‘บีโอไอ’จุดพลุลงทุน‘บีซีจี’ โมเดลฟื้นเศรษฐกิจไทย
บีโอไอสรุปภาวะการลงทุนตามนโยบายเศรษฐกิจ BCG เป็นประเด็นที่ประเทศไทยจะนำเสนอในเวทีการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ที่ไทยรับเป็นเจ้าภาพในปี 2565 เพื่อเป็นอีกแนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดให้โมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือ การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งเป็นการบีโอไอ พัฒนาเศรษฐกิจที่ต้องการต่อยอดจุดแข็งของไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ โดยแนวทางพัฒนานี้ยังถูกจัดอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ในปัจจุบันมาตรการส่งเสริมการลงทุนครอบคลุมกิจการจำนวนมากตลอดห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้อง และบีโอไอได้ปรับปรุงให้สอดคล้องกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอตามแนวทาง BCG ในหลายด้าน เช่น
มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ ภายใต้มาตรการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานทดแทนหรือลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมาตรการด้านการยกระดับไปสู่มาตรฐานเพื่อความยั่งยืนในระดับสากล เช่น มาตรฐานการรับรองป่าไม้ตามแนวทางขององค์การพิทักษ์ป่าไม้(Forest Stewardship Council: FSC) เป็นต้น
มาตรการส่งเสริมการลงทุนเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งครอบคลุมถึงการสนับสนุนองค์กรท้องถิ่นในการพัฒนากิจการเกษตรที่ยั่งยืน เช่น การปลูกข้าวแบบปล่อยมีเทนต่ำ เป็นต้น
ปรับปรุงประเภทกิจการและสิทธิประโยชน์โดยให้ความสำคัญต่อเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมคือ กิจการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและโรงแยกก๊าซ ในกรณีใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน โดยให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี และกิจการห้องเย็น หรือกิจการห้องเย็นและขนส่งห้องเย็นซึ่งหากใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ จะให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 3 ปี
จากสถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนกิจการในกลุ่ม BCG ตั้งแต่ ปี 2558 ถึง ก.ย.2564 มีจำนวน 2,829 โครงการมูลค่าเงินลงทุนรวม 677,157 ล้านบาท โดย 5 อันดับแรกกิจการ BCG ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด ประกอบด้วย
1.กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า ที่เป็นพลังงานหมุนเวียน (รวมถึงไฟฟ้าจากขยะ) 289,007 ล้านบาท
2.กิจการผลิตหรือถนอมอาหาร เครื่องดื่ม วัตถุเจือปนอาหาร (Food Additive) หรือสิ่งปรุงอาหาร (Food Ingredient) โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย 94,226 ล้านบาท
3.กิจการผลิตเคมีภัณฑ์ หรือพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือการผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นรูปต่อเนื่องจากการผลิตพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในโครงการเดียวกัน 40,998 ล้านบาท
4.กิจการผลิตภัณฑ์จากผลพลอยได้ หรือเศษวัสดุทางการเกษตร 25,838 ล้านบาท
5.กิจการผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ 22,250 ล้านบาท
โดยเฉพาะในช่วง 9 เดือนแรก ปี 2564 (ม.ค.-ก.ย.) มีสัญญาณบ่งชี้อัตราเติบโตที่ดี โดยมีกิจการขอรับการส่งเสริมการลงทุน 564 โครงการ จำนวนโครงการเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 74% และมีมูลค่าลงทุน128,370 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสูงกว่าช่วงเดียวกันกับปีก่อน 160% และสูงกว่ามูลค่าการลงทุนในปี 2563 ทั้งปี
ทั้งนี้ มีตัวอย่างบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนภายใต้กิจการ BCG ประกอบด้วย กลุ่มโปรตีนทางเลือก(Alternative Protein) กลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพ Biotechnology กลุ่มพลาสติกชีวภาพ Bioplastic กลุ่มพลาสติกรีไซเคิลเกรดอาหาร (Food-Grade Recycled Plastics)
“โมเดลเศรษฐกิจ BCG จะเป็นแนวทางในการพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยการใช้จุดแข็งที่ไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยการสร้างความสมดุลจากการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติควบคู่ไปกับการอนุรักษ์"
ทั้งนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจตามโมเดล BCG ของประเทศไทยจะนำไปสู่การปรับกระบวนทัศน์ และการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs และคาดว่าในอีก 5 ข้างหน้าอุตสาหกรรม BCG ของประเทศไทยจะมีมูลค่าเป็น 25% ของ GDP ซึ่งบีโอไอพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมการลงทุนที่จะนำเป้าหมายดังกล่าวให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน
นอกจากนี้ บีโอไอยังได้มีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการระบบพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรม BCG ของไทย โดยมีเป้าหมายในการสร้างวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ 20,000 คนต่อปี โดยให้ผู้ประกอบการร่วมออกแบบหลักสูตรตรงตามความต้องการ รวมถึงให้ความสำคัญกับการดึงบุคลากรทักษะสูงจากต่างประเทศด้วยการให้ Smart Visa และ Long-term Resident Visa ประเภท Highly Skilled Professionals
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์