BOI ลุยดึงค่ายรถยุโรปลงทุน EV ชูจุดแข็ง “EEC-คลัสเตอร์สนับสนุน”
บีโอไอ ปารีส-แฟรงก์เฟิร์ต จัดสัมมนาเชิญชวนค่ายรถยุโรปเข้าลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หนุนเป้าไทยผลิตรถอีวี 725,000 คัน ในปี 2030
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้เร่งชักจูงการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) โดยสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุนในต่างประเทศ ณ กรุงปารีส และนครแฟรงก์เฟิร์ต จัดสัมมนาออนไลน์หัวข้อ “Business and Investment Opportunities in the Electrical Vehicle Sector in Thailand” เมื่อวันที่ 16 พ.ย.2564 เพื่อให้นักลงทุนยุโรปรับทราบโอกาสการลงทุนในไทย และมีผู้สนใจเข้าร่วมจาก 67 บริษัท
บีโอไอ ได้สรุปการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าแล้ว 32 โครงการ รวมมูลค่า 63,273 ล้านบาท โดยมูลค่าไม่รวมการมูลค่าการผลิตแบตเตอรี่ รวมการผลิต 585,480 คัน แบ่งเป็นรถยนต์ไฮบริด 6 โครงการ มูลค่า 37,847 ล้านบาท รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด 8 โครงการ มูลค่า 7,192 ล้านบาท รถยนต์แบตเตอรี่ไฟฟ้า 15 โครงการ มูลค่า 14,904 ล้านบาท และรถบัสโดยสารแบตเตอรี่ 3 โครงการ มูลค่า 3,328 ล้านบาท
นางสาวซ่อนกลิ่น พลอยมี รองเลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า ไทยมีความน่าสนใจสำหรับนักลงทุนยุโรปเพราะมีปัจจัยรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน เช่น ข้อตกลงการค้าเสรี เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมทั้งมีกลุ่มคลัสเตอร์อีวีรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมอีวี ซึ่งบีโอไอมีแผนดึงนักธุรกิจยุโรปเข้ามาลงทุนอีวีในไทย
นายเอริค รูเก้ กรรมการผู้จัดการ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า มาตรการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีส่วนในการตัดสินของนักลงทุน โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์ด้านภาษีและภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป (CBU)
นอกจากนี้ การลงทุนในเทคโนโลยีรถอีวีในไทยยังมีโอกาสอีกมาก เนื่องจากเทคโนโลยีเกี่ยวกับการผลิตรถอีวีมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว อีกทั้งตลาดรถอีวียังมีขนาดเล็กและยังคาดเดาทิศทางไม่ได้ ด้วยสภาวะการแข่งขันเพื่อดึงดูดนักลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน และผู้ผลิตในห่วงโซ่อุปทานของรถอีวียังมีค่อนข้างจำกัด โดยบีเอ็มดับเบิลยูเองกำลังมองหาพาร์ทเนอร์ที่จะเข้ามาร่วมพัฒนาเทคโนโลยีอีวีในไทย
ทั้งนี้ เชื่อว่าเทคโนโลยีปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) จะมีส่วนสำคัญในการเชื่อมโยงสู่การใช้รถแบตเตอรี่ไฟฟ้าแบบเต็มรูปแบบ โดยเสนอแนะให้ไทยเตรียมพร้อมเรื่องมีปัจจัยสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของอีวี อาทิ สถานีชาร์จไฟฟ้า รวมทั้งมีมาตรการที่ทำให้รถอีวีมีระดับราคาที่เข้าถึงได้ และเปิดโอกาสให้มีการดัดแปลงรถเครื่องยนต์เก่าสู่รถเครื่องยนต์ไฟฟ้าได้
นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงภาพรวมโอกาสการลงทุน EV ว่า คณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ กำลังพิจารณากำหนดมาตรการกระตุ้นดีมานต์รถอีวี อาทิ การสนับสนุนด้านภาษี การสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (ZEV) และแบตเตอรี่
ทั้งนี้ ไทยกำหนดเป้าหมายมีปริมาณการใช้รถโดยสารและปิ๊กอัพไฟฟ้า 50% ภายในปี 2030 หรือ จำนวน 440,000 คันต่อปี และมีการผลิตเป็น 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งประเทศภายในปี 2030 หรือ จำนวน 725,000 คันต่อปี โดยมาตรการทั้งหมดจะเพิ่มอุปสงค์แบตเตอรี่และสถานีชาร์จไฟฟ้า จึงเป็นโอกาสเข้ามาลงทุนอีวีในไทย
นายบุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การจะเป็นผู้นำและประสบความสำเร็จในธุรกิจอีวี ต้องพัฒนาอีโคซิสเต็มส์ตลอดวงจรการใช้รถอีวี และตั้งบริษัทแยกเพื่อง่ายต่อการบริหาร รวมถึงดึงกลุ่มทาเลนท์ รวมถึงสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพาร์ทเนอร์ท้องถิ่นและสร้างความร่วมมือกับผู้นำระดับโลกเพื่อการพัฒนาด้านเทคโนโลยี
ทั้งนี้ เทรนด์ของโลกรวมถึงประเทศไทยต่างมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050-2065 ด้วยการกำหนดมาตรการและนโยบายจากภาครัฐ รวมถึงความร่วมมือจากภาคเอกชน โดย ปตท.มีเป้าหมายลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 15% จากปี 2020 และได้ประกาศวิสัยทัศน์รวมถึงเป้าหมายการเป็นศูนย์ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลก รวมถึงการลงทุนสร้างอีโคซิสเต็มส์ของอีวีเพื่อสร้างความจูงใจการลงทุนให้มากขึ้น
สำหรับการลงทุนใน EV Value Chain ประกอบไปด้วย 6 ธุรกิจ ดังนี้
1.ธุรกิจแบตเตอรี่ มีการตั้งโรงงานนำร่องในจังหวัดระยอง และร่วมทุนการโรงงานผลิตขนาดใหญ่ในประเทศจีน
2.ธุรกิจผู้ผลิตยานยนต์ ร่วมมือกับ Foxconn เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มการผลิตรถอีวี และมีการศึกษาเพื่อผลิตมอเตอไซค์ไฟฟ้าและรถโดยสาร
3.ธุรกิจแพลตฟอร์มบริการด้านอีวี รวมบริการและการแก้ปัญหาเกี่ยวกับอีวี เพื่อให้เกิดการทดลองใช้และกระตุ้นดีมานต์ในการใช้ในประเทศไทย
4.ธุรกิจสถานีชาร์จ เป็นธุรกิจให้สถานีชาร์จไฟฟ้าและแพลตฟอร์ม
5.ธุรกิจสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า
6.ธุรกิจบริการและการซ่อมแซม เป็นส่วนของบริการหลังการขาย รวมถึงเป็นศูนย์ซ่อนครบวงจร