‘เงินบาท’ วันนี้เปิด‘อ่อนค่า’ ที่ 33.74 บาทต่อดอลลาร์
“เงินบาท”เปิดตลาดวันนี้(2ธ.ค.) อ่อนค่าที่ 33.74บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” เงินบาทยังผันผวนฝั่งอ่อนค่า จากแรงขายทรัพย์สินในไทยต่อเนื่อง จากความกังวลปัญหาการระบาดของ โอไมครอน มองกรอบเงินบาทวันนี้ 33.60-33.80 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้(2ธ.ค.) ที่ระดับ 33.74 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อย จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.72 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.60-33.80 บาทต่อดอลลาร์
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท จะเห็นได้ว่าเงินบาทยังคงเผชิญความผันผวนในฝั่งอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องจากแรงขายสินทรัพย์ไทย ไม่ว่าจะเป็นหุ้น หรือ บอนด์ระยะสั้นตามการปรับสถานะเก็งกำไรเงินบาทของผู้เล่นต่างชาติ ซึ่งเรายังคงมองว่า ในระหว่างวันเงินบาทยังคงมีแรงกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าอยู่ จากความกังวลปัญหาการระบาดของ โอไมครอน
อีกทั้ง สัญญาณเชิงเทคนิคัลในระยะสั้นยังคงชี้ว่าเงินบาทยังมีแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า ทำให้ผู้เล่นต่างชาติยังไม่รีบกลับเข้ามาเก็งกำไรเงินบาทฝั่งแข็งค่า ทำให้ปัจจัยที่จะพอช่วยหนุนให้เงินบาทไม่อ่อนค่าไปมาก คือ การรีบาวด์ของราคาทองคำ รวมถึงแรงขายเงินดอลลาร์ของผู้ส่งออกบางส่วน
อนึ่ง หากพิจารณาสัญญาณเทคนิคัลของเงินบาททั้งในส่วนกราฟรายวันหรือกราฟรายสัปดาห์ จะเริ่มเห็นว่าอินดิเคเตอร์ทั้ง RSI และ MACD อาจเริ่มส่งสัญญาณว่า เงินบาทอาจมีการปรับตัวแข็งค่าขึ้นได้ ซึ่งต้องรอการเกิดสัญญาณเชิงเทคนิคัลอีกครั้ง ถึงจะยืนยันสมมติฐานดังกล่าวได้ และเราเชื่อว่า จังหวะกลับตัวมาแข็งค่าของเงินบาทอาจเกิดขึ้นในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า หากข้อมูลวิทยาศาสตร์ชี้ชัดว่า การเร่งระดมแจกวัคซีนสามารถยับยั้งการแพร่ระบาดของ Omicron ได้ ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอาจไม่ซบเซาหนัก
ทั้งนี้ เงินบาทยังคงมีแนวต้านสำคัญในโซน 33.80-34.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นจุดที่ผู้ส่งออกบางรายยังรอขายเงินดอลลาร์ รวมถึงผู้เล่นต่างชาติอาจรอจังหวะกลับเข้ามาเก็งกำไรเงินบาทอีกรอบได้ หากสัญญาณเชิงเทคนิคัลเงินบาทเริ่มเปลี่ยนทิศหรือเกิด Divergence ส่วนแนวรับเงินบาทยังคงอยู่ในโซน 33.40 บาทต่อดอลลาร์ จากแรงซื้อเงินดอลลาร์ของผู้นำเข้าบางส่วน
ดังนั้น ในระยะนี้ เราประเมินว่า ตลาดค่าเงิน ยังมีแนวโน้มผันผวนสูงอยู่ ผู้ประกอบการควรเพิ่มความระมัดระวังในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและควรใช้เครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีขึ้น
แม้ว่า ตลาดการเงิน ในฝั่งเอเชียและยุโรปจะสามารถรีบาวด์ขึ้นมาได้บ้างในวันก่อนหน้า ทว่าความผันผวนในตลาดการเงินยังคงอยู่ในระดับที่สูงอยู่ ดังจะเห็นได้จากการที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ไม่สามารถรีบาวด์กลับขึ้นมาได้เช่นเดียวกับตลาดหุ้นอื่นๆ และปิดตลาดย่อตัวลง (ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -1.18% เช่นเดียวกับ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ที่ปรับตัวลงกว่า -1.83%) โดยแรงกดดันต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลให้ในวันนี้บรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ยังคงมาจากความกังวลปัญหาการแพร่ระบาด COVID-19 สายพันธุ์ “Omicron” หลังสหรัฐฯ มีรายงานพบผู้ติดเชื้อ Omicron เป็นรายแรก และนอกจากประเด็น Omicron ตลาดยังเผชิญแรงกดดันจากมุมมองของประธานเฟดที่เดินหน้าสนับสนุนแนวโน้มการเร่งลดคิวอี หลังจากที่ประธานเฟดมองว่า เงินเฟ้ออาจเร่งตัวขึ้นและอยู่ในระดับสูงได้นานกว่าที่เคยประเมินไว้
