ถอดรหัส ‘ภาษีคาร์บอน’ ‘สรรพสามิต’ เล็งนำร่องธุรกิจพลังงาน

ถอดรหัส ‘ภาษีคาร์บอน’ ‘สรรพสามิต’ เล็งนำร่องธุรกิจพลังงาน

ทั่วโลกต่างรณรงค์สู่สังคมคาร์บอนต่ำ ประเทศไทยได้กำหนดโรดแมปในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันลดปัญหาโลกร้อน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ประกาศโรดแมปประเทศไทยแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ปี 2030 ปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง 40% และปี 2050 จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2065

ศึกษาเพดานโรงงานปล่อยก๊าซ

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า การจะนำพาประเทศไทยไปสู่ประเทศคาร์บอนต่ำ กรมสรรพสามิต จะศึกษา 2 แนวทางที่ต่างประเทศได้เริ่มใช้กันแล้ว คือ

1.Carbon Tax หรือ ภาษีคาร์บอน โดยกำหนดปริมาณที่อนุญาตให้โรงงานปล่อยได้ และถ้าปล่อยเกินกำหนดต้องเสียภาษีตามที่กำหนด ซึ่งสิงคโปร์นำมาใช้ในปี 2019 ส่วนญี่ปุ่นนำมาใช้ในปี 2015

2.การซื้อขายแลกเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจก ซึ่งบางอุตสาหกรรมอาจปล่อยคาร์บอนจำนวนมาก ต้องซื้อคาร์บอนมาจากอุตสาหกรรมที่ปล่อยน้อย โดยจีนและเยอรมันเริ่มใช้วิธีนี้เมื่อต้นปี 2564 ที่ผ่านมา ดังนั้น ไทยอาจนำ 2 วิธีนี้มาใช้

บังคับภาคพลังงาน

ทั้งนี้ ทั้งภาคพลังงานเป็นธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนมากที่สุด ดังนั้น ภาคพลังงานอาจเป็นภาคแรกที่ต้องกำหนดมาตรการดูแลการปล่อยคาร์บอน อย่างไรก็ตาม การประกาศเป้าหมาย ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมได้เริ่มมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการลดคาร์บอนและอาจเร็วกว่าโรดแมปของไทย ซึ่งเชื่อว่าไทยจะมีอนาคตที่ดี ดังนั้น มาตรการภาษีคาร์บอนจะเป็นตัวเร่งให้เร็วและเป็นรูปธรรม

“สิ่งที่กล่าวมาถือเป็นเรื่องที่กรมสรรพสามิตต้องเตรียมเครื่องมือให้กับรัฐบาล ซึ่งเมื่อถึงวันที่รัฐบาลจะใช้เครื่องมือใดให้เหมาะสมก็ต้องมีความพร้อมโดยเฉพาะภาษีคาร์บอนที่จะใช้เมื่อไหร่ขึ้นกับนโยบาย ซึ่งอาจเพิ่มต้นทุนให้ภาคอุตสาหกรรมแต่จะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน

ภาษีรถใหม่เข้มปล่อยคาร์บอน

ทั้งนี้ กรมสรรพสามิต มีแนวทางปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์รอบต่อไป โดยมีมาตรฐานการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เข้มขึ้น ซึ่งเดิมอาจมองว่าปล่อยก๊าซไม่เกิน 150 กรัมต่อกิโลเมตร แต่ตอนนี้ควรต่ำกว่า 100 กรัมต่อกิโลเมตร ซึ่งเริ่มหารือกับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์แล้ว 

ส่วนรถ EV จะมีแนวทางมาตรการประกาศชัดเจนต้นปี 2565 โดยเดือน ธ.ค.2564 รัฐบาลจะประกาศนโยบายเพื่อให้รถยนต์ไฟฟ้าลดการปล่อยคาร์บอน

“สุดท้ายหากรัฐบาลเก็บภาษีคาร์บอนจริง มีรายได้เพิ่มขึ้น จำนวนเงินจะถูกส่งไปช่วยกระบวนการผลิตที่สะอาด สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องมาดูจริงจัง ไม่ใช่ปัญหาของบริษัทเล็กหรือบริษัทใหญ่ อยู่ที่ว่าเราทำหรือดูแลการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนอย่างจริงจัง และทุกคนมีหน้าที่ส่งต่อโลกที่สะอาดกว่านี้ให้คนรุ่นต่อไป”

ไม่ควรเก็บภาษีคาร์บอนตอนนี้

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ต้องขอดูโครงสร้างก่อนว่าเป็นอย่างไร ตอนนี้ ส.อ.ท.ได้เริ่มเรื่องของคาร์บอนเครดิต ที่จะเปิดซื้อขายในเดือนมกราคา2565 มองว่าการเปิดซื้อขายคาร์บอน เอกชนทำได้ดีกว่า เพราะคนที่สร้างคาร์บอน ก็จะได้รับการกีดกันอยู่แล้ว การส่งออกจะมีปัญหา และต้องเสียภาษี

