‘บางกอกแอร์เวย์ส’เร่งพลิกกำไร ลุยฟื้นธุรกิจ‘ลดฝูงบิน-พนักงาน’

‘บางกอกแอร์เวย์ส’เร่งพลิกกำไร  ลุยฟื้นธุรกิจ‘ลดฝูงบิน-พนักงาน’

ผ่าแผนฟื้นธุรกิจ “บางกอกแอร์เวย์ส” เข้มบริหารสภาพคล่อง หวังพลิกทำกำไรปี 65 เดินหน้าลดฝูงบิน เขย่าบุคลากรต่อ หลังลดพนักงาน 30% ทยอยเปิดบินใน-ต่างประเทศ ลุ้น 3 ปีการบินทั่วโลกปกติ เดินหน้าตอกเสาเข็มอู่ตะเภาปี 66 ไม่ปรับแผนลงทุน 4 เฟส มั่นการบินฟื้นตัวทันเปิดบริการปี 68

ปฏิบัติการกอบกู้ธุรกิจสายการบินให้ฟื้นตัวอย่างเร่งด่วนของ “บางกอกแอร์เวย์ส” มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างรายได้และกำไรให้ได้มากที่สุด

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจสายการบินทั่วโลกเริ่มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ผู้คนเริ่มเดินทางท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่นเดียวกับประเทศไทยธุรกิจสายการบินเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น หลังรัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศ 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไทยพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติในการเดินทางราว 50% เมื่อนักท่องเที่ยวยังไม่กลับเข้ามาจึงยังไม่สามารถกอบกู้ภาพรวมธุรกิจให้ฟื้นตัวมากนัก

ทั้งนี้ แนวโน้มธุรกิจสายการบินจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติเช่นเดียวกับปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด คาดใช้เวลาราว 3 ปี หรือเริ่มเห็นภาพในปี 2567 ส่วนปีหน้าการฟื้นตัวจะทยอยปรับตัวดีขึ้นจากนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาราว 30-50% ปี 2566 จะเห็นกลับเข้ามา 60-80%

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ธุรกิจยังต้องปรับตัว บริหารจัดการความเสี่ยง ลดต้นทุนอย่างงต่อเนื่อง โดยแผนการขับเคลื่อนธุรกิจของบางกอกแอร์เวย์ส จะทำการลดฝูงบินให้เหลือ 30 ลำ จากปัจจุบันอยู่ที่ 38 ลำ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 6-8 ล้านดอลลาร์ต่อลำ หรือเฉลี่ย 300-400 ล้านบาท และเจรจาผู้ให้เช่าในการคืนฝูงบินปีนี้ 2 ลำ จากเดิมจะคืน 1 ลำ โดยดึงฝูงบินที่จะคืนในปี 2565 จำนวน 6 ลำมาคืนเร็วขึ้น 1 ลำ

‘บางกอกแอร์เวย์ส’เร่งพลิกกำไร  ลุยฟื้นธุรกิจ‘ลดฝูงบิน-พนักงาน’

++ เขย่าบุคลากรเหมาะสมปริมาณงาน

นอกจากนี้ มีการบริหารจัดการด้านบุคลากรให้สอดคล้องกับปริมาณงานที่มี แต่ไม่สามารถระบุได้จะต้องลดคนจำนวนเท่าใด แต่ 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทลดพนักงานจากการสมัครใจลาออก หมดสัญญาจ้าง คิดเป็นสัดส่วน 30% จากก่อนวิกฤติโควิดบริษัทมีพนักงานกว่า 3,000 คน ปัจจุบันเหลือกว่า 2,000 คน

“ที่ผ่านมา พนักงานลดลงอย่างต่อเนื่อง ปีหน้าอาจต้องลดลงอีกเล็กน้อย เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณงานที่มี ขณะที่ค่าใช้จ่ายเครื่องบินเราต้องปรับฝูงบินที่มีให้ลดลง ไตรมาส 3 บริษัทมีฝูงบิน 38 ลำ กำลังเจรจาขาย 2 ลำ และคืนผู้เช่า ทำให้ทั้งปีจะเหลือฝูงบิน 35 ลำ แต่ปีหน้าจะเหลือ 30 ลำ”

การปรับลดขนาดธุรกิจหรือดาวน์ไซส์ครั้งนี้ หากธุรกิจท่องเที่ยวฟื้นตัวกลับมา เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัท เพราะปัจจุบันซัพพลายเครื่องบินในตลาดมีมาก คาดว่าจะหามาให้บริการลูกค้าได้สอดคล้องกับสถานการณ์

‘บางกอกแอร์เวย์ส’เร่งพลิกกำไร  ลุยฟื้นธุรกิจ‘ลดฝูงบิน-พนักงาน’

++เปิดเส้นทางบินหารายได้

ทั้งนี้ ไตรมาส 3 ซึ่งมีการล็อกดาวน์ ห้ามพื้นที่สีแดงเดินทาง ทำให้บริษัทต้องหยุดบินในเส้นทางต่างๆ แต่การเปิดเมืองทำให้เริ่มกลับมาบินอีกครั้ง โดยแบ่งกลุ่มเป็นดังนี้ กลุ่มเอ เปิดให้บริการแล้วและเปิดเพิ่ม 3 เส้นทางไป-กลับ ได้แก่ กรุงเทพฯ-พนมเปญ, ภูเก็ต-อู่ตะเภา และสมุย-อู่ตะเภา ตั้งแต่ 1 ธ.ค.2564 กลุ่มบี ไป-กลับ สมุย-ฮ่องกง, สมุย-เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ-กระบี่ เริ่มเมษายน-ตุลาคม 2565 กลุ่มซี เที่ยวเดียวได้แก่ เชียงใหม่-ภูเก็ต, เชียงใหม่-กระบี่ ส่วนไป-กลับ ได้แก่ สมุย-กระบี่, กรุงเทพฯ-หลวงพระบาง, กรุงเทพฯ-ย่างกุ้ง, กรุงเทพฯ-ดานัง, กรุงเทพฯ-มัลดีฟส์ และกรุงเทพฯ-เสียมเรียบ เริ่มปลายเดือน ต.ค.2565

“เราต้องมองหาโอกาส เพื่อกลับเข้าไปทำการบิน กลับเข้าตลาดให้เร็วที่สุด”

ทั้งนี้ หลังกลับมาบิน พบยอดจองตั๋วเดือนธันวาคมราว 50,000 ใบ หรือคิดเป็น 30% ของอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร(Load Factor) ขณะที่เส้นทางบินพระเอกยังคงเป็นกรุงเทพฯ-สมุยอยู่ทีท 30-40% แม้ดีกว่าที่ผ่านมา แต่เมื่อเทียบกับอัตราผลตอบแทน(ยีลด์)ของการบินต่างประเทศยังต่ำกว่าถึง 30-40%

‘บางกอกแอร์เวย์ส’เร่งพลิกกำไร  ลุยฟื้นธุรกิจ‘ลดฝูงบิน-พนักงาน’ การเดินทางทั่วโลกเริ่มฟื้นตัว

++สิ้นหวังซอฟท์โลนต่อลมหายใจสายการบิน

อย่างไรก็ดี เกือบ 2 ปีที่เผชิญวิกฤติโควิด-19 ระบาด ธุรกิจสายการบินเผชิญภาวะขาดสภาพคล่องอย่างหนัก ซึ่งสมาคมสมาคมสายการบินประเทศไทยเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย หรือดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟท์โลน) แต่จากการหารือกันหลายวาระ ทำให้หมดหวังจะได้เงินช่วยเหลือจากรัฐบาล เนื่องจากหลายธุรกิจทั้งโรงแรม สปา เดือดร้อนเช่นกัน หากช่วยแค่สายการบินอาจเกิดการลักลั่น ไม่เสมอภาค

“7 สายการบินในสมาคมฯหารือกับรัฐทั้งพบกับรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อาคม เติมพิทยาไพสิฐ ที่พยายามหาวิธีการ ลู่ทาง แต่สุดท้ายคงไม่สามารถช่วยตรงนี้ได้ หากรัฐช่วยเหลือต้องเสมอภาคกัน เพราะมีหลายธุรกิจเดือดร้อน ไม่เฉพาะธุรกิจสายการบิน ผู้ประกอบการจึงต้องหาวิธีอื่นต่อไป”

ขณะที่บริษัทได้หารือกับสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อขอสินเชื่อมาเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจ และดูแลพนักงาน รวมถึงการยกเลิกสัญญาเช่ากองทุนรวมสิทธิ์การเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินสมุย เพื่อลดภาระทางการเงิน

“เรามีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานหรือโอเปอเรชั่น คอสต์ราว 300 ล้านบาทต่อเดือน จึงต้องหารายได้มากลับให้ได้ ยิ่งเร็วยิ่งดี เพื่อให้เลือดหยุดไหล”

++ลุ้นปี 65 พลิกโกยกำไร

สำหรับภาพรวมผลประกอบการไตรมาส 9 เดือนแรก บริษัท มีรายได้รวม 3,472.4 ล้านบาท ลดลง 57.5% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และขาดทุน 8,441.7 ล้านบาท โดยมีผลจากการยกเลิกสัญญาเช่ากองทุนอสังหาริมทรัพย์สนามบินสมุย 5,434.7 ล้านบาท หากพิจารณาเฉพาะการดำเนินงานขาดทุนกว่า 1,000 ล้านบาท

‘บางกอกแอร์เวย์ส’เร่งพลิกกำไร  ลุยฟื้นธุรกิจ‘ลดฝูงบิน-พนักงาน’

วิกฤติโควิดส่งผลกระทบต่อนักเดินทางลดลงจาก 1.5 ล้านราย เหลือเพียง 2.72 แสนราย เที่ยวบินจาก 20,270 เที่ยว เหลือ 4,886 เที่ยว

