ศบศ.ไฟเขียววีซ่า LTR ดึงนักลงทุน-กลุ่มรายได้สูงเข้าไทย พำนักสูงสุด 10 ปี
ศบศ.อนุมัติวีซ่า LTR พำนักไทยระยะยาวสูงสุด10ปีดึงนักลงทุน ผู้เกษียณอายุ ผู้ทำงานที่มีความสามารถสูงเข้าไทย มหาดไทยจ่อออกประกาศวีซ่าหลังปรับปรุงถ้อยคำ มอบกรมที่ดิน คลังศึกษาสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมภายใน 1 เดือนไฟเขียวแนวทางส่งเสริมการลงทุนคลาวด์เซอร์วิส-สตาร์ทอัพ
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงผลการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมเป็นประธาน เห็นชอบในหลักการมาตรการสำคัญหลายมาตรการ ได้แก่
1.เห็นชอบหลักการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย ตามข้อเสนอของ สศช.และทีมปฏิบัติการเชิงรุกฯ ที่ ครม.ได้มีมติเห็นชอบในหลักการไปเมื่อวันอังคารที่ 14 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา
โดยมีการกำหนดประเภทการตรวจลงตรา (วีซ่า) สำหรับผู้พำนักระยะยาว (Long-term resident visa: LTR) โดยกระทรวงมหาดไทยเสนอร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ให้แก่คนต่างด้าวใน 4 กลุ่มเป้าหมายหลักได้แก่
- ผู้มีความมั่งคั่งสูง
- ผู้เกษียณอายุ
- ผู้ที่ต้องการทำงานจากไทย และผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ ซึ่งครอบคลุมคุณสมบัติและแนวทางการยื่นคำขอรับรองคุณสมบัติและคำขอรับการตรวจลงตราวีซ่าประเภท LTR ที่สำคัญ ได้แก่
1) วีซ่า LTR จะครอบคลุมระยะเวลาทั้งสิ้น 10 ปี โดยอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ 5 ปี
2) ยื่นคำขอรับรองคุณสมบัติเพื่อขออยู่ต่อได้อีก 5 ปี ไม่จำกัดจำนวนครั้งที่เดินทางเข้าออกราชอาณาจักร รวมถึงคนต่างด้าวและผู้ติดตามซึ่งเป็นคู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย (อายุไม่เกิน 20 ปี) จำนวนไม่เกิน 4 คน
3)กำหนดให้แจ้งที่พำนักอาศัยต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อนักครบ 1 ปี (จากเดิมที่ต้องดำเนินการทุกรอบ 90วัน
4)ได้รับอนุญาตให้ทำงานครั้งละ 5 ปีภายหลังได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร
และ 5) หากมีความประสงค์จะขอรับการตรวจลงตราเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรด้วยวัตถุประสงค์อื่น ให้สามารถกระทำได้ เป็นต้น
สำหรับการให้สิทธิประโยชน์ด้านอสังหาริมทรัพย์และสิทธิประโยชน์ในด้านที่ดิน ที่ประชุมมอบหมายให้กรมที่ดินเร่งรัดศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียด เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุม ศบศ. พิจารณาโดยเร็วต่อไปภายใน 1 เดือนในการประชุม ศบศ.ครั้งต่อไป
ส่วนการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี ที่ประชุมมอบหมายให้กรมสรรพากรเตรียมร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แก่ผู้ถือวีซ่า LTR โดยมีหลักการที่สำคัญ ได้แก่
1.การกำหนดให้ชาวต่างชาติผู้ถือวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาวกลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง
2.กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ และกลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดสำหรับเงินได้พึงประเมินเนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศและนำเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีเดียวกัน
3.การกำหนดให้ชาวต่างชาติผู้ถือวีช่าประเภทผู้พำนักระยะยาวกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษซึ่งทำงานในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน กฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และได้รับเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร ขณะที่การปฏิบัติพิธีการศุลกากรของติดตัวผู้โดยสาร
ที่ประชุมมอบหมายให้กรมศุลกากรอำนวยความสะดวกในการจัดทำแนวทางการเดินทางพิเศษสำหรับผู้ถือวีซ่าประเภทผู้พำนักอาศัยระยะยาว (LTR) เป็นการเฉพาะ โดยจะเทียบเคียงกับสถานะการเดินทางทางการทูต ( Diplomatic passport) และมอบหมายให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันกำหนดแนวทางปฏิบัติเป็นการเฉพาะต่อไป
นอกจากนี้ยังการจัดตั้งศูนย์บริการผู้พำนักระยะยาว (LTR-Service center) ที่ประชุมมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเป็นหน่วยงานหลักในการจัดตั้งและบริหารจัดการศูนย์บริการผู้พำนักระยะยาว รวมทั้งครอบคลุมการดำเนินภารกิจในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เชิงรุกและอำนวยความสะดวกและให้คำปรึกษาแก่ชาวต่างชาติที่ได้รับวีช่า LTR เพื่อให้การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
นายดนุชา กล่าวต่อว่านอกจากนี้เห็นชอบในหลักการมาตรการส่งเสริมการลงทุนในกิจการคลาวด์เซอร์วิส ตามข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) โดยที่ประชุมมอบหมายให้ ให้ สกท. หารือกับหน่วยงานที่
เกี่ยวในประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญ ประกอบด้วย
1)แนวทางการดำเนินการด้านภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจและส่งเสริมการใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในประเทศ โดยเฉพาะการให้บริการ Data hosting sevicesแก่ผู้รับบริการในต่างประเทศ
2)แนวทางการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าเพื่อรองรับอุตสาหกรรมกิจกรรมกิจการคลาวด์เซอร์วิสในอนาคต
และ 3)แนวทางการสร้างความชัดเจนในประเด็นเกี่ยวกับขอบเขตความรับผิดชอบ รวมถึงการผลักดันนโยบายเกี่ยวกับบทบาทของผู้ให้บริการภาคเอกชนต่อการพัฒนาบริการคลาวด์ของภาครัฐ และหากได้ข้อยุติแล้ว ให้ สกท. เสนอต่อที่ประชุม ศบศ. เพื่อพิจารณาต่อไป
นอกจากนั้นยังเห็นชอบในหลักการมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับธุรกิจด้านเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพตามข้อเสนอของสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย โดยที่ประชุมมอบหมายให้สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยหารือร่วมกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเด็นด้านกฎระเบียบต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นให้เกิดการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เหมาะสมต่อการส่งเสริมการลงทุนด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และสตาร์ทอัพให้แก่ผู้ประกอบการไทย