ทริคสอนการเงินลูก ‘ลงทุนหุ้นได้ ใช้เงินเป็น’ สไตล์ ‘เดอะ มันนี่โค้ช’
คน "มีลูก" ต้องรู้! ฮาวทู เริ่มต้น "สอนการเงิน" ให้ลูก สามารถลงทุนหุ้นได้ ใช้เงินเป็น รู้จักวางแผนการเงินที่จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำเนินชีวิตในอนาคต
ปัญหาหนี้สินของประชาชนไทย มีอัตราการเติบโตเร็วกว่าเศรษฐกิจภาพรวมของไทย โดยการกู้ยืมหนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาส 2/64 อยู่ที่ 14.27 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 89.3% ต่อจีดีพี โดยขยับขึ้นประมาณ 1.36 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการเร่งขึ้นของหนี้รายย่อย 2 ส่วน ได้แก่หนี้เพื่อที่อยู่อาศัยและหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันเป็นสำคัญ
ตัวเลขเหล่านี้ทำให้อดสงสัยไม่ได้ทำไมปัญหาการเงินส่วนบุคคล ถึงเกิดขึ้นกับคนไทยจากรุ่นสู่รุ่น และจะหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านี้ให้ไม่เกิดกับตัวเองได้อย่างไรบ้าง ?
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ชวน "โค้ชหนุ่ม" จักรพงษ์ เมษพันธุ์ หรือ เดอะ มันนี่โค้ช คุยเรื่องการปูพื้นฐานความรู้ทางการเงินให้ลูก ทั้งในฐานะพ่อและผู้แนะนำทางการเงินเพื่อเป็นแรงบันดาลใจสำหรับคนที่กำลังหาวิธีคุยกับลูกเรื่องเงินๆ ทองๆ
"คนมีปัญหาทางการเงิน เพราะความไม่รู้ 80-90% การสอนการเงินตั้งแต่เด็กจึงมีความสำคัญมาก ควรสร้างภูมิคุ้มกันตั้งแต่เด็กๆ เหมือนการฉีดวัคซีน" โดย เดอะมันนี่ โค้ช แชร์ทริคการสอนลูกเรื่อง "การเงิน" ไปจนถึงการ "ลงทุน"
- สร้างมายด์เซ็ตด้านการเงินที่ดีในครอบครัว
..สิ้นเดือนนี้จะเอาอะไรกิน!
..เงินมันหายากรู้ไหม!
ตัวอย่างประโยคต้องห้าม ซึ่งในมุมมองของจักรพงษ์เผยว่า การพูดจาแรงๆ เกี่ยวกับการเงินในครอบครัวจะทำให้ความคิดของเด็กจดจำภาพการเงินเชิงลบ กลัวเรื่องการเงิน และหลีกเลี่ยงการคุยเรื่องเงินกับครอบครัว
"อย่าทำให้ลูกไม่อยากคุยเรื่องเงินกับเรา ตั้งใจจะสอนลูกตั้งแต่เด็ก เพราะมารู้ว่าตัวเองพลาดตั้งแต่เรียนจบ รู้สึกว่าเราควรจะบอกเขาตั้งแต่เด็กๆ โดยตีกรอบหลวมๆ ไว้ในแต่ละช่วงอายุ"
ช่วงชั้นประถม : ไม่ต้องเร่งรัดเรื่องเงินมาก พื้นฐานสำคัญควรเน้นเรื่องคุณค่าของเงิน จะใช้จ่ายเงินที่เรามียังไงให้เกิดประโยชน์สูงสุด อะไรคือความจำเป็น อะไรที่ไม่ใช่ความจำเป็นแต่ช่วยเติมเต็มความสุขได้
โจทย์สำคัญ คือ ใช้ในงบที่มียังไงให้พอ จัดการเงินยังไงให้เหลือ ไม่ต้องสื่อสารเรื่องการเงินหนักมาก แต่ค่อยๆ ปลูกฝัง และอย่าเพิ่งรีบกระโดดไปเรื่องลงทุน เพราะถ้าไม่มีเงินออมเลยจะเอาอะไรมาลงทุน
ช่วงมัธยมปลาย : เริ่มคุยเรื่องตรรกะกับเขามากขึ้น เรื่องของค่าใช้จ่าย เน้นการควบคุมตัวเอง เริ่มฝึกให้เงินเป็นรายสัปดาห์/รายเดือน เพื่อให้ฝึกบริหารเงินก้อน ทำสรุปบัญชีส่ง
รวมถึงทำให้เรื่องเงินเป็นคุยกันในบ้านได้ การซื้อของต่างๆ สามารถหยิบมาเป็นเรื่องพูดคุยกันแบบมีเหตุผล ทำไมต้องเลือกแบรนด์นี้ ดียังไง คุ้มหรือไม่ หรืออาจทำโปรเจคสนุกๆ ช่วยลูกสมทบซื้อของที่อยากได้ครึ่งหนึ่งเมื่อทำตามเงื่อนไขที่ตกลงกันได้สำเร็จ เป็นต้น
- สอนให้ยังไง ให้ลูกลงทุนเป็น ?