ดังนั้น การจะเก็บภาษีคาร์บอนในช่วงนี้ ส่วนตัวยังไม่เห็นด้วย เพราะยิ่งภาวะเศรษฐกิจยังไม่ดี ก็ควรปล่อยให้กลไกเป็นตัวกำหนด สิ่งที่ควรทำตอนนี้คือ ประชาสัมพันธ์ในเรื่องของโทษของการปล่อยคาร์บอนออกมามากมาย เพื่อให้ทุกคนเข้าใจว่าจะต้องพยายามลดการปล่อยคาร์บอนลง

“สำหรับ 2 แนวทางดังกล่าว มองว่าการซื้อขายคาร์บอนในประเทศไทยต้องมีอยู่แล้ว เพราะทั่วโลกใช้วิธีนี้ ตอนนี้ ส.อ.ท.เป็นศูนย์กลางจัดทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพราะเราจับมือกับสถาบันก๊าซเรือนกระจก เซ็น MOU กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รจัดตั้งสถาบันขึ้นมา จึงอยากให้ดูว่าหลังจากที่เราเริ่มทำ เริ่มประชาสัมพันธ์ มีการตระหนักถึงปัญหาคาร์บอนมากน้อยแค่ไหน จึงค่อยมาดูในเรื่องของภาษีคาร์บอน ควรรอให้เศรษฐกิจเริ่มดีก่อน”

กฎหมายต้องชัดเจน

นายนที สิทธิประศาสน์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ทั้ง 2 แนวทางเป็นหลักการที่ดี เรื่องภาษีคาร์บอนได้พูดกันมานานแล้ว ใครเป็นคนปล่อยก็ต้องจ่ายเงิน เพื่อมาเป็นงบประมาณของรัฐบาล และใช้เครื่องมือต่างๆ เศรษฐกิจที่ดีขึ้น เป็นการใช้กลไกภาครัฐเป็นตัวกำหนด ในขณะที่การซื้อขายแลกเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจก เป็นอีกเรื่องน่าสนใจ โดยใช้กลไกตลาดเป็นตัวกำหนด

อย่างไรก็ตาม นโยบายรัฐบังคับจะเหมือนกันหมด ถ้ารัฐไม่ออกกฎหมายจะบังคับใครไม่ได้ ถ้าประเทศไทยจะทำ อันดับแรกอาจจะมุ่งเป้าไปที่โรงไฟฟ้าถ่านหินก่อน ซึ่งคงจะต้องเสียภาษีเยอะกว่าโรงงานธรรมชาติ หรือกลุ่มโรงงานที่ปล่อยก๊าซจะอยู่ในเป้าหมายรับบาล ถ้าเขียนกฎหมายก็มาจะต้องลงรายละเอียดให้ชัดเจนว่าจะมุ่งไปที่โรงไฟฟ้า หรือโรงงานแบบไหน และต้องมีการวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ที่จะดูว่าจะมีปริมาณเท่าไหร่ ต้องเสียภาษีเท่าไหร่ เป็นต้น

ในขณะที่ การซื้อขายแลกเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจก จะเป็นการเปิดกว้าง และขึ้นกับแต่ละประเทศว่าจะใช้หลักการไหนเหมาะสมสุด ซึ่ง10 ปีที่ผ่านมามีการศึกษาบ้างแล้ว แต่ตอนนั้นมีแรงกดดันไม่มากเท่านี้ เลยเป็นภาคสมัครใจ แต่ขณะนี้นานาประเทศประกาศการลดคาร์บอน การเพิ่มต้นทุนในการลดคาร์บอนจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ การกีดกันทางการค้าจะสาหัสกว่าโดยจะส่งผลไปถึงการขายสินค้าไม่ได้ ดังนั้น เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน เงื่อนไขเปลี่ยน

ผู้เกี่ยวข้องร่วมกำหนดนโยบาย

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลและนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ถ้ามองในแง่ของความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม คือ การรักษาควบคุมต้นทางภาพรวมของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะป่าต้องที่มีการปลูกเพิ่มเติม ปลูกฝังคนรุ่นใหม่ให้ช่วยกันแยกขยะ ลดการใช้พลาสติกและปลูกป่า การลดคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภาคธุรกิจหรือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรกำหนดนโยบายเป้าหมายจัดการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมควบคู่การดำเนินธุรกิจ ควรมีแผนชัดเจนว่าลดคาร์บอนให้ได้ในปี 2030

เตือนอียูเก็บภาษีคาร์บอนไทย

มาดามเยอราดีน มาบิไล ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการค้าและธุรกิจฝรั่งเศส-ไทย กล่าวว่า สิ่งสำคัญต้องทำให้ประชาชน และภาคธุรกิจต่างๆ รู้ถึงโอกาสทางธุรกิจ หากเร่งปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero ตั้งแต่โอกาสได้รับส่วนแบ่งทางการตลาดใหม่ๆ ความสามารถในการเข้าถึงการสนับสนุนภาคการเงิน และไม่ต้องเผชิญอุปสรรคการค้า โดยในอนาคตอันใกล้ไทยอาจต้องเสียภาษีคาร์บอนให้สหภาพยุโรป (อียู) ที่กำลังกำหนดเรื่องนี้เป็นกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