ในฝั่งตลาดบอนด์ ความกังวลสถานการณ์การระบาดของ Omicron ได้กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงราว 6bps แตะระดับ 1.42% ซึ่งภาพดังกลา่ว สะท้อนว่าผู้เล่นบางส่วนยังคงมีความไม่มั่นใจต่อสถานการณ์การระบาด และเลือกที่จะเข้าถือสินทรัพย์ปลอดภัยไว้ก่อน แม้ว่าในมุมนึงผู้เล่นในตลาดเริ่มประเมินว่าเฟดอาจมีการประกาศเร่งลดคิวอีในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ อนึ่ง เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ทั่วโลกยังมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways ในระยะสั้น จนกว่าตลาดจะมั่นใจได้ว่า Omicron ไม่ได้มีความน่ากลัวอย่างที่เคยประเมินไว้ ซึ่งอาจต้องรอข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่มากขึ้น โดยทางบริษัทผู้ผลิตวัคซีนสำคัญ อาทิ Pfizer, BioNTech และ Moderna ต่างคาดว่า อาจจะสามารถรายงานผลวิจัยประสิทธิภาพวัคซีนต่อ Omicron ได้ภายใน 2 สัปดาห์
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์รีบาวด์ขึ้นมาเล็กน้อย โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้แกว่งตัวในระดับ 96.03 จุด หนุนโดยความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มมองว่า ความผันผวนในตลาดอาจปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าคาด หลังจากที่ ดัชนีความกลัวที่วัดความผันผวนตลาดหุ้นสหรัฐฯ หรือ VIX Index ได้ปรับตัวขึ้น ทะลุแนวต้านสำคัญที่ 29 จุด สู่ระดับ 31 จุด ทั้งนี้ เงินดอลลาร์ยังคงไม่ได้แข็งค่าขึ้นไปมาก เพราะถูกกดดันจากการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะเพิ่มการถือครองเงินเยนตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี แม้ว่าค่าเงินดอลลาร์จะรีบาวด์กลับขึ้นมา แต่ก็ไม่ได้กดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงหนัก เนื่องจากราคาทองคำยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ส่งผลให้ล่าสุด ราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นได้สู่ระดับ 1,780 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และเรามองว่า ราคาทองคำยังคงได้แรงหนุนจากผู้เล่นในตลาดที่ต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยอยู่ ทำให้ราคาทองคำจะไม่ปรับฐานลงหนัก แต่การรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำก็อาจถูกจำกัดด้วยท่าทีของเฟดที่มีแนวโน้มจะเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยลบต่อราคาทองคำ
สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมของกลุ่ม OPEC+ ว่าจะมีข้อสรุปเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันต่อเนื่องตามที่เคยได้วางแผนไว้หรือไม่ หลังจากที่การระบาดของ Omicron อาจกดดันความต้องการใช้พลังงานได้ในระยะสั้น อีกทั้ง สหรัฐฯ รวมถึงชาติพันธมิตรกลุ่มผู้ใช้น้ำมัน อาทิ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ได้ประกาศพร้อมใช้น้ำมันดิบสำรองเพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนพลังงานในระยะสั้น ซึ่งเรามองว่า กลุ่ม OPEC+ จะยังไม่เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันในการประชุมครั้งนี้อย่างแน่นอน หลังจากที่ราคาน้ำมันดิบปรับฐานลงมาพอสมควร และสมดุลตลาดน้ำมันอาจเปลี่ยนไป หากการระบาดของ Omicron ทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น กลุ่ม OPEC+ อาจจะรอดูทิศทางตลาดน้ำมันและสถานการณ์การระบาดไปก่อนในระยะสั้นนี้