‘สุพัฒนพงษ์’ กางแผนพลิกโฉมประเทศ สร้างนิเวศน์เศรษฐกิจยั่งยืน
"สุพัฒนพงษ์" เผยแผนงานหนุนให้เอกชนดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง เร่งเจรจาซื้อวัคซีนเข็มกระตุ้นและยารักษา ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานปฏิวัติระบบรางคู่ ประกาศร่วมมือประชาคมโลกสู่อุตสาหกรรมยั่งยืน ชูต่างชาติพำนักระยะยาวเร่งเครื่องการพัฒนาเทคโนโลยี
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนท่ามกลางความท้าทาย" ในงานสัมมนาหอการค้า ทั่วประเทศครั้งที่ 39 ว่า รัฐบาลมีการเตรียมความพร้อมเพื่อให้เอกชนดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องหลังการเปิดประเทศ โดยมีแผนการดำเนินงานระยะสั้น คือ การเตรียมวัคซีน 120 ล้านโดส ในปี 2565 เพื่อเป็นหลักประกันให้ประชาชนในประเทศได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น นอกจากนี้มีการจัดซื้อเตรียมยา เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต การเจ็บป่วยวิกฤติ และเตียงโรงพยาบาลเต็ม
ส่วนแผนดำเนินการในระยะยาว เป็นการลงทุนที่จะเห็นผลในอีก 4-5 ปีข้างหน้า ในประเด็นแรกคือให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคด้วยการปฏิวัติการขนส่งทางรางสู่ระบบรางคู่ เชื่อมโยงการขนส่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร การข่นส่งสินค้าสะดวกขึ้น การสัญจรที่รวดเร็วขึ้น เกิดการกระจายตัวไปยังภูมิภาคต่างๆ ไม่ใช่เพียงแต่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (อีอีซี) แต่จะขยายไปทั่วประเทศและต่างประเทศ สนับสนุนให้เกิดเส้นทางการค้าซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการดำเนินธุรกิจและการสร้างเศรษฐกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้น
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้ประกาศจุดยืนในการร่วมมือกับประชาสังคมโลกในการแก้ปัญหาโลกร้อนบนเวที COP26 มุ่งผันตัวเองจากเดิมที่เป็นประเทศกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 300 ล้านตันต่อปี ซึ่งสร้างภาระในการซื้อคาร์บอนเครดิตถึง 300,000 ล้านปาทต่อปี รัฐบาลจึงตั้งใจปรับให้ไทยก้าวสู่การเป็นประเทศลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ที่เกี่ยวกับพลังงานสะอาด เมืองน่าอยู่ การปลูกป่า และโมเดลความยั่งยืน โมเดล BCG เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า การใช้เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมเพื่อประหยัดพลังงาน
ทั้งนี้ โมเดลอุตสาหกรรมยั่งยืนเป็นแนวทางอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อปกป้องความเสี่ยงในการถูกปฏิเสธการขายสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนสูง โดยภาครัฐจะมีการส่งเสริมมาตรการและสิทธิประโยชน์เพื่อผลักดันให้ไทยก้าวไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในอีก 20-30 ปี ข้างหน้า
ประเด็นที่สาม แผนเชิญชวนให้มีผู้พำนักระยะยาวในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีความรู้ความสามารถ ผู้มีฐานะ รวมถึงเด็กรุ่นใหม่ให้เข้ามาอยู่อาศัย เพื่อให้เกิดการลงทุน การถ่ายทอดความรู้ ซึ่งผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินงาน โดยในปี 2565 ตั้งเป้าไว้ว่าจะมีผู้พำนักระยะยาว 1,000,000 คน นอกจากจะสร้างรายได้ให้กับภาคการบริการและอสังหาริมทรพย์แล้ว ยังทำให้เกิดการพัฒนาในเรื่องใหม่ สร้างความร่วมมือกับคนไทยในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีให้มีความทันสมัยและเกิดได้เร็วขึ้น
"รัฐบาลได้ลงทุนเตรียมพร้อมระบบนิเวศให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยต้องการให้เอกชนเข้ามาใช้ประโยชน์และต่อยอด แล้วเงินกู้ที่เค้าบอกว่าเป็นรัฐบาลจอมกู้ ไม่ได้ไปไหนนะครับ เงินกู้ทั้งหมดได้ถูกทุ่มเทไปกับการวางโครงสร้างพื้นฐาน พลิกโฉมประเทศเพื่อประโยชน์ของพวกเราทุกคน" นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว