การเคลื่อนหลักสูตรฐานสมรรถนะ ใน EEC : ความท้าทายและทางออก
การขับเคลื่อนหลักสูตรฐานสมรรถนะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้เป็นผู้มีความสามารถในการทำได้ ใช้เป็นความรู้ ความเข้าใจเหล่านั้น ในการลงมือปฏิบัติในสถานการณ์ของการทำงานจริงได้อย่างในพื้นที่ EEC
มองมาที่อุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 12 อุตสาหกรรมของ อีอีซี ล้วนแล้วแต่ต้องการผู้ปฏิบัติงานที่มีสมรรถนะ นึกภาพการทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรม ดิจิทัล ก็รู้ว่าต้องอาศัยทักษะขั้นสูงและต้องอาศัยสมรรถนะเฉพาะในการทำงานมากทีเดียว
ความน่าสนใจอยู่ที่การพัฒนาคนให้มีสมรรถนะ โดยเฉพาะผ่านทางหลักสูตรฐานสมรรถนะ ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก รวมทั้งยังส่งผลกระทบกับผู้คนในวงกว้าง ซึ่งต้องดำเนินการด้วยความรับผิดชอบและความรอบคอบ การเปลี่ยนผ่านไปสู่การศึกษาฐานสมรรถนะนั้นมีกระบวนการที่ซับซ้อน และเกี่ยวข้องกับบุคคลและหน่วยงานหลายฝ่าย ซึ่งคิดว่าหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ตระหนักในเรื่องนี้ดี และนี่เองที่นำมาซึ่งความท้าทายที่ EEC เองก็ไม่ควรมองข้าม
ความท้าทายที่น่าสนใจในเรื่องนี้มีหลายประการดังต่อไปนี้
ประการแรก เกี่ยวข้องกับความเข้าใจในเรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะ ซึ่งแน่นอนว่าหากหลักสูตรฐานสมรรถนะเป็นสิ่งที่ดำเนินการมาเป็นปกติอย่างยาวนาน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ย่อมมีประสบการณ์เกี่ยวข้อง และมีความรู้ ความเข้าใจไม่มากก็น้อย แต่หลักสูตรฐานสมรรถนะเป็นเรื่องใหม่ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นเรื่องปกติหากผู้เกี่ยวข้องจะเกิดความไม่เข้าใจ หรือยังมีความรู้ ความเข้าใจน้อยหรือยังไม่เพียงพอในการดำเนินการ และทำให้การดำเนินงานเกิดความสับสน และส่งผลกระทบไปยังส่วนอื่นๆ ในพื้นที่สังคม
ประเด็นน่าสนใจคือ ปฏิกิริยาหรือการตอบสนองที่มีต่อสิ่งที่ไม่เข้าใจนั้น ส่วนหนึ่งอาจเกิดความอยากรู้ อยากเข้าใจมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเกิดความต่อต้านขึ้นมาโดยอัตโนมัติ หรือส่วนหนึ่งอาจอยู่เฉยๆ ไม่มีปฏิกิริยาในทิศทางใด ไม่ว่าการตอบสนองจะเป็นอย่างไร สิ่งที่พึงกระทำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่เว้นแม้แต่ อีอีซี คือ การเร่งทำความเข้าใจ
ประการที่สอง เป็นความคาดหวังที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง กล่าวคือ หลักสูตรฐานสมรรถนะเป็นเพียงเอกสารที่เขียนขึ้น และวางอยู่บนหิ้งที่ผู้คนรับรู้ รู้จัก และกล่าวถึง แต่ไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติตามที่เขียนไว้
ในความเป็นจริง หน่วยงานและผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชน ควรทำงานหรือเข้าร่วมอย่างทุ่มเทเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในทางปฏิบัติ ตามหลักการของการศึกษาฐานสมรรถนะ ตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนแปลง และเข้าใจถึงสิ่งที่ต้องดำเนินการ พลังงานและความร่วมมือที่ต้องทุ่มลงไป เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามเจตนารมณ์ของหลักสูตร
ประการที่สาม ที่จะกล่าวเป็นประการสุดท้ายคือ ความร่วมมือที่น้อยเกินไป ความร่วมมือเป็นกลจักรสำคัญของการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะใดๆ เพราะพลังของคน คนเดียวหรือหน่วยงานเดียวไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ ความร่วมมือที่น้อยเกินไปเกิดจากความคิดว่าไม่ใช่ธุระของตนเอง หรือเกิดจากความคิดในเชิงแข่งขัน ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่องานโดยรวมเลย
สำหรับ EEC ที่มีเป้าหมายในการส่งเสริมเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง อุตสาหกรรมเป้าหมายต้องอาศัยการศึกษาเป็นตัวสนับสนุนค่อนข้างมาก เนื่องจากอุตสาหกรรมเป้าหมายจะเกิดขึ้นได้ยาก หากขาดกำลังแรงงานที่มีคุณภาพ และหลักสูตรฐานสมรรถนะเป็นเครื่องมือผลิตและพัฒนากำลังคน สิ่งสำคัญคือ อีอีซีเองก็ต้องมาร่วมมือลงแรงในเรื่องนี้ด้วย โดยอาจดำเนินการผ่านอุตสาหกรรมการพัฒนาบุคลากรและการศึกษา เป็นตัวเชื่อมโยง โดยยึดสมรรถนะที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่นเป็นเป้าหมายหนึ่งในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาในพื้นที่ควบคู่กับสมรรถนะหลักที่คนในพื้นที่เห็นว่ามีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต การดำเนินงานลักษณะนี้จึงเชื่อมร้อยการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคมในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง และเป็นทางออกของความท้าทายของ อีอีซี
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์