ส.อ.ท. เปิด 6 ยุทธศาสตร์พาสมาชิกฝ่าวิกฤติโควิด-19
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เสนอยุทธศาสตร์ 6 ด้าน สร้างบริการเพื่อสมาชิกทันต่อสถานการณ์และเติบโตช่วงวิกฤติอย่างยั่งยืน
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวบรรยายในหัวข้อ "ความอยู่รอดธุรกิจ ภายใต้ Covid-19" ภายในงานประชุมสามัญประจำปี 2564 ของสถาบันรหัสสากล ว่าในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หลายธุรกิจมีความเสียหาย ในขณะที่หลายธุรกิจกลับมีโอกาส โดยมีเทคโนโลยีเป็นกุญแจสำคัญที่ไขเปิดประตูแห่งโอกาสนั้น
สืบเนื่องจากมาตรการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของภาครัฐ ทั้งการล็อกดาวน์ประเทศที่ส่งผลให้บางธุรกิจไม่สามารถดำเนินงานตามปกติได้ การหันมาใช้เทคโนโลยีเพื่อลดการสัมผัส การเว้นระยะห่างทางสังคม ช่องทางการเยียวยาของภาครัฐผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้การดำรงชีวิตประจำวันของประชาชนนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
ในขณะเดียวกัน เมกะเทรนด์ของโลกด้านเทคโนโลยีก็เติบโตขึ้นอย่างมากทั้งเทคโนโลยี 5G บล็อกเชน Big Data ระบบคลาวด์ AI อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และการพัฒนาโลกเสมือนจริงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
ซึ่งเหล่านี้เป็นการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเรียนรู้และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และพร้อมรับมือกับภาวะความเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วเท่านั้นที่จะสามารถอยู่รอด และทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตต่อไปได้ ดังนั้นผู้ประกอบการที่มีวิสัยทัศน์จึงจำเป็นที่จะต้อง “เริ่มขยับ ปรับตัว และเรียนรู้ใหม่” เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์และผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ส.อ.ท. ได้วางยุทธศาสตร์การให้บริการสำหรับสมาชิกผู้ประกอบการ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยแบ่งเป็น 6 ด้าน ดังนี้ 1.การตลาด เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้กับสมาชิก ทั้งการให้บริการจับคู่ธุรกิจ อีคอมเมิร์ซ และโครงการสินค้า made in Thailand ที่ขึ้นทะเบียนกับ ส.อ.ท. จะสามารถร่วมประมูลในโครงการของภาครัฐได้ ตามมาตรการที่กรมบัญชีกลางระบุไว้ว่า 60% ของสินค้าที่จัดซื้อจัดจ้างต้องผลิตในประเทศไทย รวมถึงบาร์โค้ด GS1 ที่เป็นมาตรฐานสากล จึงเป็นใบเบิกทางให้สามารถขายสินค้าฝน Marketplace ชั้นนำอย่าง Amazon eBay และ Google
2.การเงิน มีการให้บริการการเงินในรูปแบบต่างๆ ด้วยการทำความร่วมมือกับธนาคาร ได้แก่ ไทยพาณิชย์ กรุงศรี และเอ็กซิมแบงก์ นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในการเปิดระดมทุนในตลาด Live Exchange สำหรับธุรกิจขนาดเล็กโดยเฉพาะ รวมถึงการให้บริการคลินิคการเงินและมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ และมีบริการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ คือ การจัดตั้งศูนย์ประนอมหนี้ ให้กับสมาชิก ส.อ.ท.
3.นวัตกรรม เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกสามารถนำนวัตกรรมมาเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการจัดตั้งกองทุนนวัตกรรมเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนในการสนับสนุนให้เกิดการใช้นวัตกรรมใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
4.ศูนย์การเรียนรู้ ให้บริการความรู้เพื่อบุคลากรภาคอุตสาหกรรม พัฒนาระบบแพลตฟอร์ม e-learning รวบรวมองค์ความรู้ให้บุคลากรมีทักษะใหม่ Up-skill และ Re-skill ให้ทันความรู้ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งสร้างอีโคซิสเต็มในการพัฒนาหลักสูตรในภาคการศึกษา มหาวิทยาลัย และสถาบันพันธมิตร
5.การเพิ่มประสิทธิภาพ ยกระดับมาตรฐานธุรกิจด้วยเทคโนโลยี โดยมีการกำหนดมาตรฐานให้สินค้า การส่งเสริมการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสู่อุตสาหกรรม 4.0 นอกจากนี้ยังร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำเกษตรแม่นยำ 2 ล้านไร่ ให้ได้ผลผลิตมากขึ้นด้วยต้นทุนที่ลดลง นอกจากนี้ยังมีการรวบรวมข้อมูล Big Data จากการทำข้อตกลงความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ในการวิเคราะห์แนวโน้มทางธุรกิจ รวมถึงการทำข้อเสนอแนะต่อภาครัฐที่มีคามแม่นยำและเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้
6.ความยั่งยืน ส่งเสริมความยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การส่งเสริมเศรษฐกิจ BCG แนวโน้มของการดำเนินธุรกิจจึงต้องมีความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม จึงได้มีการจัดทำคลินิกสิ่งแวดล้อมและพลังงานเพื่อสมาชิก เป็นที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการน้ำและสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม การจัดการด้านพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม มีการทำแพลตฟอร์มคาร์บอนเครดิต เพื่อซื้อขายกันระหว่างผู้ประกอบการเพื่อสร้างสมดุลในการปล่อยก๊าซคาร์บอน