การปรับแผนธุรกิจ การกลับมาบินอีกครั้ง บริษัทต้องการพลิกทำกำไรในปี 2565 แต่ตัวแปรสำคัญคือราคาพลังงานที่พุ่งแตะ 70-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มเท่าตัวจาก 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลช่วงก่อนโควิด จึงเป็นโจทย์ที่ไม่ง่าย

“ใจอยากเห็นบางกอกแอร์เวย์สกลับมาทำกำไรปีหน้า แต่ของจริงตอบยาก เรามีการเปลี่ยนแปลงค่าใช้จ่ายต่างๆ รายได้ทยอยกลับมา แต่กลับมีเรื่องน้ำมันแพงเท่าตัวให้ต้องจับตามอง เพราะถือเป็นต้นทุนใหญ่ของสายการบิน และแม้เริ่มกลับมาบินได้ หากผู้โดยสารเพิ่มตามไม่ทันหรือหล่อเลี้ยงธุรกิจได้ การทำกำไรก็ไม่ได้”

++ ตอกเสาเข็มอู่ตะเภาปี66

นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA กำลังเจรจากับภาครัฐในส่วนของแผนดำเนินงานหลังส่งแผนแม่บทการพัฒนาให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ช่วงกลางปี 2564 ซึ่งเป็นไปตามแผนงานโดย UTA ลงพื้นที่ปิดรั้วเตรียมงานก่อสร้างรวมทั้งดำเนินการขอใบอนุญาตประกอบกิจการ และจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA)จึงคาดว่าจะดำเนินการตามแผนและตอกเสาเข็มเริ่มก่อสร้างปี 2566

“คอนเซ็ปต์พัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกจะสร้างเป็นเมืองที่น่าสนใจนอกเหนือจากการเดินทาง สร้างให้เมืองการบินเป็นศูนย์กลางภูมิภาค รองรับเที่ยวบินในประเทศ ต่างประเทศ และเชื่อมเส้นทางบินแบบPoint-to-point”

นอกจากนี้ ได้จ้างทีมบริหารสนามบินนาริตะ ประเทศญี่ปุ่นมาเป็นผู้บริหาร โดยจะเน้นความทันสมัยนำเทคโนโลยีมาให้บริการ เพื่อตอบรับความเปลี่ยนแปลงหลังมีโควิด-19 ที่ต้องลดการสัมผัส อีกทั้งจะเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค

แม้มีโควิด-19แต่การเดินทางเริ่มฟื้นต่อเนื่อง โดยปีแรกของการเปิดบริการสนามบินปี 2568 ประเมินว่าผู้โดยสารอาจไม่เติบโตตามที่ประเมินไว้ แต่หากการเดินทางในอาเซียนกลับมาขยายตัวเช่นเดิม ปริมาณผู้โดยสารของอู่ตะเภาจะไม่ได้รับผลกระทบนัก หรือหากมีกรณีอัดอั้นการเดินทางเกิดขึ้น อาจส่งผลให้ผู้โดยสารโตก้าวกระโดด

“ในเอเชียก่อนเกิดโควิด-19 มีการเดินทางสูงกว่าภูมิภาคอื่นจึงคิดว่าแม้จะมีโควิดก็มองว่าผู้โดยสารอาจชะงักบ้าง ไม่เติบโตตามที่คาดการณ์ไว้ แต่คงไม่มีผลเท่าไหร่ดังนั้นการจราจรในปีแรกที่อู่ตะเภาเปิดจะมีผู้โดยสารกลับมาแล้ว”

‘บางกอกแอร์เวย์ส’เร่งพลิกกำไร  ลุยฟื้นธุรกิจ‘ลดฝูงบิน-พนักงาน’

++ ไม่ขอเยียวยาผลกระทบจากรัฐ

ส่วนแผนลงทุนพัฒนาสนามบินแม้มีการระบาดของโควิด-19ที่มีผลต่ออุตสาหกรรมการบิน แต่ยังคงแผนลงทุนเช่นเดิม4 ระยะและจะไม่เจรจาขอเยียวยาจากภาครัฐ เพราะเชื่อว่าธุรกิจการบินที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ มีความต้องการการเดินทาง และจะเป็นโครงการที่สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ ดังนั้นคงไม่นำการเยียวยามาเป็นเงื่อนไขต่อรอง ไม่มองผลประโยชน์ส่วนตัว ต้องมองที่ผลประโยชน์ส่วนรวม

ทั้งนี้ โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโดยใช้เงินลงทุน290,000 ล้านบาท แบ่งการลงทุนออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 งบลงทุน 31,290 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารขนาด 157,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 15.9 ล้านคนต่อปี

ระยะที่ 2 งบลงทุน 23,852 ล้านบาท พัฒนาอาคารผู้โดยสารมีพื้นที่เพิ่ม107,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารสูงสุด 30 ล้านคนต่อปี

ระยะที่ 3 งบลงทุน 31,377 ล้านบาทต่อขยายอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติมจากระยะที่ 2 กว่า 107,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 45 ล้านคนต่อปี ระยะที่ 4 งบลงทุน 38,198 ล้านบาท มีพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังที่2เพิ่มขึ้น82,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารสูงสุด 60 ล้านคนต่อปี