WHA ชูกลยุทธ์ฝ่าวิกฤติ มุ่ง เทคคอมพานีเพิ่มรายได้

WHA ชูกลยุทธ์ฝ่าวิกฤติ มุ่ง เทคคอมพานีเพิ่มรายได้

WHA กางแผนสร้างทีมลุย Tech Company เผยกลยุทธ์ฝ่าวิกฤต 3 ข้อเทคโนโลยี - กระจายความเสี่ยง - ไม่ก่อหนี้เกินตัว ตั้งงบลงทุนสตาร์ทอัพปีละ 300 ล้าน ต่อยอดธุรกิจช่วยเหลือรายย่อย

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ กล่าวว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นวงกว้างต่อเศรษฐกิ“WHA” จและสังคม เพราะที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยผูกกับภาคการท่องเที่ยวมากและเมื่อเกิดการระบาดทำให้มีผู้ตกงานมาก โดยปี 2563 เศรษฐกิจไทยติดลบถึง 6.1% 

หากมองย้อนปี 2540 มีความแตกต่างกับวิกฤติโควิด-19 หลายด้าน โดยวิกฤติปี 2540 เกิดจากฟองสบู่แตกเพราะการนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาเพื่อเก็งกำไร ซึ่งไม่ได้เกิดจากดีมานต์หรือความต้องการที่แท้จริง เมื่อประกาศลอยตัวค่าเงินบาททำให้หนี้สินของผู้กู้เงินต่างประเทศเพิ่มเท่าตัว แต่วิกฤติครั้งนั้นส่วนใหญ่เกิดกับธุรกิจใหญ่ เช่น ธนาคาร ไฟแนนซ์ เรียกได้ว่าข้างบนพัง เงินคงคลังหมด และหนี้สินเพิ่มสูง โดยบริษัทจำนวนมากกู้เงินระยะสั้นมาขยายธุรกิจซึ่งผิดหลักการทำธุรกิจ

ส่วนวิกฤติโควิด-19 เกิดกับระดับล่างเหมือนเกิดระดับฐานปิรามิด ซึ่งก่อนเกิดโควิด-19 ก็เจอการแข่งขันที่รุนแรงและการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี โดยกลุ่มที่ถูกกระทบ คือ ภาคเอสเอ็มอี ซึ่งทำธุรกิจแบบเดิมจะถูกกระทบมากกว่าธุรกิจที่ปรับตัวได้ ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ได้รับผลกระทบน้อยมาก เพราะมีสภาพคล่อง สถาบันการเงินไม่ล้มและเงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังเข้มแข็ง

“การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะเป็นรูปแบบ K shape ที่บางส่วนจะฟื้นตัวดีและเร็วมาก ขณะที่บางส่วนไม่ฟื้นตัว และสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่สาเหตุเฉพาะโควิด-19 แต่เป็นการปรับตัวทั้งระบบเมื่อเผชิญวิกฤติว่าจะรับมือได้อย่างไร โดยย้อนไปวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 เป็นการตอกย้ำว่ารอบ 20 ปีที่ผ่านมา ความเหลื่อมล้ำมากขึ้น และเมื่อเกิดวิกฤติคนรวยจะรวยขึ้น คนจนจะจนลง จะเห็นว่าช่วงนี้บริษัทใหญ่ถือโอกาสเทคโอเวอร์กิจการ ตลาดหุ้นไม่สะเทือนมากแม้จะมีวิตกกังวลบ้างก็ในช่วงสั้น”

ปี 2565 มองว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวมากขึ้นจากการเปิดเศรษฐกิจเมื่อฉีดวัคซีนเพิ่ม อีกส่วน คือ การตรวจ ATK ที่แยกผู้ป่วยออกจากกลุ่มคนไม่ป่วยได้ หากรัฐบาลทำได้ดีส่วนนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เหมือนในต่างประเทศ สำหรับการการเตรียมแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล นักธุรกิจอยากเห็นรัฐบาลมีเสถียรภาพ อยากเห็นทีมเศรษฐกิจรัฐบาลที่เข้มแข็ง โดยหลายประเทศเริ่มทำงานดึงเม็ดเงินลงทุนเพื่อสร้างการลงทุนและสร้างงาน ซึ่งจะช่วยปรับโครงสร้างการผลิตในอนาคต

“จีนมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเรื่อยๆ มีแนวโน้มที่บางธุรกิจจะย้ายฐานการผลิตมาอาเซียน ซึ่งไทยจะได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้”

สำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขอให้เป็นไปตามแผน เพื่อเร่งลงทุนและเร่งการใช้เงิน และทำให้โครงสร้างพื้นฐานพร้อมที่สุดเพื่อเป็นข้อได้เปรียบในการดึงการลงทุน ขณะเดียวกันมีความจำเป็นต้องตั้งทีมทำงานเชิงรุกดึงนักลงทุนจากต่างชาติเข้ามา ซึ่งต้องทำทุกอย่างให้ต่อเนื่องไม่ใช่เปลี่ยนไปตามรัฐมนตรีหรือ “ทีมเศรษฐกิจ” ที่รับผิดชอบ โดยรัฐและเอกชนต้องทำงานร่วมกันให้มีเอกภาพมากที่สุด หันหน้าคุยกัน เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด แก้อุปสรรคและปัญหาจากกฎระเบียบที่ขาดความยืดหยุ่น

ส่วนการฟื้นฟูเศรษฐกิจเห็นว่า เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นโจทย์หลักขับเคลื่อนประเทศ โดยเฉพาะการเปลี่ยนภาคการผลิตสู่การใช้เทคโนโลยีที่สอดคล้องเทรนด์โลก ซึ่งเมื่อเกิดโควิด-19 โอกาสที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมเป้าหมายบางอุตสาหกรรมที่ต้องขับเคลื่อนเร็ว เช่น อุตสาหกรรมการแพทย์ ซึ่งหากส่งเสริมนำเอาเทคโนโลยีมายกระดับการผลิตและผลิตสินค้าให้ตรงความต้องการของตลาด จะเกิดการสร้างงานและปรับจากผู้ที่ซื้อเทคโนโลยีมาเป็นผู้ผลิต

ขณะนี้บริษัทที่ลงทุนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ไฟฟ้าและการบริโภค สนใจขยายการลงทุนมาในนิคมอุตสาหกรรมและต้องการใช้ไทยเป็นฐานการส่งออกและการผลิตป้อนตลาดในประเทศ

"ไทยยังน่าสนใจอยู่มาก แต่น่าจะไปได้ดีกว่านี้หากได้รับการสนับสุนนจากภาครัฐที่เป็นรูปธรรมกว่านี้ เช่นเดียวกับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นโอกาสที่ควรสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยต้องมองว่าจะทำอย่างไรให้มีแบรนด์ของตัวเองที่เข้มแข็งและแข่งขันได้ โดยรัฐบาลต้องคุยกับเอกชนว่าจะซัพพอร์ตอย่างไรเพื่อให้ธุรกิจนี้เกิดขึ้นได้ เพื่อเป็นจุดเปลี่ยนทิร์นที่สำคัญในการก้าวออกจากวิกฤติ" 

สำหรับ WHA มองวิกฤติครั้งนี้ทำให้ต้องมีกลยุทธ์องค์กรมากขึ้น และเห็นความจำเป็นมากขึ้นในการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี ดังนี้ 

1.การใช้ประโยชน์จากข้อมูลและเทคโนโลยีเพื่อหาโอกาสทางธุรกิจ 

2.กลยุทธ์การกระจายความเสี่ยงที่จำเป็นมาก หากทำธุรกิจอย่างเดียวเกิดผลกระทบอะไรขึ้นมาจะเกิดวิกฤติได้ง่าย โดย WHA เรียนรู้แล้วก็ปรับตัวตลอดเวลาเพื่ออยู่รอดในภาวะวิกฤติได้

3.บทเรียนที่เกิดขึ้นอย่าสร้างหนี้เกินตัว อย่ามีต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) มากเกินไป ที่สำคัญอย่าลงทุนในสิ่งที่ไม่สร้างรายได้ หรืออย่าใช้เงินผิดประเทศ 

ดังนั้นสิ่งเห็นชัดและพิสูจน์จากวิกฤติครั้งนี้ว่าเป็นกลยุทธ์ที่ได้ผล คือ การกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ โดย WHA กระจายใน 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่  ธุรกิจการพัฒนาอุตสาหกรรม ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน และธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งแต่ละธุรกิจสร้างรายได้ทั้งรายได้ประจำและรายได้เสริม โดยรายได้ประจำมาจากส่วนที่เป็นรายรับจากสาธารณูปโภค ค่าน้ำ ค่าไฟที่เราได้รับ เป็นรายได้ที่เข้ามาหล่อเลี้ยง ขณะที่การลงทุนช่วงวิกฤติจะไม่ก่อหนี้มาก และไม่ลงทุนแบบใช้เงินผิดประเภท 

นอกจากนั้นแต่ละกลุ่มธุรกิจต้องบาลานซ์ในตัวเอง โดยปี 2564 ธุรกิจโลจิสติกส์ช่วยชดเชยรายได้จากนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบระยะสั้น ซึ่งเป็นการบาลานซ์พอร์ตของบริษัทเพื่อกระจายความเสี่ยง

“การเกิดโควิด-19 เป็นการตอกย้ำว่า WHA เดินมาถูกทาง กลยุทธ์ที่วางไว้ทำให้ได้รับผลกระทบน้อยมาก Business model ที่วางไว้ซึ่งให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและเทคโนโลยีดิสรับชั่น โลจิสติกส์และอีคอมเมิร์ซ ที่เกิดขึ้น โดยการแข่งขันเริ่มสูงขึ้นจากการเข้ามาของทุนใหญ่ต่างชาติ ซึ่งรัฐบาลต้องหาทางช่วยธุรกิจรายย่อย”

สำหรับการลงทุนระยะ 1-2 ปี WHA วางแผนที่จะเติบโตไปใน 3 ธุรกิจ คือ นิคมอุตสาหกรรม โลจิสติกส์ พลังงานและยูทิลิตี้ โดยเน้นการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งมีการทำวิจัยเพื่อศึกษาข้อมูลในเชิงลึกของแต่ละธุรกิจ เพื่อให้เติบโตในแต่ละเทคโนโลยีอย่างไรเพื่อเอามาเสริมแต่ละธุรกิจ

ส่วนธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบระยะสั้น ส่วนระยะยาวได้รับผ]ดีจากการปรับเปลี่ยนฐานการผลิต ซึ่งปีนี้ก็มีลูกค้าที่แสดงความต้องการเข้ามาลงทุนสูงกว่าปีที่แล้วมาก กลับไปเท่ากับสถานการณ์ในปี 2562 เห็นจากตัวเลขขอส่งเสริมการลงทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นสูงมากในปีนี้ ดังนั้น "ทุกวิกฤติจึงมีโอกาสมาก"

ในขณะที่ธุรกิจพลังงานจะเน้นพลังงานสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การนำของเสียมาสร้างพลังงาน การนำเทคโนโลยีมาพัฒนาสาธารณูปโภค การใช้น้ำ โดยใช้ระบบ SCADA เพื่อใช้วางแผนภายในนิคมอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยมีเป้าหมายอีก 4 5 ปี บริษัทจะเข้าสู่การเป็น Tech Company เต็มรูปแบบ ซึ่งขณะนี้กำลังสร้างคน สร้างทีม โดยใช้ฐานข้อมูลและดาต้าเก็บเอาไว้ และอนาคตทีมนี้จะเป็นทีมสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ให้บริษัท และปีที่แล้วได้ทำดิจิทัลทรานฟอเมชั่น ปรับทั้งระบบดิจิทัลและคน โดยมี 33 initiative ที่เอามาปรับใช้ในองค์กร และปี 2565 จะวัดผลว่าสิ่งที่ทำได้ผลสำเร็จมากน้อยขนาดไหน

ทั้งนี้ วิกฤติโควิด-19 ไม่ได้ทำให้เปลี่ยนมุมมอง เพราะได้เปลี่ยนไปก่อนเกิดวิกฤติแล้ว โดยให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีและการกระจายความเสี่ยง ซึ่ง WHA ทำมาระยะหนึ่งแล้ว โดยให้ผู้บริหารระดับต่างๆเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น และมองดูโอกาสที่จะเกิดขึ้นหลังวิกฤติครั้งนี้ 

ขณะเดียวกันก็มองว่าเราจะช่วยเหลือคนอื่นอย่างไร รวมทั้งจะช่วย "สตาร์ทอัพ" โดยไปลงทุนในสตาร์ทอัพเพื่อให้เขาเติบโตขึ้น ซึ่งตั้งงบประมาณให้ความช่วยเหลือ ส่วนการลงทุนได้ตั้งงบประมาณในการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพไว้ 300 ล้านบาทต่อปี คาดว่าจะลงทุนใน 2-3 บริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของ WHA โดยการเติบโตจะต้องเห็นความก้าวหน้าในการลงทุนร่วมกับสตาร์ทอัพเป็นระยะเพื่อให้บริษัทสำเร็จสู่การเป็น Tech Company ได้เร็วขึ้น