“มิชลิน ไกด์” ผนึก “ททท.” เดินหน้า “เดอะ มิชลิน ไกด์ ไทยแลนด์” ต่ออีก 5 ปี
“ททท.” และ “เดอะ มิชลิน ไกด์” ผนึกกำลังเดินหน้าโครงการ “เดอะ มิชลิน ไกด์ ไทยแลนด์” ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหารต่อเนื่องถึงปี 2569
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เผยโครงการ “เดอะ มิชลิน ไกด์ ไทยแลนด์” (The MICHELIN Guide Thailand) ประจำปี 2560 –2564 ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เพิ่มอัตราค่าใช้จ่ายด้าน อาหารของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 2 เท่า และในปี 2562 สร้างมูลค่าได้ถึง 842.40 ล้านบาท จึงเดินหน้าผนึกกำลังร่วมกับ The MICHELIN Guide ต่อเนื่องถึงปี 2569 ส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเชิงอาหารของประเทศไทย (Gastronomy Tourism) สู่ระดับสากล ตั้งเป้าหมายขยายพื้นที่สำรวจอย่างน้อย 3 จังหวัด และเพิ่มรางวัล MICHELIN Guide Thailand Service Award presented by TAT ให้แก่บุคลากรผู้ให้บริการยอดเยี่ยม
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า ททท.ได้สนับสนุน โครงการ The MICHELIN Guide Thailand ประจำปี 2560-2564 เป็นระยะเวลา 5 ปี และจัดทำคู่มือ “มิชลิน ไกด์” จำนวน 5 ฉบับ ฉบับแรกชื่อว่า “The MICHELIN Guide Bangkok 2018” และได้ขยายจังหวัดในการสำรวจอย่างต่อเนื่อง ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล จังหวัดภูเก็ต พังงา และเชียงใหม่ สำหรับในปีที่ 4 (ปี 2563) มีการเพิ่มรางวัลประเภทใหม่ ได้แก่ MICHELIN Guide Young Chef Award เพื่อมอบให้กับเชฟรุ่นใหม่ที่โดดเด่น, MICHELIN Guide Service Award รางวัลสำหรับบุคลากรผู้ให้บริการยอดเยี่ยม และ MICHELIN Green Star รางวัลที่มอบให้กับร้านอาหารซึ่งใส่ใจ ในสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และฉบับล่าสุดปีที่ 5ขยายพื้นที่ไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในชื่อว่า “The MICHELIN Guide Bangkok, Phra Nakhon Si Ayutthaya, Chiang Mai, Phuket & Phang-Nga 2022”
ทั้งนี้ จากผลการวิจัยโครงการประเมินภาพลักษณ์การท่องเที่ยวด้านอาหาร (Gastronomy Tourism) ของประเทศไทย สำรวจโดยบริษัท เคเนติกส์ คอนซัลติ้ง จำกัด ของ ททท. และผลการดำเนินโครงการ The MICHELIN Guide Thailand ประจำปี 2560-2563 โดย Ernst & Young สะท้อนให้เห็นว่า โครงการฯ สามารถสร้างมูลค่าทาง เศรษฐกิจในส่วนต่างๆ ได้เป็นอย่างดี โดยเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านอาหารในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเฉลี่ยต่อมื้อสูงถึง 2 เท่า และในปี 2562 สร้างมูลค่าได้ถึง 842.40 ล้านบาท เกิดการจ้างงานในส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกว่า 4,800 ตำแหน่ง มีการจัดกิจกรรมทางด้านอาหารในประเทศไทย อาทิ การจัดกิจกรรมดินเนอร์กับเชฟมิชลิน เพิ่มขึ้น 33%
เมื่อเปรียบเทียบจำนวนร้านอาหารระดับ Street Food ถึง Fine Dining ที่ได้รับรางวัลมิชลิน ในปี 2560-2564 พบว่ามีอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนร้านอาหาร 137% และเกิดการพัฒนาและยกระดับร้านอาหารในประเทศไทย เพื่อรักษามาตรฐานของ ร้านอาหารเพิ่มขึ้น 60% ทั้งดึงดูดเชฟชั้นนำจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในประเทศไทย และส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเปิดร้านอาหารระดับไฟน์ไดนิ่ง (Fine Dining) ในประเทศไทยมากยิ่งขึ้นด้วย
จากความสำเร็จดังกล่าว ททท.เล็งเห็นความสำคัญของโครงการ The MICHELIN Guide Thailand ในการเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ภายใต้แนวคิด BCG Model มุ่งให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทยในการเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมผ่านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเชิงอาหารให้เป็นที่รู้จักระดับนานาชาติ นำไปสู่การส่งเสริมการลงทุน ขับเคลื่อนสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ในการนี้ ททท. จึงผนึกกำลัง The MICHELIN Guide ขยายความร่วมมือต่อเนื่องไปอีก 5 ปี จากปี 2565-2569 ตั้งเป้าขยายพื้นที่ สำรวจเพิ่มอย่างน้อย 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 จังหวัด และเพิ่มเติมใหม่อีก 2 จังหวัด ยิ่งไปกว่านั้น The MICHELIN Guide จะเพิ่มเติมรางวัลประเภทใหม่ MICHELIN Guide Thailand Service Award presented by TAT ให้แก่บุคลากรผู้ให้บริการยอดเยี่ยม เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวที่แข็งแรงและยั่งยืนในทุกมิติต่อไป
นายมานูเอล มอนตานา ประธานกลุ่มมิชลิน ประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกและออสเตรเลีย กล่าวว่า ภายใต้การขยายความร่วมมือครั้งนี้ The MICHELIN Guide จะรุกดำเนินการสำรวจพื้นที่ใหม่ๆ ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อค้นหาร้านอาหารและที่พักที่ดีสุด เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมภาคธุรกิจอาหารและการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งเป็นการสร้าง ขวัญกำลังใจที่ดีและจำเป็นสำหรับผู้ประกอบการท้องถิ่นทั้งในช่วงที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และภายหลังจากที่สถานการณ์คลี่คลายลง
ทั้งนี้มิชลิน ไกด์จะช่วยเป็นกระบอกเสียงในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ด้วยกิจกรรมการตลาด และสื่อสารผ่านสื่อออฟไลน์และออนไลน์ทั่วโลก เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทาง ด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหารระดับโลก ตลอดจนช่วยส่งเสริมการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวไทยหลังวิกฤติโควิด-19 และมุ่งมั่นผลักดันให้เกิดการพัฒนาภาคธุรกิจร้านอาหารและการบริการ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐด้านเศรษฐกิจ ชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio, Circular and Green Economy:BCG) ที่มุ่งให้เกิดการพัฒนา ในหลากหลายมิติ เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ ต่อประชาชน และยังเกิดผลดีต่อโลกอย่างยั่งยืนด้วย