“พลังงาน” เตรียมประมูล 3 แปลงสำรวจปิโตรเลียมอ่าวไทย
แหล่งทรัพยากรธรรมชาติของไทยเป็นอีกปัจจัยที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศแต่ไทยไม่ได้มีการเปิดให้สำรวจแหล่งปิโตรเลียมมาตั้งแต่ปี2550 หรือกว่า 14 ปีมาแล้ว
โดยการอนุมัติสำรวจฯ ล่าสุดได้แก่แปลงสำรวจบนบกหมายเลข L1/64 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา คาดว่าจะสามารถผลิตน้ำมันดิบได้วันละประมาณ 300-400 บาร์เรลต่อวัน และสามารถทดแทนมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบได้ประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี นับเป็นมูลค่าทรัพยากรที่น่าสนใจและต้องใช้อย่างคุ้มค่า
สราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติอยู่ระหว่างเตรียมแผนการเปิดประมูลสำรวจและผลิตปิโตรเลียมครั้งใหม่ (รอบที่24) จำนวน 3 แปลงบริเวณในอ่าวไทยหลังจากที่ไม่ได้มีการเปิดให้สำรวจนับตั้งแต่ปี2550 หรือกว่า 14 ปีมาแล้ว โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติคาดหวังว่าพื้นที่แปลงสำรวจและผลิตดังกล่าวจะเข้ามาช่วยเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่ปัจจุบันจะเริ่มมีปริมาณน้อยลงไปเรื่อยๆ ให้เพิ่มขึ้นมาได้ เพื่อที่จะเป็นการเพิ่มรายได้ให้ภาครัฐ และทดแทนการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศได้ส่วนหนึ่ง เพราะราคาพลังงานนำเข้าจะสูงกว่ามาก
อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้มีการเตรียมแผนการเปิดประมูลฯ อย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นเป้าหมายสำคัญที่จะดำเนินการอย่างเร็วที่สุด ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการลงทุน และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ แต่ด้วยเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่สามารถออกประกาศเชิญชวนนักลงทุนต่างประเทศได้ โดยเฉพาะในเรื่องของการเดิน ที่หลายประเทศต้องปิดประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่เพิ่งได้ทำการเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พ.ย.2564 ที่ผ่านมา ส่งผลให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ คิดที่จะเปิดประมูลอีกครั้ง
“จริงๆ ได้เตรียมแผนการประมูลไว้นานมากแล้ว และพร้อมมากที่จะเปิดประมูลหลังจากประเทศไทยได้เปิดประเทศ ตลอด 1 เดือนที่ผ่านทำให้เรามีความหวังและได้เตรียมแผนไว้ แต่ก็หวังว่าโรคโควิดสายพันธุ์โอมิครอนจะไม่ส่งผลกระทบต่อการเปิดประเทศของเรา เพราะหากปิดประเทศอีกครั้ง ก็จะส่งผลกระทบต่อการเปิดประมูลด้วยเช่นกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ มีแผนจะออกประกาศเชิญชวนเปิดประมูลสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบดังกล่าวตั้งแต่เดือนมี.ค.2563 และคาดหมายว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนในการสำรวจขั้นต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท แต่ก็เกิดวิกฤตของโรคระบาดโควิด-19 ระบาดจึงต้องเลื่อนการประมูลออกไป”
สำหรับข้อกำหนดเขตพื้นที่แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย เพื่อยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจำนวน 3 แปลง รวมพื้นที่ทั้งหมด 34,873 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย แปลง G1/63 ซึ่งอยู่ด้านบนสุด มีขนาดพื้นที่ 8,197 ตารางกิโลเมตร แปลงG2/63 ซึ่งอยู่ตรงกลาง มีขนาดพื้นที่ 15,030 ตารางกิโลเมตร และแปลงG3/63 ที่อยู่ล่างสุด มีขนาดพื้นที่ 11,646 ตารางกิโลเมตร ซึ่งการให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจำนวน 3 แปลงดังกล่าว จะดำเนินการภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) เช่นเดียวกับแหล่งเอราวัณ และ บงกช ภายหลังสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี2565-2566 ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการปิโตรเลียมที่ได้กำหนดไว้ก่อนหน้านี้
สราวุธ กล่าวว่า สำหรับแผนสำรองการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ (LNG) และความคืบหน้าการส่งมอบพื้นที่แหล่งปิโตเลียมเพื่อติดตั้งแท่นและเจาะหลุมผลิตในโครงการ G1/61 (เอราวัณ) จากบริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ผู้รับสัมปทานรายเดิม ให้กับ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (PTTEP ED) ซึ่งเป็นคู่สัญญารายใหม่กับรัฐภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิต PSC ที่กำหนดไว้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยสัมปทาน แหล่งเอราวัณของ เชฟรอนฯ จะหมดสัญญาวันที่ 23 เม.ย. 2565 ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานก็ได้เจรจาอย่างต่อเนื่อง และหวังว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้ เพื่อให้ ปตท.สผ.สามารถเข้าพื้นที่ดำเนินการผลิตก๊าซฯ ให้ได้อย่างต่อเนื่อง
“เร็วๆ นี้ กระทรวงพลังงานอาจจะแถลงความคืบหน้าทั้งในเรื่องของแผนการเปิดประมูลปิโตรเลียมรอบใหม่ และแผนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ LPG เพราะคาดว่าจะมีความชัดเจนได้ก่อนสิ้นปี2564นี้ แต่ตอนนี้ยังบอกรายละเอียดไม่ได้ เนื่องจากยังอยู่ในข้อพิพาทระหว่างกัน