เชื้อกลายพันธุ์ ตัวแปรฟื้นเศรษฐกิจ
การที่กระทรวงการคลังมองเศรษฐกิจปี 2564 จะขยายตัวที่ 4% หรือการที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มองการขยายตัวที่ 3.5-4.5% ก็มีโอกาสที่จะไม่เป็นไปตามเป้าหมายได้หากเกิดการระบาดระลอกใหม่
สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ลดลงส่งผลให้รัฐบาลประกาศนโยบายเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พ.ย.2564 บนความคาดหวังของการเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 หลังจากที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของสายพันธุ์เดลตา ซึ่งทำให้การระบาดระลอกที่ 3 นับตั้งแต่เดือน เม.ย.2564 ยาวนานถึงปัจจุบัน และมีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 1.99 ล้านคน เฉพาะการระบาดระลอกปัจจุบัน
ถึงแม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมต่อวันจะมีแนวโน้มลดต่ำลงจากจุดสูงสุดมากกว่า 20,000 คน มาถึงปัจจุบัน มีผู้ติดเชื้อในระดับวันละ 7,000-8,000 คน แต่หลายฝ่ายออกมาเตือนถึงการระบาดของสายพันธุ์กลายพันธุ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ซึ่งทำให้การดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรค รวมถึงการเยียวยาและฟื้นฟูผลกระทบจากโรคโควิด-19 จำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยของเชื้อกลายพันธุ์รวมเข้าไปด้วย เพื่อให้มีเครื่องมือเพียงพอที่จะป้องกันและควบคุมโรค และไม่ทำให้ประเทศเสียโอกาสในการฟื้นฟู
ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 3 ปี 2564 ที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประกาศมาล่าสุดติดลบ 0.3% และประมาณการจีดีพีทั้งปีจะขยายตัว 1.2% ในขณะที่ปี 2565 มองว่าจะขยายตัว 3.5-4.5% โดยมองถึงการบริหารเศรษฐกิจในปีหน้าที่ต้องให้ความสำคัญกับการควบคุมโรค โดยต้องควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่วงจำกัด ต้องเร่งรัดกระจายวัคซีนให้เพียงพอและทั่วถึง รวมถึงมีการควบคุมดูแลกิจกรรมเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค และเตรียมแผนการรองรับการกลับมาระบาดของโรค
เชื้อไวรัสกลายพันธุ์เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้หลายประเทศกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง โดยทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมแผนรองรับการกลับมาระบาดในระดับรุนแรงไว้ให้พร้อมนำมาใช้งานได้ทันที ในขณะที่ทุกฝ่ายจะต้องให้ความร่วมมือในการควบคุมโรคเพื่อไม่ให้เกิดการระบาดในระดับคลัสเตอร์ขึ้นมาอีกเหมือนช่วงที่ผ่านมาที่ประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดในระดับที่ดี แต่เมื่อเจอการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ทำให้ประเทศไทยต้องติดกับดักกับการระบาดระลอกนี้จนถึงปัจจุบัน
สถานการณ์ดังกล่าวจึงทำให้เศรษฐกิจไทยยังมีตัวแปรต่อการฟื้นตัวอยู่มากพอสมควร ดังนั้นการที่กระทรวงการคลังมองเศรษฐกิจปี 2564 จะขยายตัวที่ 4% หรือการที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มองการขยายตัวที่ 3.5-4.5% ก็มีโอกาสที่จะไม่เป็นไปตามเป้าหมายได้หากเกิดการระบาดระลอกใหม่ หรือเกิดการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ที่รุนแรงมากกว่าสายพันธุ์เดลตา ซึ่งในกรณีดังกล่าวการเตรียมความพร้อมรับมือในระดับที่ดีจะทำให้เรามั่นใจที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2565