg รายงานผู้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มทั่วโลก อยู่ที่ระดับ 45.2% เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ย.64 ที่ 40.1%
-  โกลด์แมน แซคส์ คาดราคาน้ำมันดิบเบรนท์มีแนวโน้มแตะระดับ 90 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในช่วงปลายปี 2564 จากปริมาณความต้องการใช้น้ำมันที่เติบโตต่อเนื่อง จากราคาก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในระดับสูงหนุนให้มีการใช้น้ำมันแทนที่ก๊าซธรรมชาติในหลายพื่นที่ โดยโกลด์แมนแซคส์คาดปริมาณความต้องการใช้จากการใช้น้ำมันแทนที่ก๊าซธรรมชาติจะเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน


 

-  จับตาการประชุมโอเปคและชาติพันธมิตรหรือโอเปคพลัสในวันที่ 4 พ.ย. 64 เรื่องแผนการปรับเพิ่มการผลิตของกลุ่ม อย่างไรก็ตาม ล่าสุดนายอเล็กซานเดอร์ โนวัค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานรัสเซียคาดการณ์ว่ากลุ่มโอเปคพลัสจะคงมติการเพิ่มกำลังการผลิตสำหรับเดือน ธ.ค.64 ที่ 4 แสนบาร์เรลต่อวัน จากปัจจัยความต้องการใช้น้ำมันในช่วงปลายปี 2564 ที่ยังไม่ยังกลับไปสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และมีความเสี่ยงที่ความต้องการใช้น้ำมันจะถูกกดดันจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีการกลายพันธุ์
-  นักลงทุนจับตาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดที่จะจัดขึ้นในวันที่ 2-3 พ.ย.64 ว่าจะมีการตัดสินใจนโยบายทางการเงินอย่างไร โดยตลาดคาดว่าเฟดจะมีการปรับลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ลงในปลายปีนี้และปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในปี 2565 ตามที่เฟดได้มีการส่งสัญญาณก่อนหน้านี้ 
-   สำนักงานด้านพลังงานสารสนเทศสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ สิ้นสุดวันที่ 22 ต.ค.64 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 11.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทรงตัวเมื่อเทียบกับระดับการผลิตในสัปดาห์ก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ เดือน พ.ย.64 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นราว 0.1 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อเทียบกับเดือน ต.ค.64 โดยจะปรับเพิ่มไปอยู่ที่ระดับ 11.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังแหล่งผลิตและท่อขนส่งน้ำมันดิบบริเวณอ่าวเม็กซิโกส่วนใหญ่กลับมาดำเนินการต่อได้แล้ว
-   เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การตัดสินใจดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ การตัดสินใจดอกเบี้ยของธนาคารสหราชอาณาจักร ดัชนีภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ ต.ค.64 ดัชนีคาดการณ์ตัวเลขเปลี่ยนแปลงการจ้างงานสหรัฐฯ ต.ค.64 

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (25 – 29 ต.ค. 64)  

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 0.19 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 83.57 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 1.15 ดอลลาร์สหรัฐฯ  มาอยู่ที่ 84.38 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 82.69 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังราคาถ่านหินและก๊าซธรรมชาติในจีนปรับตัวลดลง โดยราคาถ่านหินปรับลดกว่า 11% จากที่หน่วยงานรัฐบาลของจีนออกนโยบายควบคุมราคาถ่านหินเพื่อคลี่คลายวิกฤติพลังงานในประเทศ นอกจากนี้ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 ต.ค. 64 ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 4.3 ล้านบาร์เรล ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่มเพียง 1.9 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันยังได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันในภูมิภาคเอเชียที่ฟื้นตัวดีขึ้นจากการคลายล็อกดาวน์ในหลายประเทศ