โรงแยกอากาศใน EEC เทคโนโลยีลดก๊าซเรือนกระจก

โรงแยกอากาศใน EEC   เทคโนโลยีลดก๊าซเรือนกระจก

ปัจจุบันหลายประเทศเริ่มให้ความสำคัญกับการลงทุนด้าน ESG (Environmental, Social, and Governance) ให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ภายในปี 2050

ดังนั้น เม็ดเงินลงทุนทั่วโลกเพื่อพลังงานสะอาดจะเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 2 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี เพิ่มเป็น 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (การลงทุนถึงปี 2030) ซึ่งหลายประเทศต่างเห็นพ้องว่า climate change เป็นปัญหาและความเสี่ยงที่ต้องร่วมกันแก้ไข

สำหรับไทยได้มีความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและเริ่มนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ เช่น เทคโนโลยีการ recycle เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและโซล่าร์ รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่อยู่ในช่วงของการศึกษาความเป็นไปได้อย่างเทคโนโลยีไฮโดรเจนสีเขียว และเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน

ล่าสุดได้มีการนำเทคโนโลยีแยกอากาศมาใช้เพื่อช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท บีไอจี และ ปตท. จัดตั้งเป็นบริษัท มาบตาพุด แอร์โปรดักส์ จำกัด (MAP) ในการนำความเย็นที่เหลือทิ้งจากกระบวนการเปลี่ยนสถานะก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในรูปของเหลว (LNG) กลับมาเป็นก๊าซ โดยความเย็นจากกระบวนการเปลี่ยนสถานะ LNG นี้ จะอยู่ในรูปแบบของน้ำเย็นที่ถูกปล่อยลงทะเลกว่า 2,500 ตันต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นการสูญเสียพลังงานความเย็นโดยเปล่าประโยชน์

ดังนั้น MAP จึงนำความเย็นที่ได้จากกระบวนการนี้มาลดอุณหภูมิให้อากาศ เพื่อแยกอากาศออกเป็นไนโตรเจนเหลว (N2) ออกซิเจนเหลว (O2) และอาร์กอน (Ar) ซึ่งได้ประโยชน์ถึงสองต่อ คือ 1) นำความเย็นเหลือทิ้งมาใช้ประโยชน์ในการทำก๊าซอุตสาหกรรม 2) จากการนำความเย็นมาใช้แทนการใช้พลังงานไฟฟ้าในกระบวนการแยกอากาศที่จะทำให้ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้พลังงานไฟฟ้าลงได้ 28,000 ตันต่อปี

โรงแยกอากาศดังกล่าว ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง มีมูลค่าการลงทุนกว่า 1,500 ล้านบาท มีกำลังการผลิตก๊าซอุตสาหกรรมมากถึง 450,000 ตันต่อปี ซึ่งเป็นหน่วยแยกอากาศแห่งแรกของประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่นำพลังงานความเย็นจากการเปลี่ยนสถานะ LNG มาใช้ผลิตก๊าซอุตสาหกรรมอย่างออกซิเจนเหลว ไนโตรเจนเหลว และอาร์กอน

โดยออกซิเจนเหลว ที่ได้จากโรงแยกอากาศ MAP จะนำมาใช้ทางการแพทย์กว่า 140 ตันต่อวัน ส่วนไนโตรเจน นอกจากจะใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) แล้ว ยังนำไปใช้ในโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor : EFC) โดยไนโตรเจนเหลวจะช่วยเก็บรักษาคุณภาพของผลไม้ ส่วนอาร์กอน นำไปใช้งานในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเชื่อมสเตนเลสและโลหะชนิดต่าง ๆ การผลิตหลอดไฟ การผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นต้น

EIC มองว่าในอนาคตผลิตภัณฑ์ไนโตรเจน ที่ได้จากโรงงานแยกอากาศสามารถนำไปต่อยอดสู่การลงทุนไฮโดรเจนสีเขียวที่เป็นพลังงานสะอาดได้ เนื่องจากไฮโดรเจนซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทบีไอจี เป็นก๊าซที่มีน้ำหนักเบามาก ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ แต่มีข้อจำกัดด้านการขนส่งในระยะทางไกล ทั้งนี้หากนำไนโตรเจนที่ได้มารวมตัวกับไฮโดรเจน จะเกิดเป็นผลิตภัณฑ์แอมโมเนียที่มีสถานะเป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง ทำให้สะดวกต่อการจัดเก็บและการขนส่ง และยังได้ปริมาณไฮโดรเจนที่มากกว่า ถึง 1.5 เท่าภายใต้การขนส่งที่ปริมาตรเดียวกัน โดยเมื่อถึงปลายทางแล้วจะใช้กระบวนการ dehydrogenation เพื่อแยกเอาไฮโดรเจนออกมาใช้ เป็นการแก้ไขข้อจำกัด       สำหรับตลาดไฮโดรเจนสีเขียวต่อไปได้ในอนาคต ซึ่งปัจจุบันไฮโดรเจนสีเขียวเป็นเชื้อเพลิงที่มีการวิจัยและพัฒนา (R&D) ของค่ายรถยนต์ทั้งในยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงแห่งอนาคตที่ไม่สร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม