BCPG รุกโซลาร์ฟาร์มในไต้หวัน ดันเป้าเพิ่มพลังงานสะอาด 2 เท่าใน 5ปี
“บีซีพีจี” ตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น2 เท่าใน 5 ปี สร้างสมดุลของพอร์ตโฟลิโอครอบคลุมหลากหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย ล่าสุดลงทุนไต้หวัน พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ตั้งเป้าองค์กรสู่ Net Zero ใน 10ปีข้างหน้า
นายบัณฑิต สะเพียรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้จัดตั้งบริษัท บีซีพีจี ฟอร์โมซ่า จำกัด (BCPG Formosa Co., Ltd.) เพื่อลงทุนพัฒนาและก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 82 ล้านเหรียญไต้หวัน และถือหุ้นร้อยละ 100 คาดว่าจะสามารถจัดตั้งบริษัทย่อยดังกล่าวแล้วเสร็จภายในปี 2564 นี้
อย่างไรก็ตาม ไต้หวันเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาโครงการพลังงานสะอาดสูง เนื่องจากรัฐบาลให้การส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงานสะอาด เพื่อลดการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยมีการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2 เท่า หรือกว่า 13,000 เมกะวัตต์ภายใน 5 ปี การขยายการลงทุนไปยังไต้หวันในครั้งนี้ จึงเป็นการเปิดโอกาสสำหรับการลงทุนใหม่ๆ ของบีซีพีจี โดยบริษัทฯ มีเป้าหมายในการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ในไต้หวันไม่ต่ำกว่า 1,000 เมกะวัตต์ภายใน 5 ปีข้างหน้า สอดคล้องกับส่วนแบ่งตลาดของบีซีพีจีในธุรกิจโซลาร์ฟาร์มในประเทศไทยในปัจจุบัน
ทั้งนี้ บีซีพีจี ยังคงยึดมั่นที่จะดำเนินธุรกิจด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสีเขียวควบคู่ไปกับการสร้างเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชน โดยบริษัทฯ กำลังก้าวเข้าสู่การเป็น Carbon Neutral ในต้นปี2565 และตั้งเป้าเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในอีก 10 ปีข้างหน้า ราวปี 2573 และยังเป็นหนึ่งในผู้จัดตั้ง Carbon Markets Club แพลทฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่มีอุดมการณ์เดียวกันในการแก้ปัญหาโลกร้อนสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตกันได้ตามความสมัครใจ
นอกจากนี้ ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริม Digital Energy ซึ่งเป็นสิ่งที่บีซีพีจีพัฒนามาตลอดกว่า 3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ประชาชนเป็นทั้งผู้ผลิต ผู้ใช้ และสามารถซื้อขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือใช้ระหว่างกัน หรือที่เรียกว่า Prosumer ซึ่งจะเป็นผู้ที่ขับเคลื่อนให้เกิดการขยายตัวของเทคโนโลยีแบบทวีคูณ (Exponential) ต้นทุนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ที่ลดลงและนวัตกรรมทางการเงิน
นายบัณฑิต กล่าวว่า ในการประกาศเจตนารมณ์สู้วิกฤตโลกร้อนบริษัทฯ มีจุดมุ่งหมาย 3 ประการ คือ 1. เพิ่มมาตรการเพื่อรับมือกับปัญหาอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2. วัดผลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการประกอบธุรกิจของตนเอง เพื่อหาวิธีการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ 3. ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มแหล่งกักเก็บคาร์บอน พร้อมทั้งส่งเสริมพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน
สำหรับภาพรวมปี 2564 ของบริษัทฯ ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และสามารถดำเนินงานตามแผนที่วางไว้ โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2564 ที่ผ่านมา โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชิบะ ในประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กำลังการผลิต 7.7 เมกะวัตต์ ได้เปิดดำเนินการขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ตามแผนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะเปิดดำเนินการได้เต็มโครงการที่กำลังการผลิตรวม 12 เมกะวัตต์ภายในสิ้นปีโดยจะเริ่มรับรู้รายได้ทันทีในไตรมาสที่ 4/2564 และเต็มปีในปี 2565
“ในปีหน้า บริษัทฯ มีโครงการที่จะทยอยเปิดดำเนินการรวมกำลังการผลิตอีกกว่า 49 เมกะวัตต์ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์โคมากาเนะ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ยาบูกิ ในประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิต 25 เมกะวัตต์ และ 20 เมกะวัตต์ ตามลำดับ โดยจะเปิดดำเนินการในช่วงครึ่งปีแรก ทำให้บริษัทฯ มีการเปิดดำเนินการขายไฟเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่นรวมทั้งสิ้น 34.7 เมกะวัตต์ ขณะที่ปัจจุบันบีซีพีจี มีการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น กำลังการผลิตตามสัญญาขายไฟฟ้ารวม 89.7 เมกะวัตต์ โดยอยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนาอีกจำนวน 55.0 เมกะวัตต์”