เปลี่ยนผ่านพลังงาน ปลดระวาง "ถ่านหิน" สู่เป้าลดก๊าซเรือนกระจก

เปลี่ยนผ่านพลังงาน ปลดระวาง "ถ่านหิน" สู่เป้าลดก๊าซเรือนกระจก

แม้ในการประชุม "COP26" จะมีการปรับถ้อยคำในข้อตกลงจาก ยุติการใช้ถ่านหิน เป็น ลดการใช้ถ่านหิน อย่างไรก็ตาม "ถ่านหิน" ยังคงเป็นเป้าหมายสำคัญ เพื่อการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายลดโลกร้อน

ภายหลังการประชุมสมัชชาประเทศภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์ โดยมีการบรรลุข้อตกลงเพื่อควบคุมปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการผลักดันให้ยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เป้าหมายในการจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

 

การประชุมดังกล่าว ทำให้ได้เห็นการร่วมมือกันระหว่าง สหรัฐอเมริการและจีน ซึ่งประกาศเพิ่มความร่วมมือด้านการปกป้องสภาพภูมิอากาศระหว่างกันในช่วง 10 ปีข้างหน้า โดยเห็นชอบร่วมกันในประเด็นการปล่อยมีเทน และเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยคาร์บอนเหลือศูนย์ เพื่อบรรลุเป้าหมายการควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ที่ตั้งไว้ในข้อตกลงปารีสปี 2015 ในฐานะผู้ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก 2 ประเทศ

 

รวมไปถึงผู้นำกว่าร้อยประเทศที่ร่วมยุติการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2030 อย่างไรก็ตาม เนื้อหาบางส่วนในการประชุม COP26 อาจยังไม่เป็นไปตามเป้า เนื่องจากอินเดียได้เสนอให้มีการแก้ไขถ้อยคำในข้อตกลงว่าด้วยการใช้ พลังงานถ่านหิน จาก “ยุติการใช้ถ่านหิน” มาเป็นคำว่า “ลดการใช้ถ่านหิน”

 

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ผลจากการประชุม COP26 เหมือนเป็นการประณีประนอมในเนื้อหา ภาษาที่ใช้ เช่น การระบุจากคำว่าเลิกใช้ถ่านหิน มาใช้ “ลดการใช้” แทน อย่างไรก็ตาม อนาคต การลดละเลิกใช้ถ่านหิน ก็น่าจะเป็นแนวโน้มที่มาแรงมาก จำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่พลังงานยั่งยืน ลดละเลิกการใช้ถ่านหินโดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้า

 “โดยรวม จะเรียกว่าความล้มเหลวก็ไม่เชิงแต่ไม่บรรลุเป้าหมายที่วางเอาไว้ เพราะตั้งเป้าเลิกใช้ถ่านหิน เนื้อหาชัดเจน เข้มแข็ง มุ่งมั่น ในการเจรจา โดยตอนท้ายนายอาล็อก ชาร์มา ประธานการประชุม รู้สึกผิดหวัง และเสียใจ กับเนื้อหาความตกลงที่ไม่ได้เป็นไปตามเป้าที่ตั้งเอาไว้ หลายประเด็นจะต้องไปคุยต่อที่การประชุม COP ครั้งหน้าที่อียิปต์”

 

ขณะเดียวกัน ประเทศไทย โดย นายกรัฐมนตรี ได้ขึ้นกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) โดยได้กล่าวถึงการดำเนินงานของประเทศไทยที่ผ่านมา ซึ่งได้ทำในสิ่งที่ให้คำมั่นไว้กับประชาคมระหว่างประเทศทั้งหมด และปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และแข็งขัน 

 

ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทยกำหนดเป้าหมาย NAMA (Nationally Appropriate Mitigation Action) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในภาคพลังงานและขนส่งอย่างน้อยร้อยละ 7 ภายในปี พ.ศ.2563 แต่ทว่าในปี พ.ศ.2562 ประเทศไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึงร้อยละ 17 เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้กว่า 2 เท่า และก่อนเวลาที่ได้กำหนดเป็นเป้าหมายไว้ด้วยมากกว่า 1 ปี

 

พร้อมกันนี้ ได้แถลงจุดยืน ยกระดับดำเนินการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่และทุกวิถีทาง เพื่อให้การปล่อย ก๊าซเรือนกระจก จากวันนี้ถึงปี พ.ศ.2573 ลดลงร้อยละ 40 ซึ่งจะสามารถทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการ ปล่อย ก๊าซคาร์บอน สุทธิเป็นศูนย์ (carbon neutrality) ภายในปี พ.ศ.2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero greenhouse gas emission) ภายในหรือก่อนกว่าปี พ.ศ.2608 ได้

  • ปลดระวาง "ถ่านหิน" เปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม

 

ธารา กล่าวต่อไปว่า เรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำคือ เรื่องการปลดระวางถ่านหินในไทย สามารถทำได้เลย เพราะระบบการผลิตไฟฟ้าไทยเกินความต้องการ ไฟฟ้าสำรองเยอะเกินไปไม่จำเป็น ผลิตออกมา 100 แต่ใช้ 50 ขณะที่ประเทศไทยใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้า 17 % ซึ่งหากปลดระวางถ่านหินต้องคิดตั้งแต่ตอนนี้ เพราะกระทบการจ้างงาน และการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมให้กับซัพพลายเชนในการใช้ถ่านหิน ไม่ว่าคนงานในเหมือง หรือ การที่จะต้องชดเชยค่าลงทุนในเอกชน เป็นต้น หากเราปลดระบวางได้ จะช่วยลด ก๊าซเรือนกระจก ลง 9-10 ปีข้างหน้า กว่า 130 ล้านตัน เกือบครึ่งของเป้าหมาย 40%

 

"หากทำตรงนี้ได้ จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบพลังงานที่มั่นคง หลากหลายมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีต่างๆ พลังงานหมุนเวียน ที่ไม่ใช่แค่โซล่าเซลล์อย่างเดียวต้องวางแผน ตอนนี้ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ตั้งกองทุน ช่วยเหลือประเทศในเอเชีย ปลดระวางถ่านหิน กองทุนระดับแสนล้าน ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือความช่วยเหลือทางการเงิน เป็นความช่วยเหลือกลไกทางการเงินระหว่างประเทศ สามารถใช้โอกาสนี้ได้ หากเราไม่ปลดระวางถ่านหิน ก็ยากมาก เพราะเปลี่ยนรถยนต์ไฟฟ้าก็ได้ไม่เยอะ หรือจะปลูกป่าล้านไร่ดูดซับคาร์บอนได้มากที่สุดร้อยล้านตัน เพราะป่าพอดูดซับคาร์บอนไประยะหนึ่งอัตราจะคงที่ไม่ได้เพิ่ม” 

 

“อุปสรรค คือ การที่ต้องพูดคุยกับภาคอุตสาหกรรมถ่านหิน หากจะเปลี่ยนผ่านต้องเปลี่ยนผ่านเป็นธรรมกับเขาด้วย เพื่อให้ไทยมุ่งไปสู่ระบบพลังงานยั่งยืน ซึ่งคงต้องเป็นหน้าที่ของภาครัฐ เพราะรัฐประกาศไว้ 40% ดังนั้น เลี่ยงไม่ได้ที่จะทำเรื่องพลังงาน เพราะภาคพลังงาน ขนส่ง ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด หากเรามีระบบราง รถไฟฟ้า ก็ต้องมีไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวีนมากกว่าฟอสซิล ไม่เช่นนั้นก๊าซเรือนกระจกก็จะไม่ลดลง ดังนั้น ต้องทำทั้งหมด ทั้งภาคขนส่ง ไฟฟ้า อุตสาหกรรม” ธารา กล่าวทิ้งท้าย

 

  • COP26 ข้อตกลงรับมือโลกร้อน

 

ตัวแทนจากประเทศต่างๆร่วม 220 ประเทศบรรลุข้อตกลงต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หลังจากใช้เวลาเจรจายาวนานถึง 2 สัปดาห์ โดยเนื้อหาในข้อตกลงเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ เร่งความพยายามลดการใช้ถ่านหินและค่อยๆเลิกอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไร้ประสิทธิภาพ ข้อตกลงยังเรียกร้องทุกประเทศเร่งลดการปล่อยมลพิษด้วยการยื่นแผนระดับชาติใหม่ภายในปี 2565 หรือเร็วกว่าที่ตกลงกันในความตกลงปารีส 3 ปี

 

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แสดงความยินดีต่อข้อตกลงดังกล่าว แต่เน้นย้ำว่ายังไม่เพียงพอ เพราะโลกยังคงต้อนรับหายนะจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ  

 

ในการประชุม COP26 สหรัฐและจีน รับปากว่า จะเพิ่มความร่วมมือด้านการปกป้องสภาพภูมิอากาศระหว่างกันในช่วง 10 ปีข้างหน้า ครอบคลุมถึงลดการปล่อยก๊าซมีเทน การเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด และลดการปล่อยคาร์บอนลงจนเหลือศูนย์

 

ผู้นำจากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีพื้นที่ป่ารวมกันคิดเป็น 85% ของป่าไม้ทั่วโลก รับปากว่าจะยุติการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2573 และเห็นชอบกับโครงการตัดลดการปล่อยมีเทนลง 30% ภายในปี 2573 นอกจากนี้กว่า 40 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศที่ใช้ถ่านหินรายใหญ่อย่างโปแลนด์ เวียดนาม และชิลี เห็นชอบที่จะเลิกใช้ถ่านหิน

 

ส่วนสถาบันการเงินประมาณ 450 แห่ง ซึ่งควบคุมเงินประมาณ 130 ล้านล้านดอลลาร์ เห็นชอบที่จะสนับสนุนเทคโนโลยีสะอาด เช่นพลังงานหมุนเวียน และปฏิเสธที่จะให้การสนับสนุนทางการเงินแก่อุตสาหกรรมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล