รู้จักทีม "Moonshot" ของ "Bitkub" กับแนวคิดบริหารธุรกิจสไตล์ "ยูนิคอร์น"
ทำความรู้จักทีม "Moonshot" ของ "Bitkub" พร้อมจับเทรนด์การบริหาร "ธุรกิจยุคใหม่" ที่ต้องมองข้ามช็อต และกล้าทำในสิ่งที่ยัง "เป็นไปไม่ได้" เพื่อไปให้ถึง "ความสำเร็จ"
"สตาร์ทอัพ" รูปแบบการทำธุรกิจในโลกยุคใหม่ ที่มีจุดเด่นของโมเดลธุรกิจที่เห็นโอกาสจากช่องว่างทางธุรกิจ โตเร็วแบบก้าวกระโดด โดยมีเทคโนโลยีและแนวคิดเป็นตัวขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย หนึ่งในนั้นคือการโตไปเป็น "ยูนิคอร์น" ที่มีมูลค่า 1,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ
สิ่งที่น่าสนใจคือเบื้องหลังสตาร์ทอัพเหล่านี้ มี "แนวคิด" ในการ "บริหารทีม" ที่แตกต่างไปจากธุรกิจทั่วไป ที่เป็นหัวใจในการผลักดันให้สตาร์อัพขึ้นแท่นยูนิคอร์น หรือประสบความสำเร็จตามเป้าหมายได้
หนึ่งในนั้นคือการส่งเสริมให้พนักงาน "คิดนอกกรอบ" สนับสนุนการทดลอง วิจัย ลงมือทำในสิ่งที่อยากทำ เพื่อพัฒนาสิ่งที่เคยมีให้ดีขึ้น หรือแม้แต่ลองทำหรือกล้าในสิ่งที่ยัง "ไม่เคยเป็นไปได้"
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ชวน ต้น-สกลกรย์ สระกวี ประธานกรรมการ บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ในฐานะผู้บริหาร "ยูนิคอร์นตัวที่สองของไทย" พูดคุยถึงเบื้องหลังการเติบโตแบบก้าวกระโดดของธุรกิจด้านคริปโทเคอร์เรนซี และบล็อกเชนในไทย ที่กำลังอยู่เป็นที่สนใจของคนยุคใหม่ในศักราชนี้
สกลกรย์ สระกวี ประธานกรรมการ บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด
- ทำไมต้องมีทีม "Moonshot" ?
ทันทีที่ก้าวขึ้นเป็นยูนิคอร์น บิทคับประกาศรับสมัครคนมีแพสชั่น 350 คนเข้าร่วมทีมในสารพัดตำแหน่ง หนึ่งคือรับสมัครคนร่วมทีมที่ชื่อว่า "Moonshot" (มูนช็อต) ที่ชวนสงสัยว่าทีมนี้มีไว้ทำไมกัน ?
ต้น สกลกรย์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการสร้างทีม Moonshot ว่า "เราอยากจะสร้างทีมที่คิดค้นสิ่งใหม่ๆ เช่น Financial Product หรือบริการอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเงินและคริปโทเคอร์เรนซี"
ถ้าเราพัฒนาโดยไม่มีการทดลองอะไรใหม่ๆ เลย หรือไม่ทำอะไรใหม่ๆ เลย ก็จะไม่มีโปรดักซ์ที่จะมารองรับคนรุ่นใหม่ หรือไม่มี new s-curve ใหม่
ทีมมูนช็อตของบิทคับเริ่มต้นตั้งทีมอย่างจริงจังช่วง พฤศจิกายน ปี 2563 ช่วงแรกคือการสร้างทีมใหม่ขึ้นมา มีสมาชิกไม่เกิน 20 คน มีทั้ง Developer, Innovation, Business Development ฯลฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างโปรดักต์ใหม่ที่โลกกำลังทำอยู่ หรือคิดค้นสิ่งยังไม่มีใครทำ เพื่อสร้างสิ่งใหม่ที่จะเป็น New S-Curve ของบิทคับ หรือเปิดบริษัทใหม่ที่จะทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับที่เขาได้ทำตอนอยู่ที่มูนช็อต
ที่ผ่านมาผลงานของทีมแรกคือการสร้าง Bitkub Chain และ Bitkub NFT ส่วนทีมชุดใหม่ที่กำลังพัฒนาประมาณ 2-3 ผลิตภัณฑ์ในตอนนี้"
เราอยากจะสร้างโปรดักต์คนไทย ที่สนับสนุนคนไทยด้วยกันเอง มีเงินให้ลงทุนทำโปรดักต์ที่อยากจะได้ทำหรือฝันว่าจะได้ทำ หรือมีคอมมิวนิตี้ การมีเครือข่ายที่ใหญ่เพียงพอที่ทำให้โปรดักต์เขาประสบความสำเร็จ
- ทีม Moonshot ของ Bitkub ได้ทำอะไรบ้าง ?
