‘เฮลท์ลีด’ ไอพีโอร้านยาตัวแรก ระดมทุนขยาย4-5สาขา/ปี

‘เฮลท์ลีด’ ไอพีโอร้านยาตัวแรก  ระดมทุนขยาย4-5สาขา/ปี

“ธุรกิจร้านขายยาค้าปลีก”ในรูปแบบ Chain Store รายแรกเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น "เฮลท์ลีด" หรือ HL ผู้ประกอบธุรกิจลงทุนในบริษัทอื่นลงทุนในบริษัทย่อย 2 แห่ง ธุรกิจร้านขายยา จำหน่ายยา เวชภัณฑ์ เวชสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อุปกรณ์การแพทย์ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่างๆ

เตรียมเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (MAI) เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 72 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 9.80 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E ratio) เท่ากับ 37.57 เท่า ซึ่งถือเป็นระดับราคาที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานของบริษัทโดยจะเปิดให้จองซื้อหุ้นระหว่างวันที่ 25-26 และ 29 พ.ย. 2564และคาดเข้าซื้อขาย (เทรด) วันแรก 3ธ.ค. 2564

“ธัชพล ชลวัฒนสกุล”ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฮลท์ลีด จำกัด (มหาชน)หรือ HL  ระบุการเข้าระดมทุนเป็น“การปลดล็อก”การดำเนินธุรกิจให้สร้างการเติบโตระดับสูง เนื่องจากเงินระดมทุนจะขยายขีดความสามารถในการลงทุนนี่คือ “ธงผืนใหญ่”

 

สะท้อนผ่านเงินระดมทุนจำนวน 60 ล้านบาท เพื่อนำไป ขยายสาขาปีละ 4-5 แห่งในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นหลัก บนทำเลที่ดีมีศักยภาพสร้าง“รายได้และกำไร”อย่างต่อเนื่อง จากนั้นบริษัทก็จะกระจายให้ครอบคลุมไปทั่วเขตปริมณฑลและตามหัวเมืองที่สำคัญ ส่วนใหญ่ขนาดพื้นที่ต่อสาขาอยู่ที่ประมาณ 80-150 ตารางเมตร

ดังนั้น เมื่อมีจำนวนสาขาเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันมี 25 สาขา ก็จะผลักดันยอดขายเติบโต ทำให้ความสามารถในการทำกำไรสูงขึ้นและที่เหลือจำนวน 619.26 ล้านบาท ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการต่อยอดธุรกิจนวัตกรรมแห่งอนาคต

“การเข้าระดมทุนจะช่วยเพิ่มโอกาสการเติบโตของ HL ได้อีกมาก เพราะทำให้มีแหล่งทุนเพิ่มศักยภาพในการขยายสาขาได้ต่อเนื่องในระยะยาว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันการเติบโตในอนาคต โดยบริษัทฯตั้งเป้าที่จะขยายสาขาปีละ 4-5 แห่งในพื้นที่ของกทม.เป็นหลัก จากนั้นก็จะกระจายให้ครอบคลุมไปทั่วเขตปริมณฑลตามหัวเมืองที่สำคัญ”

ปัจจุบัน HL มีผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่างๆ รวมกว่า 10,000 รายการโดยจำหน่ายผ่านแบรนด์“ร้านขายยา”ทั้งหมด25 สาขา “ภายใต้4 แบรนด์” ประกอบด้วย “แบรนด์iCare”จำนวน10 สาขาทำเลที่ตั้งของร้านหลักๆ อยู่ตามแหล่งชุมชนใกล้ตลาด โดยกลุ่มลูกค้าจะเป็นผู้บริโภครายย่อยทั่วไป

“แบรนด์PharmaX”จำนวน 11 สาขา เริ่มต้นจะเป็นแหล่งฝึกงานของนักศึกษา ดังนั้น ลักษณะจะเป็นวิชาชีพมากเนื่องจากจะมีการสอบถามอาการของคนมาซื้อยาอีกหนึ่งจุดเด่นที่ทำให้บริษัทสามารถ “ปิดจุดอ่อน”ในเรื่องของการหา “เภสัชกร” ประจำสาขาของบริษัทไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีสาขา 25 แห่ง แต่มีเภสัชกรประจำทั้งหมด 50 ราย และมีเภสัชกรสำรองที่มีรายชื่อไว้เรียกประมาณ 200 ราย “เพราะเป้าหมายที่วางไว้เมื่อมาร้านขายยาของเราต้องเจอเภสัชกรตลอดเวลา”

“แบรนด์ vitaminclub” จำนวน 3 สาขา หลักๆ จะเปิดสาขาอยู่ในห้างสรรพสินค้า ด้วยชื่อแบรนด์ก็บ่งบอกว่าจับตลาดผู้บริโภคที่ต้องการหาอาหารเสริมต่างๆ และ “แบรนด์Super Drug”จำนวน 1สาขา กลุ่มลูกค้าเน้นคนที่ต้องการซื้อสินค้าจำนวนมาก ในราคาที่ถูกกว่า โดยจุดเด่นของแบรนด์ดังกล่าวจะเป็นร้านที่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ขายจำนวนมาก

และบริษัท เฮลทิเนส จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจหลัก คือ คิดค้น และพัฒนาร่วมกับทีมวิจัยภายนอก รวมทั้งว่าจ้างผู้ผลิต เพื่อจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ ภายใต้ 2 แบรนด์ อาทิ PRIME และ Besuto

สำหรับ “จุดแข็ง”ของการดำเนินธุรกิจ นั่นคือ บริษัทดำเนินธุรกิจนี้มากว่า 20 ปีแล้ว แม้จะมีคู่แข่งเข้ามาในธุรกิจนี้จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่-รายเล็ก แต่ก็ไม่ได้เติบโตมากนัก หรือ เพิ่มสาขาได้เกิน 100สาขา เนื่องจากบริษัทนั้นๆไม่มีเภสัชกร แต่ในส่วนของ HL มีเภสัชกรประจำที่ร้านขายยา หากเป็นร้านขนาดใหญ่จะมีมากถึง 3 ราย เนื่องจากบริษัทเป็นเครือข่ายของมหาวิทยาลัย มีบุคคลากรเข้าไปสอนในมหาวิทยาลัยอีกด้วย จึงทำให้บริษัทมีเภสัชกรที่เป็นคนจ่ายยาจริงๆตลอดเวลา