“ดีลใหญ่ – เกมพลิก”กลุ่มสื่อสาร สั่นคลอนบัลลังก์เบอร์ 1
“ข่าวลือ” กลายเป็น “ข่าวจริง” จนเกิดบิ๊กดีลในกลุ่ม “ธุรกิจสื่อสาร” ระหว่างโอเปอเรเตอร์เบอร์ 2 และเบอร์ 3 จับมือร่วมกันทำธุรกิจ ซึ่งปรากฎการณ์นี้มีคำถามอีกหลายมิติรวมไปถึงการตั้งรับหรือชิงรุก(มากขึ้น) ของ เบอร์ 1 อย่าง “แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ” หรือ AIS
ตลอดระยะเวลา 20ปีที่ผ่านการเติบโตในตลาดสื่อสารของไทยเป็นแหล่งขุมทรัพย์ใหญ่ จากการเติบโตทางเศรษฐกิจ จำนวนประชากร การบริโภคเพิ่มขึ้น ภาคการท่องเที่ยวบูมสุดขีด หนุนความต้องการเข้าถึงระบบอินเตอร์ และโซเซียลมีเดีย สะท้อนได้จากประเทศไทยติดอันดับการใช้โซเซียลมีเดียของโลก
ด้วยธุรกิจดังกล่าวเป็นสัมปทานที่รัฐควบคุม และเงินลงทุนที่สูงทำให้ผู้เล่นในตลาดมีน้อยผ่านเอกชนแค่ 3 ราย แม้จะมีรัฐวิสาหกิจเช่น ทีโอที หรือ กสท. โทรคมนาคม เข้ามาแต่ยังไม่สามารถแข่งขันได้เท่ากับเอกชน
เบอร์ 1 ที่ยืนหัวแถวธุรกิจดังกล่าวมาอย่างยาวนาน บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ซึ่งความแข็งแกร่งมาจากการกลุ่มตระกูล “ชินวัตร” ที่ผลักดันในการขีดความสามารถในการแข่งขันได้เปรียบคู่แข่งผ่านสัมปทานที่มีอยู่ในมือ และการแตกธุรกิจและมีโฮลดิ้งในการกระจายลงทุน
จนปี 2549 ADVANC มาอยู่ในมือของ “เทมาเส็ก” ที่เป็นทุนใหญ่เงินหนาเล็งผลการเติบโตของธุรกิจสื่อสารในไทยกล้าที่ทุ่มเงิน 73,271 ล้านบาท ที่ราคาหุ้นละ 49.25 บาท และตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา ADVANC ก็พิสูจณ์แล้วว่าคุ้มค่าการลงทุนมากแค่ไหนผ่านราคาหุ้น เงินปันผลสม่ำเสมอในอัตราสูงให้กับผู้ถือหุ้น
การจะคงเบอร์ 1 ในธุรกิจทำให้ ADVANC ต้องแข่งขันคว้าสัมปทานประมูลคลื่น 4G ตามมาด้วย 5G ด้วยมูลค่ามหาศาล และยังต้องเจอการพลิกสถานการณ์ของคู่แข่งอย่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ที่มุ่งมั่นทำการตลาดอย่างหนักผ่านธุรกิจค้าปลีกในกลุ่มทำให้ TRUE ขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 ในเวลาอันรวดเร็วแต่การขึ้นเป็นเบอร์ 1 ถือว่ายังยากลำบาก
ADVANC ชิงความได้เปรียบในการมีคลื่นในมือและฐานลูกค้าจำนวนมากเร่งสปีดเพิ่มคลื่นสัญญาณ 5G และการรุกเข้าสู่ตลาดอินเตอร์เน็ตบอร์ดแบนด์ถือว่าจุดบอดเพราะไม่มีลูกค้าในมือเลยซักราย แตกต่างจาก TRUE ที่ทำตลาดนี้มานานและมีฐานลูกค้ามาถึง 4.5 ล้านราย
ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ADVANC เร่งเพิ่มฐานลูกค้าในตลาดดังกล่าวเพื่อให้ถึงเป้าหมาย ซึ่งปัจจุบันตัวเลขสูงกว่าเป้าหมายที่วางอย่างรวดเร็ว จากไตรมาส 3 ปี 2564 มีผู้ใช้บริการ 1.66 ล้านรายเพิ่มขึ้น 151 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ค่าบริการเฉลี่ยหรือ ARPU ซึ่งสะท้อนการแข่งขันอยู่ที่ 455 บาทต่อเดือนต่อหมายเลข ลดลง 5.9 % ท่ามกลางการเสนอแพ็กเกจราคาบริการที่ต่ำ
นอกจากนี้ ADVANC ยังสู้ด้านคอนเทนต์ ผ่าน AIS Play เพราะด้าน TRUE มีธุรกิจทรู วิชั่น และ TRUE ID จึงมีการคว้าลิขสิทธิ์แม็กเน็ตสำคัญ Disney+ Hotstar ,ไทยลีก 2021-2022 , โอลิมปิก โตเกียว 2020 ซึ่ง TRUE มีคอนเทนต์เด็ดพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ไว้สู้ท่ามกลางเบอร์ 3 คือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ที่ไม่เห็นความเคลื่อนไหวในการทำตลาดเชิงรุกในไทยมีเพียงแค่การรักษาฐานที่มั่นที่ลูกค้าลดลงต่อเนื่อง
จนมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญของ ADVANC เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในช่วงปลายปี 2563 และ 2564 มีบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่มากกว่ากลุ่ม “เทมาเส็ก” และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) รุกธุรกิจดิจิทัลร่วมกัน
พร้อมกับเป้าหมายเป็น Digital Life Service Provider ด้วยเทคโนโลยีเมทาเวิร์ส (Metaverse) ทำให้ ADVANC มีโอกาสทิ้งห่างคู่แข่งในตลาดออกไปไกลจนอาจจะไล่ตามไม่ทัน เพราะเป้าหมายชัดเจนของ TRUE ภายใต้ธงใหญ่กลุ่ม ซีพี คือการเป็นเบอร์ 1 ในทุกธุรกิจที่เข้าไปลงทุนและทางลัดที่เร็วที่สุดการซื้อกิจการ หรือการร่วมลงทุน (JV) จนเกิดดีลใหญ่ร่วมกับ DTAC ตั้งบริษัทร่วมลงทุน “:ซิทริน โกลบอล ”
หากมองในมุมการแข่งขันเป็นเรื่องดีที่จะเหลือผู้เล่นน้อยลงจาก 3 รายเหลือ 2ราย ทำให้กลยุทธ์โฟกัสได้ง่านขึ้น แต่ต้องไม่ลืมว่าการที่เบอร์ 2 และ เบอร์ 3 รวมกันคือการหวังโค่นเบอร์ 1 ด้วยขีดความสามารถการแข่งขันที่ไม่ทิ้งห่างอย่างในอดีต
ราคาหุ้น ADVANC ตอบรับในเชิงบวก แต่ในอนาคตหากทำให้ฐานลูกค้าลดลง เกิดการย้ายค่าย กระทบรายได้ เป็นเรื่องที่เบอร์ต้องเผชิญแรงกดดันนับตั้งแต่นาทีเป็นต้นไป