เปิดคลังกระสุนสู้โควิด ‘เงินกู้-งบ’ต้องใช้คุ้มค่า

เปิดคลังกระสุนสู้โควิด ‘เงินกู้-งบ’ต้องใช้คุ้มค่า

การทำงานที่รวดเร็ว ใช้เงินกู้และงบประมาณเพื่อความเหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อเอาชนะและต่อสู้กับโควิดกลายพันธุ์ได้ วันนี้ชัดแล้วว่าโควิดจะอยู่คู่มนุษย์ต่อไปอีกนาน คนไทยจะต้องปรับวิธีคิด ต้องวางแผนธุรกิจ และยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ก่อนใคร

เมื่อวานนี้ (1 ธ.ค.) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะประธานกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ เปิดเผยความคืบหน้าการเบิกจ่ายเงินกู้ ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พบว่าส่วนใหญ่โครงการเป็นไปตามแผนที่ ครม. อนุมัติ มีบางโครงการที่ล่าช้า ขอขยายระยะเวลาดำเนินการ คณะกรรมการกลั่นกรองจึงได้พิจารณาและส่งให้ ครม.เห็นชอบปรับปรุงเป็นรายโครงการแล้ว

วันนี้โควิด-19 มีแนวโน้มกลับมาแพร่ระบาด หากสายพันธุ์ใหม่โอไมครอนส่งผลกระทบชัดเจน รัฐบาลอาจต้องปรับแผนให้สอดคล้องสถานการณ์ วงเงินที่จะใช้มาจาก 4 แหล่ง 1.เงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ พ.ศ. 2564 (เพิ่มเติม) วงเงิน 5 แสนล้านบาท คงเหลือ 2.7 แสนล้านบาท 2.เงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน พ.ศ.2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท คงเหลือ 1.2 หมื่นล้านบาท 3.งบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วนปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 8.9 หมื่นล้านบาท และ 4.งบกลางค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด เหลือ 1.5 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมแล้วประมาณ 3.9 แสนล้านบาท

วันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานสัดส่วน สถานะหนี้สาธารณะ หนี้ภาครัฐและความเสี่ยงทางการคลัง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 รวมอยู่ที่ 9.34 ล้านล้านบาท หรือ 58.15% ต่อจีดีพี เพิ่มจากปีก่อน 1.49 ล้านล้านบาท จากการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และการกู้เงินภายใต้กฎหมายพิเศษ 2 ฉบับ ซึ่งความเสี่ยงทางการคลัง ยังอยู่ภายใต้กรอบในการบริหารหนี้สาธารณะ หนี้ส่วนใหญ่ 84.11% เป็นหนี้ที่เป็นภาระต่องบประมาณโดยตรง

การที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลฯ สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด และสัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศฯ ไม่เกินกรอบที่กำหนด ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเกิดขึ้นภายหลังมติขยายเพดานการก่อหนี้ เป็นผลมาจากความจำเป็นจากวิกฤตโควิดเป็นหลัก หากเทียบกับต่างประเทศที่มีการใช้เงินกู้จำนวนมากแล้ว ไทยยังสามารถใช้เงินตามความจำเป็น โดยเฉพาะภาคส่วนที่มีผลกระทบพร้อมการฟื้นฟูเพื่อให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจติดเครื่องให้ได้

เราเห็นว่าประเด็นสำคัญไม่ใช่เรื่องการขยายเพดานการก่อหนี้ การทำงานที่รวดเร็วกับการใช้เงินตรงกลุ่มเป้าหมายยังมีส่วนสำคัญในการใช้เงินกู้และงบประมาณ เพื่อความเหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ยังมีการบริหารจัดการงบจัดซื้อวัคซีนไม่ว่ายี่ห้อหรือรุ่นใหม่ ต่อสู้กับโควิดกลายพันธุ์ได้ วันนี้ชัดแล้วว่าโควิดจะอยู่คู่มนุษย์ต่อไปอีกนาน คนไทยจะต้องปรับวิธีคิด ทัศนคติในการอยู่ร่วมกับโควิดให้ได้ก่อนชาติอื่น เพื่อใช้ชีวิตเป็นปกติ วางแผนธุรกิจ การลงทุนและยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ก่อนใคร