โอลด์ทาวน์ "นาเกลือ" โมเดลท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิต
“เมืองพัทยา”ปรับโฉม “ตลาดโพธิ์นาเกลือ” ตลาดอาหารทะเลที่จะกลายเป็นแแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อระดับโลก ถ้าบริหารให้ถูกสุขลักษณะ ปลอดภัย และได้มาตรฐาน
ตลาดลานโพธิ์นาเกลือ หรือ “Old Town นาเกลือ” ถูกกำหนดเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนควบคู่ไปกับการเป็นตลาดอาหารทะเลชั้นนำในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และเป็นโครงการนำร่องแผนพัฒนาเมืองพัทยาตามแนวทาง NEO PATTAYA
การประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2564 เห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันอออก (สกพอ.) ร่วมกับเมืองพัทยาดำเนินการพัฒนา Old Town นาเกลือโดยมีแนวคิดให้พัทยาก้าวสู่ศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยวของอีอีซี
รวมทั้งขับเคลื่อนให้ตลาดลานโพธิ์นาเกลือเป็นต้นแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อีกทั้งเป็นการต่อยอดสร้างมูลค่าให้กับการท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิต โดยนำจุดเด่นของท้องถิ่นด้วยวิถีประมงพื้นบ้านผสมผสานให้สอดรับกิจกรรมการท่องเที่ยว สร้างเส้นทางเชื่อมโยงภายในพื้นที่ชุมชน และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในนาเกลือ ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นปีละ1.5 ล้านคนและเกิดรายได้ให้คนในพื้นที่ปีละ1,000 ล้านบาท
สนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา กล่าวว่า ตลาดลานโพธิ์นาเกลือเป็นหนึ่งในแผนพัฒนาพื้นที่และแหล่งท่องเที่ยวเมืองพัทยา โดยแบ่งพื้นที่ความรับผิดชอบเป็น 2 ส่วน ได้แก่การพัฒนา Old Town นาเกลือ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิถีประมงชาวบ้าน ควบคู่การเป็นตลาดอาหารทะเลสดชั้นนำของอาเซียน ซึ่งขณะนี้ได้จัดหาผู้เชี่ยวชาญร่วมออกแบบคอนเซ็ปต์ตลาดและอยู่ในระหว่างการศึกษา โดยสร้างเป็นรูปแบบพลาซ่ารองรับการลงทุนในเมืองพัทยา
รวมทั้งพัฒนาพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวและโครงสร้างพื้นฐาน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวและการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมภายใต้งบประมาณเมืองพัทยาปี 2565 รวมทั้งสิ้น 120 ล้านบาท โดยมีทั้งสิ้น 6 โครงการ ดังนี้
1.โครงการก่อสร้างอาคารจอดรถสูง 5 ชั้น จอดรถได้ 239 คัน ชั้นดาดฟ้าจัดให้เป็นสวนดาดฟ้าชมวิวอ่าวนาเกลือ 2.โครงการพัฒนาตลาดขายอาหารสดให้เกิดการจัดระเบียบรองรับนักท่องเที่ยว เพิ่มส่วนพื้นที่นั่งรับประทานอาหารหลังปรุงสุก
3.การปรับปรุงสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ4.การก่อสร้างเส้นทางเดินชมธรรมชาติตลาดลานโพธิ์และจุดชมทัศนียภาพปากคลองนาเกลือและคลองนกยาง เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติริมคลองนาเกลือให้เป็นระเบียบและสวยงาม
5.การสร้างเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าโกงกางคลองนกยาง ที่เป็นป่าชายเลนผืนเดียวในพัทยา และผืนสุดท้ายในชลบุรี 6.โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติริมคลองนาเกลือให้เป็นระเบียบและสวยงาม พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวในการใช้พื้นที่
นอกจากนี้ได้นำเทคโนโลยี 5G มาใช้เพื่อเพิ่มความสะดวกและความปลอดภัยให้ชุมชน รวมถึงการบริหารจัดการดูแลสิ่งแวดล้อมและมลภาวะ โดยจะแบ่งพื้นที่การดำเนินโครงการออกเป็น 3 โซน คือ
1.โซน Seaside บนพื้นที่ 3,417 ตารางเมตร 2.โซน Old Town Market บนพื้นที่ 1,330 ตารางเมตร และ 3.โซน The Square บนพื้นที่ 2,401 ตารางเมตร
“แผนงานโครงการพัฒนานีโอเกาะล้านและ Old Town นาเกลือ ภายใต้ยุทธศาสตร์นีโอพัทยาที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จะค่อยๆ เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้นและจะสมบูรณ์ใน 3 ปีนับจากนี้ จะทำให้พัทยาเป็นมหานครแห่งความสุขของการท่องเที่ยวและการพักอาศัย และการดำเนินธุรกิจที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก”
ทั้งนี้ปัจจุบันเมืองพัทยาเป็นพื้นที่มีศักยภาพสูงทั้งในมิติการท่องเที่ยว เศรษฐกิจและนวัตกรรมแห่งอนาคต โดยระยะ 5 ปีข้างหน้าคาดว่ามีเม็ดเงินลงทุนมากโดยเฉพาะในอีอีซีถึง 2.2 ล้านล้านบาท การลงทุนต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานใหม่สู่ความเป็นเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน และอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่
นอกจากนี้มหาวิทยาลัยบูรพาในฐานะที่ปรึกษาและดำเนินการยก ร่างแผนพัฒนาเมืองพัทยาระยะ 5 ปี ข้างหน้า (2566-2570) ได้รับฟังความต้องการและความร่วมมือของทุกภาคส่วนโดยกำหนดทิศทาง บทบาทภารกิจจากยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติต่อเนื่องจากแนวทาง NEO Pattaya พร้อมนำพัทยาสู่เป้าหมาย “เมืองแห่งโอกาส เศรษฐกิจสมดุล คุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับทุกคน”
รวมทั้งเมืองพัทยาพร้อมเป็นผู้นำวิสัยทัศน์พลิกโฉมสู่อนาคตซึ่งได้ประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนแนวทางดังกล่าวในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อาทิการแก้ปัญหาระบบการระบายน้ำที่รวดเร็ว และวิกฤติโควิด-19 เมืองพัทยามีระบบสาธารณสุขแข็งแกร่งรับมือได้ดี
สำหรับวิสัยทัศน์ดังกล่าวได้กำหนดยุทธศาสตร์สำคัญ 5 ด้าน ได้แก่ 1.ยุทธศาตร์การยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีและความปลอดภัยสำหรับทุกคน เมืองแห่งการศึกษาที่ทันสมัยมีมาตรฐานสากล ปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยว ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน
2.ยุทธศาสตร์การยกระดับประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานรองรับอีอีซีพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเมืองพัทยาเชื่อมต่อการขนส่ง ทางบก ทางรางและทางทะเล ให้มีมาตรฐานและประสิทธิภาพ เช่น รถไฟฟ้ารางเบาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัล
3.ยุทธศาสตร์การส่งเสริมนวัตกรรมทางเศรษฐกิจและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ เช่น บุคลากร โรงพยาบาล อุปกรณ์ทางการแพทย์ และระบบสารสนเทศสาธารณสุข
4.ยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนได้แก่ การยกระดับการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำ แก้ไปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค-น้ำท่วม
5.ยุทธศาสตร์การยกระดับการบริหารเมืองพัทยาเป็นองค์กรที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงเพื่อทำให้การปฏิบัติงานของเมืองพัทยามีประสิทธิภาพ ประชาชนเข้าถึงอย่างสะดวกและโปร่งใส การปรับปรุงระบบการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้เมืองพัทยา