ราคาข้าวโพดพุ่งไม่หยุด โดมิโนต้นทุนคนเลี้ยงสัตว์
ในห่วงโซ่การผลิตสินค้าไม่ว่าเกษตรหรืออุตสาหกรรมจะประกอบด้วย ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ซึ่งแต่ละช่วงการผลิตมีความเกี่ยวเนื่องกันดังนั้นการดูแลทั้งเรื่องราคาและปริมาณการผลิตในแต่ละช่วงต้องสอดคล้องและไม่เป็นภาระต่อภาคส่วนอื่นๆ
สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย รายงานราคาข้าวโพดไทยเปรียบเทียบกับราคาตลาดโลก พบว่า ราคาเฉลี่ย ณ 2563 หน้าโรงงานอาหารสัตว์ไทย อยู่ที่ 8.97 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) แต่เมื่อเทียบกับราคาตลาดชิคาโก ซึ่งอยู่ที่ 4.54 บาทต่อกก. จะพบว่าราคาข้าวโพดไทยสูงกว่ามากเป็นเท่าตัว
แหล่งข่าวจากผู้ผลิตอาหารสัตว์ เปิดเผยว่า สถานการณ์ดังกล่าวกำลังส่งผลกระทบเป็นโดมิโนต่อเนื่องไปถึงเกษตรกรปลายน้ำอย่างเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ โดยราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลือง ปรับตัวสูงขึ้น 30% จากความต้องการเพิ่มขึ้นสูงของจีน ซึ่งเป็นผู้บริโภครายใหญ่ของโลก
ขณะที่สหรัฐและบราซิลนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล รวมถึงค่าระวางสินค้าปรับสูงต่อเนื่อง ทำให้ราคาเมล็ดถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองมีการปรับขึ้นจากกก.ละ 13 บาท เป็นกก.ละ 18-19 บาท รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน เกลือแร่ที่นำเข้าจากต่างประเทศ มีการปรับตัวสูงขึ้นกว่า 20-30%
ด้านข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ขยับราคาสูงสุดในเดือนก.ย. 2564 ที่ 11.50 บาทต่อกก. จากราคาเฉลี่ย 8-9.50 บาทต่อกก. ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์โดยภาพรวมปรับตัวสูงขึ้นในอัตราเดียวกัน กระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์และอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ ล่าสุด วันที่ 25-29 ต.ค. 2564 ข้าวโพด มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 10.85 บาทต่อกก. และกากถั่วเหลืองจากเมล็ดถั่วเหลืองนำเข้า มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 19.80 บาทต่อกก.
“วัตถุดิบอาหารสัตว์เป็นต้นทุนหลักของการเลี้ยงสัตว์ ทั้งหมดส่งผลให้ต้นทุนการเลี้ยงสัตว์โดยภาพรวมปรับตัวสูงขึ้น 30% กระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์อย่างมาก โดยวัตถุดิบสำคัญคือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นสินค้าที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์และโรงงานอาหารสัตว์ต้องรับซื้อที่ราคาขั้นต่ำ กก.ละ 8 บาท แต่ไม่เคยมีเพดานราคา ส่งผลให้ราคาข้าวโพดพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเพิ่งเริ่มขยับลงเล็กน้อยจากการซื้อปลายข้าวทดแทน”
สำหรับประเทศไทย ต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีละ 8 ล้านตัน แต่ผลิตได้เพียง 5 ล้านตัน ต้องนำเข้าข้าวสาลีเป็นทางเลือกเพื่อทดแทนส่วนต่าง ภายใต้มาตรการของรัฐบาลกำหนดให้ซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน ต่อการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน เพื่อป้องกันปัญหาราคาข้าวโพดในประเทศตกต่ำ ซึ่งอัตราส่วนดังกล่าว ยังไม่ทดแทนส่วนที่ขาดได้ (สัดส่วนปัจจุบันเท่ากับการนำเข้าข้าวโพดเพียง 1.6 ล้านต้นเท่านั้น) จำเป็นต้องปรับสัดส่วนลดลงให้ชดเชยส่วนที่ขาดได้เพียงพอ เช่น เหลืออัตราส่วนที่ ข้าวโพดในประเทศ 1 ส่วน ต่อการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน จึงจะทดแทนส่วนที่ขาดได้
ขณะเดียวกัน มาตรการประกันรายได้เกษตรกรของภาครัฐกำหนดที่ราคา 8.50 บาทต่อกก. และขอความร่วมมือจากภาคเอกชนให้รับซื้อในราคาขั้นต่ำที่ 8 บาทต่อกก. (ความชื้น 14%) โดยรัฐไม่กำหนดเพดานราคา ซึ่งปัจจุบันราคาข้าวโพดสูงกว่าราคาประกันที่รัฐบาลกำหนดไว้มากกว่า 30% ภาคการเลี้ยงสัตว์ต้องแบกภาระต้นทุนไว้ทั้งหมด
นอกจากนี้ ด้านตลาดเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นผลผลิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงก็ต้องเผชิญมาตรการรัฐมีการประกาศราคาสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ แทนการปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด เช่น ประกาศราคาขายสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มที่ 80 บาทต่อกก. เทียบกับต้นทุนเฉลี่ยประมาณ 78-80 ต่อกก. ขณะที่ราคาสุกรในประเทศเพื่อนบ้านสูงเกินกว่า 100 บาทต่อกก.
ด้านเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ยังมีต้นทุนสูงขึ้นจากการวางระบบป้องกันโรคและเตือนภัย ซึ่งเป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนวิกฤติโควิด 19 ล้วนเป็นภาระต้นทุนของเกษตรกรทั้งสิ้น หากไม่เร่งแก้ไขจะเป็นปัจจัยบั่นทอนความสามารถแข่งขันของประเทศ กลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาห่วงโซ่การผลิตอาหารของไทยในระยะยาว