"เวลาไปบรรยายที่ไหนลูกจะไปฟังด้วย เริ่มได้ยินว่าทำไมคนเป็นหนี้กันเยอะเพราะอะไร กลายเป็นว่าเกินกรอบที่คิดไว้ เริ่มได้ยินเรื่องของผู้ใหญ่ เริ่มตั้งคำถาม ทำให้ทุกอย่างวิ่งไปตามประสบการณ์ที่เขาเจอ
คนโตเริ่มลงทุนหุ้นตั้งแต่ 8 ขวบ จุดเริ่มต้นคือความสงสัยว่าฝากเงินได้ดอกเบี้ยน้อย แล้วจะฝากไปทำไม ถ้าลูกอยากได้มากกว่านี้ต้องลงทุน แล้วถ้าจะลงทุนต้องทำอย่างไร ?"
คนโตเริ่มลงทุนหุ้นตั้งแต่ 8 ขวบ จุดเริ่มต้นคือความสงสัยว่าฝากเงินได้ดอกเบี้ยน้อย แล้วจะฝากไปทำไม
จักรพงษ์ ยังแชร์ประสบการณ์ว่า "ตอนนั้นอยู่หน้าธนาคารหนึ่งพอดี พูดเล่นๆ ว่า ผลตอบแทนสูงสุดในระยะยาวคือตลาดหุ้น อย่างธนาคารนี้ราคา 3 บาท ซื้อขั้นต่ำ 100 หุ้น จะได้เป็นเจ้าของ เมื่อธนาคารมีกำไรจะแบ่งให้เรา ทำให้ลูกเกิดความสนใจซื้อหุ้นด้วยเงินก้อนที่เป็นเงินเก็บของเขาเอง
เริ่มต้นซื้อครั้งละ 100-200 หุ้น โดยให้ลูกค้นหาและเลือกหุ้นเอง โดยให้ข้อมูลเรื่องการกรองในคอนเซ็ปต์ หุ้นดี ราคาเหมาะสม
พยายามให้เลือกบริษัทที่ใกล้เคียงจากชีวิตเขา เจอร้านไหนคนต่อคิวเยอะๆ เราก็ลองหาในดูว่าบริษัทนี้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์หรือเปล่า เป็นโอกาสให้เราได้ไหม หรือซื้อของตามซูเปอร์มาร์เก็ตดูขายดี ลองพลิกดูว่าเป็นของบริษัทอะไร เหมือนการใช้ประสบการณ์ส่วนตัวเขา
เราไม่ต้องสอน 100% ก็ได้ ถ้าเราคอยบอกทั้งหมดเราจะต้องคอยบอกอยู่ตลอด แต่ว่าถ้าเราแนะนำวิธีการค้นหาคำตอบให้เขาได้ เขาก็จะพึ่งเราน้อยลง และเรียนรู้อะไรมากขึ้น คำถามใหม่ๆ ก็จะมากขึ้นเรื่อยๆ การเริ่มต้นลงทุนเร็วด้วยเงินไม่ได้เยอะมาก มันผิดพลาดกันได้ พ่อก็เคยเป็น มนุษย์ที่ไหนไม่เคยซื้อหุ้นแล้วขาดทุน ก็เคยเป็นกันหมด ไม่ใช่เรื่องแปลก เราพลาดกันได้ ประสบการณ์จะสอน"
อะไรที่ไม่รู้ก็เรียนใหม่ ถ้ายังสอนลูกไม่ได้ก็เรียนไปกับลูกเลย
- มีลูกต้องวางแผนการเงินอะไรบ้าง ?
นอกจากนี้ เดอะ มันนี่โค้ช ได้แนะนำการวางแผนการเงินเบื้องต้นสำหรับผู้ปกครอง รวมถึงจนที่กำลังวางแผนจะมีลูกว่า ผู้ปกครองควรเตรียมเงินส่วนต่างๆ ที่เป็นเงินก้อนใหญ่ที่จำเป็นต้นต้องใช้แน่ๆ เมื่อลูกโตขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นประกันสุขภาพของลูก ค่าเทอม หรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษา ที่อาจส่งผลกระทบกับเงินในครอบครัวได้หากไม่มีการเตรียมการไว้ล่วงหน้า