เกษตรสมัยใหม่ ลดจำนำ-ประกันราคา

เกษตรสมัยใหม่ ลดจำนำ-ประกันราคา

หากรัฐผลักดันภาคการเกษตรของไทยสู่ "เกษตรสมัยใหม่" โดยใช้บิ๊กดาต้า รวมถึงทำเกษตรแปลงใหญ่ภายใต้ความร่วมมือจากทุกฝ่าย อาจเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยลดใช้เงินแก้ปัญหาแบบชั่วคราวเหมือนที่ผ่านมา

ภาคการเกษตรเป็นอีกส่วนที่ได้รับการดูแลจากรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นกลุ่มที่มีปัญหาด้านผลผลิตที่ต้องพึ่งพาปัจจัยธรรมชาติ ซึ่งทำให้มีตัวแปรที่มีผลต่อจำนวนผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรสูง

ที่ผ่านมา มีการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรหลายแนวทาง โดยเฉพาะผลผลิตข้าวที่เป็นเกษตรกรกลุ่มใหญ่ของประเทศไทย โดยมีการอุดหนุนในรูปแบบการจำนำข้าวมามากกว่า 30 ปี ที่ผ่านมา เพื่อดึงซัพพลายส่วนหนึ่งออกจากตลาดช่วงต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวเพื่อไม่ให้ราคาข้าวลดต่ำลง และเมื่อราคาเริ่มมีเสถียรภาพก็หยุดโครงการ

การจำนำข้าวตามรูปแบบในอดีตเป็นการแก้ปัญหาตามหลักดีมานด์-ซัพพลายที่ได้ผลในระดับหนึ่ง แต่ในช่วงหลังจุดประสงค์การจำนำข้าวเปลี่ยนไปจากการดึงซัพพลายออกช่วงต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวเป็นการจำนำข้าวทุกเมล็ดที่ชาวนาปลูก ซึ่งเปลี่ยนหลักการการแก้ปัญหาราคาข้าวจากเดิมใช้กลไกการตลาดมาเป็นการใช้วิธีภาครัฐรับซื้อขาวจากชาวนา

จนกระทั่งรัฐบาลปัจจุบัน ได้ใช้วิธีการประกันราคาข้าวแทนการจำนำ โดยมีหลักการจ่ายส่วนต่างระหว่างราคาข้าวในตลาดกับราคาประกันข้าวเพื่อให้ชาวนาได้ราคาที่คุ้มต้นทุน

แนวโน้มของงบประมาณที่ใช้ในการจำนวนข้าวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปีการผลิต 2562/63 ตั้งงบประมาณ 21,000 ล้านบาท ชาวนาเข้าร่วม 3.9 ล้านครัวเรือน ส่วนปีการผลิต 2563/64 ตั้งงบประมาณ 50,000 ล้านบาท ชาวนาเข้าร่วม 4.68 ล้านครัวเรือน และปีการผลิต 2564/65 ตั้งงบประมาณ 89,000 ล้านบาท ชาวนาเข้าร่วม 4.69 ล้านครัวเรือน

แต่ถ้ารวมวงเงินจ่ายเพิ่มเติมสำหรับค่าเก็บเกี่ยว และสินเชื่อชะลอการเก็บเกี่ยวที่รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณจ่ายขาดรวมกับประกันราคาข้าวถึง 1.5 แสนล้านบาท สำหรับฤดูกาลที่จะถึง

ไม่ว่าจะเป็นโครงการรับจำนำข้าวหรือโครงการประกันราคาสินค้าเกษตรดูเหมือนจะเป็นการแก้ปัญหาชั่วคราวให้เกษตรกรพ้นจากปัญหาราคาข้าวตกต่ำในระยะสั้นเฉพาะปีที่รัฐบาลตั้งงบประมาณดำเนินการ

แต่ถ้าปีใดรัฐบาลไม่สามารถตั้งวงเงินได้ก็ต้องปล่อยให้ราคาข้าวเป็นไปตามกลไกตลาดเพียงอย่างเดียว และอาจมีปัญหาด้านเสถียรภาพราคา ซึ่งจะเป็นที่จะต้องผลักดันให้เกษตรกรยกระดับการผลิตทั้งในด้านการลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การบริหารโลจิสติกส์และการจัดการด้านตลาด

ในปัจจุบัน ภาคเกษตรกำลังเข้าสู่การเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งไม่ต่างจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาบทบาทในการผลิตมากขึ้น โดยเฉพาะการผลิตแบบแม่นยำที่ใช้บิ๊กดาต้ามาวางแผนการเพาะปลูก เช่น น้ำ ปุ๋ย รวมถึงการทำเกษตรแปลงใหญ่ที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงจากการใช้ปัจจัยการผลิตร่วมกัน ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ต้องอาศัยความร่วมมือทุกฝ่าย รวมถึงการยอมเปลี่ยนแปลงวิธีการทำเกษตรสู่สมาร์ทฟาร์มเมอร์ที่อาจเป็นแนวทางสำคัญที่อาจทำให้ลดใช้เงินแก้ปัญหาแบบชั่วคราวเหมือนที่ผ่านมา