‘ซี.พี.แลนด์’ เขย่าบัดเจ็ทโฮเทล ลุย ‘ฟอร์จูนดี’ ท้าชน ‘บีทู-ฮ็อปอินน์’
แม้ภาพรวมธุรกิจโรงแรมจะยังซมพิษไข้โควิด-19 แต่สำหรับ “ซี.พี.แลนด์” กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของ “เครือเจริญโภคภัณฑ์” ภายใต้ร่มเงา “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” ถึงคราวใส่เกียร์เดินหน้าลงทุน! เมื่อเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว
เก็บเกี่ยวบทเรียนที่ได้รับจากวิกฤติ พิชิตด้วยกลยุทธ์ปรับโฟกัสหันมาพัฒนาโรงแรมราคาประหยัดหรือ “บัดเจ็ท โฮเทล” (Budget Hotel) มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันยังมีผู้เล่นเจ้าใหญ่จำนวนน้อยราย เช่น แบรนด์ “ฮ็อปอินน์” ของดิเอราวัณกรุ๊ป และแบรนด์ “บีทู” ของกลุ่มจาวลา เชียงใหม่ กรุ๊ป
ถือเป็น “บลูโอเชียน” (Blue Ocean) ที่ ซี.พี.แลนด์ พร้อมกระโจนเข้าไปแหวกว่ายเต็มตัว!!
สุนทร อรุณานนท์ชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) และโรงแรมในเครือฟอร์จูน กล่าวว่า มั่นใจว่าปี 2565 เศรษฐกิจไทยและภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2564 จึงมีแนวคิดขยายธุรกิจ “โรงแรม” อย่างต่อเนื่อง เน้นเมืองท่องเที่ยว ด่านการค้าชายแดน แหล่งนิคมอุตสาหกรรม หันมาโฟกัสการลงทุนในโรงแรมที่เจาะลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้น เพื่อรองรับดีมานด์ของกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่ หลังพฤติกรรมนักท่องเที่ยวในปัจจุบันเปลี่ยนไป นิยมเดินทางท่องเที่ยวเพื่อหาประสบการณ์และสัมผัสกับไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ แต่ก็ยังคงชอบโรงแรมที่พักเน้นความสะดวกสบายและสะอาดเป็นสำคัญ
เชิดชัย กมลเนตร รองกรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจโรงแรม ซี.พี.แลนด์ เล่าเสริมว่า ตามแผนลงทุนโรงแรมของบริษัทในช่วง 5 ปีนับจากนี้ ตั้งแต่ปี 2565-2569 ตั้งเป้าพัฒนาโรงแรมใหม่อีก 39 แห่ง ใช้เงินลงทุน 2,200 ล้านบาท เพิ่มจากปัจจุบันที่มีอยู่ 13 แห่ง กระจายใน 9 จังหวัด คิดเป็นห้องพักรวม 2,000 ห้อง ใช้เงินลงทุนไปแล้วกว่า 5,000 ล้านบาท ทำให้ในปี 2569 บริษัทจะมีโรงแรมรวม 52 แห่ง เติบโต 4 เท่าเมื่อเทียบกับจำนวนโรงแรมในปัจจุบัน
เน้นเจาะลูกค้าคนไทยเป็นหลัก 60-70% ส่วนอีก 30% เป็นลูกค้าต่างชาติ เนื่องจากประวัติศาสตร์ของภาคท่องเที่ยวไทยในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าเมื่อเกิดวิกฤติ คนที่หนีก่อนคือลูกค้าต่างชาติ ขณะที่ลูกค้าคนไทยนั้นยังอยู่!