1. ได้ทำเรื่องที่อยากทำ
ทีมมูนช็อตเปิดกว้างให้ทำในแพสชั่นและสิ่งที่อยากทำจริงๆ ไม่มีกรอบ ว่าต้องทำอะไร หรือให้ทำเฉพาะ Exchange เท่านั้น อยากทำเกม Metaverse หรือ NFT ฯลฯ ก็ทำได้เลย เพียงแต่จะต้องมีไทม์ไลน์ที่ชัดเจน มีแผนงานที่ชัดเจนว่าถ้ามันล้มเหลวภายในกี่เดือน หรือว่าถ้ามันจะไปได้ ไปได้ในกี่เดือน แล้วจะมีเวลาทดลองได้กี่ครั้ง
พูดกับทุกคนเสมอว่าเฟลได้เสมอ เราพร้อมที่จะเฟล ไม่ต้องรู้สึกผิดว่าถ้าทำแล้วมันเฟล สุดท้ายเราได้ลองทำ อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
2. ค่าใช้จ่ายและอิสระในการทำงาน
อิสระในการทำงานจะช่วยดึงคนที่กลุ่มที่คนที่ไปทำงานในต่างประเทศ หรือเป็นต่างชาติที่เขาอยากทำงานในไทยเข้ามาได้ สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ที่กรุงเทพฯ หรือไม่อยากทำงานในกรุงเทพฯ สามารถทำงานทางไกลได้อย่างอิสระทุกอย่าง เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามาสร้างโปรดักต์ให้กับบิทคับ และสร้างโปรดักต์ให้กับประเทศไทยได้
- ทำอย่างไรถึงได้เป็นทีม "Moonshot"
"ทีมมูนช็อตของบิทคับ เปิดกว้างแบบไม่ได้จำกัดอายุ แต่เชื่อว่าคนที่ผ่านมาคนที่มีแพสชั่นเกี่ยวกับคริปโทฯ ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กรุ่นใหม่ หรือกลุ่มคนที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีที่เคยทำธุรกิจอื่นๆ มา และอยากทำอะไรใหม่ๆ ให้กับประเทศนี้ ให้กับคริปโทเคอเรนซี ก็เข้ามาจอยทีมสร้างโปรดักต์ใหม่ๆ ไปด้วยกัน ก่อนขยายออกไปเป็นหน่วยธุรกิจ (Business Unit : BU) ใหม่ของบิทคับ
นอกจากการสรรหาแล้ว ที่ผ่านมายังได้ทีมมูนช็อตจากงาน "Hackathon" รวมถึง "Tech challenge" ซึ่งเป็นงานที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงฝีมือ สร้างโปรดักต์ของตัวเองแล้วเอามาดูกันว่าถ้าโปรดักต์เหล่านี้มันอยู่บนบิทคับในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เราจะสร้างโอกาสแบบนั้น" สกลกรย์ กล่าว
- องค์กรยุคใหม่ ต้องกล้าคิดไปถึงสิ่งที่ยังเป็นไปไม่ได้
แน่นอนว่าเมื่อพูดคำว่า Moonshot ทุกคนคงนึกถึงวินาทีปล่อยจรวดขึ้นสู่ดวงจันทร์ ไม่ต่างกัน! คำว่า มูนช็อต หรือการไปถึงดวงจันทร์ที่เหล่าสตาร์ทอัพชอบใช้ ก็มีเป้าใหม่ไม่ได้ต่างไปมากนัก นั่นคือการคิดทะลุกรอบเดิมๆ แบบไร้ขีดจำกัด แม้แต่สิ่งที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น หรือสิ่งที่หลายคนบอกเป็นไปไม่ได้
อย่างไรก็ตามอาจกล่าวได้ว่า มูนช็อตของบิทคับเอง ก็อาจเปรียบเหมือนทีมวิจัยและพัฒนา R&D (Research and development) คือเป็นทีมแล็บที่ทดลองอะไรใหม่ๆ ซึ่งบริษัทขนาดใหญ่มักจะมีทีมแบบนี้ซ่อนอยู่ เพียงแต่อาจจะไม่ได้เรียกชื่อว่าเป็น Moonshot เท่านั้น
เช่น วัฒนธรรมองค์กรของ Google ที่ประสบความสำเร็จเป็นยักษ์ใหญ่ของโลกได้จากการเปิดโอกาสให้พนักงานกล้า "ตั้งเป้าหมายให้ถึงดวงจันทร์" ที่หมายถึงการคิดแบบ 10X แทนที่จะคิดแค่ 10% ของงาน
พูดง่ายๆ คือตั้งเป้าหมายให้สูงไว้ก่อน จะทำให้คนในทีมมีความกล้าที่จะคิดอะไรใหม่ๆ สร้างสรรค์ มีแรงบันดาลใจในการทำงานในโปรเจคใหญ่ๆ ได้ดี และทำให้ได้ผลลัพธ์ใหญ่ตามไปด้วย
สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า ไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวล้ำไปขนาดไหน แต่หัวใจสำคัญของการทำธุรกิจก็ยังคงเป็น "คน" และ "แนวคิด" ที่จะเป็นตัวกำหนดว่าองค์กรจะพุ่งทยานไปในทิศทางที่นำไปสู่จุดหมายได้หรือไม่