สำหรับโรงแรมใหม่ 39 แห่งดังกล่าวที่เตรียมพัฒนา มากกว่า 30 แห่งอยู่ในกลุ่ม “บัดเจ็ท โฮเทล” ภายใต้แบรนด์ “ฟอร์จูน ดี” และ “ฟอร์จูน ดี พลัส” ด้วยขนาดห้องพักไม่เกิน 79 ห้อง กระจายในต่างจังหวัดมากขึ้น ใช้เงินลงทุนรวมค่าที่ดินประมาณ 60-70 ล้านบาทต่อแห่ง เป้าหมายคือการเจาะฐานลูกค้าในหัวเมืองใหญ่ เช่น เมืองท่องเที่ยว เมืองชายแดน แหล่งนิคมอุตสาหกรรม รองรับการเข้าพักระยะสั้นและตลาดการจัดประชุมสัมมนา ด้วยการชูจุดขายราคาเข้าถึงง่าย 700-1,200 บาทต่อห้องต่อคืน โดยทั้งสองแบรนด์แตกต่างกันตรงที่ ฟอร์จูน ดี จะไม่มีบริการอาหารเช้า ส่วนฟอร์จูน ดี พลัส จะเพิ่มบริการอาหารเช้า
“เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ทุกอย่างกลับสู่ภาวะปกติ ตลาดบัดเจ็ทโฮเทลถือเป็นบลูโอเชียน ของการทำโรงแรม โดยในอนาคตบริษัทตั้งเป้าเป็นผู้เล่นอันดับต้นๆ ของตลาดบัดเจ็ทโฮเทลในต่างจังหวัด”
สำหรับ “กุญแจแห่งความสำเร็จ” คือการนำเสนอโปรดักต์ใหม่ พร้อมลงรายละเอียดการออกแบบใช้สอยพื้นฐานภายในห้องพักด้วยการแก้ไขเพนพอยต์ (Pain Point) ที่บัดเจ็ทโฮเทลแบรนด์อื่นๆ ยังไม่มี เช่น การมีตู้เซฟภายในห้องพักซึ่งมองว่ายังเป็นสิ่งจำเป็น ยังต้องสานพลัง (Synergy) ร่วมมือกับบริษัทอื่นๆ ภายในเครือซีพี เช่น การนำเวนดิ้งแมชชีนของซีพีออลล์มาให้บริการในโรงแรม การทำลอยัลตี้โปรแกรมร่วมกับทรูดิจิทัลเพื่อขยายฐานลูกค้าเมื่อจองโรงแรมในเครือ ซี.พี.แลนด์ เพราะนอกจากจะได้รับส่วนลดราคาห้องพักแล้ว ยังสามารถแลกคะแนนสะสมเป็นพอยต์โอนเข้าทรูมันนี่วอลเลต เพื่อใช้จ่ายในร้านค้าเครือซีพี อาทิ 7-11 และอื่นๆ โดยเตรียมเริ่มลอยัลตี้โปรแกรมเดือน ม.ค.2565
ทั้งนี้ในปี 2565 วางเป้าหมายเริ่มพัฒนาบัดเจ็ทโฮเทล 4 แห่ง ได้แก่ 1.ฟอร์จูน ดี ปราจีนบุรี ขนาด 78 ห้องพัก ตั้งอยู่บนโลเกชั่นใกล้ทางเข้านิคมอุตสาหกรรม 304 2.ฟอร์จูน ดี ขอนแก่น ขนาดรวม 156 ห้องพัก แบ่งเป็น 2 เฟส เฟสแรก 78 ห้องพัก จะเริ่มพัฒนาในไตรมาส 1 หรือ 2 ของปีหน้า และเฟสสอง 78 ห้องพัก จะเริ่มพัฒนาปลายปีหน้า เพื่อรองรับลูกค้าตลาดประชุมสัมมนา เนื่องจากตั้งบนโลเกชั่นติดกับศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น (KICE) 3.ฟอร์จูน ดี สมุทรสาคร ขนาด 78 ห้องพัก และ 4.ฟอร์จูน ดี บุรีรัมย์ ตั้งอยู่ข้างโรงแรมฟอร์จูน บุรีรัมย์
ส่วนกลุ่มโรงแรมระดับ 4 ดาว ภายใต้แบรนด์ “ฟอร์จูน” จะขยายเฉลี่ยปีละ 1 แห่ง รวม 5-7 แห่งตามแผน 5 ปีนี้ ใช้เงินลงทุน 300 ล้านบาทต่อแห่ง มุ่งเจาะเมืองท่องเที่ยวหลัก ได้แก่ ระยอง เชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ต และหัวหิน โดย 3 จุดหมายหลังต้องซื้อที่ดินเพิ่มเพื่อพัฒนาโรงแรมขึ้นใหม่ ซึ่งบริษัทมองว่าคุ้มค่ากว่าการซื้อโรงแรมเก่ามารีโนเวต
เชิดชัย เล่าเพิ่มเติมว่า หากการขยายโรงแรมใหม่เป็นไปตามแผน 5 ปีที่วางไว้ ทำให้มีจำนวนโรงแรมทั้งหมด 52 แห่ง บริษัทคาดการณ์ว่าในปี 2572 จะมีรายได้ในกลุ่มธุรกิจโรงแรมที่ 1,500 ล้านบาทต่อปี เติบโตกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับรายได้ 720 ล้านบาทของโรงแรม 13 แห่งในปัจจุบันเมื่อปี 2562 ก่อนเจอวิกฤติโควิด-19
ส่วนรายได้ปี 2563 ลดลงเหลือ 50% เมื่อเทียบกับปี 2562 เนื่องจากได้รับผลกระทบในระยะสั้นช่วงไตรมาส 2 ที่มีการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมโควิด-19 ขณะที่รายได้ปี 2564 ถือว่าแย่กว่าปี 2563 เนื่องจากมีการระบาดซ้ำระลอกใหม่เป็นวงกว้าง โดยโรงแรม 1 แห่งในกรุงเทพฯ คือโรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน กรุงเทพฯ ขนาด 402 ห้องพัก พบว่ารายได้หายไป 70% จากปกติอยู่ที่ 480 ล้านบาทต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบริษัทปิดโรงแรมฯเพื่อรีโนเวตด้วยคอนเซปท์ที่ทันสมัยขึ้นตั้งแต่เดือน ก.ค.2564 เพิ่งกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งเมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่โรงแรมอีก 12 แห่งในต่างจังหวัดพบรายได้หายไป 25-30%