กรมส่งเสริมสหกรณ์ วางแผน 65 รับมือสมาชิกเสี่ยงไม่ชำระหนี้
กรมส่งเสริมสหกรณ์ วางมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ ปี 65 หลัง โควิดกระทบรายได้สมาชิกสหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกร ปริมาณธุรกิจสหกรณ์ภาคการเกษตรลดลงกว่า 7,555 ล้านบาท
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ภาคการเกษตร ซึ่งในปี 2564 ที่ผ่านมา ปริมาณธุรกิจสหกรณ์ภาคการเกษตรลดลงกว่า 7,555 ล้านบาท เนื่องจากไม่สามารถจำหน่ายผลผลิตการเกษตรได้เหมือนเช่นสถานการณ์ปกติ รวมถึงผู้ส่งออก ชะลอการรับซื้อสินค้าจากสหกรณ์เพื่อส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ขณะที่สมาชิกสหกรณ์ส่วนหนึ่งต้องกู้เงินจากสหกรณ์ที่ตัวเองสังกัด หรือแหล่งเงินกู้ทั้งในระบบและนอกระบบ เพื่อนำมาลงทุนทำการเกษตร ส่งผลให้สมาชิกสหกรณ์ภาคการเกษตรมีภาระหนี้สินเพิ่มมากขึ้น
กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงมีนโยบายในการบรรเทาและแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ภาคการเกษตรและ กลุ่มเกษตรกร โดยในปี 2564 ได้ดำเนินการ 3 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการช่วยเหลือด้านหนี้สินสมาชิกสหกรณ์และ กลุ่มเกษตรกร เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2562 ซึ่งเป็นช่วงที่โรคโควิ19 เริ่มระบาดในปีแรก
โดยให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรที่มีหนี้เงินกู้จากการทำการเกษตร โดยมีต้นเงินกู้ขอรับการชดเชยไม่เกิน 300,000 บาทแรก อัตราดอกเบี้ย 3% เป็นระยะเวลาชดเชยดอกเบี้ย 1 ปี หรือ สัญญาเงินกู้ตั้งแต่ 1ส.ค. 2561 – 31 ก.ค. 2562) โดยในปี 2562 – 2564 กรมฯ ได้ชดเชยดอกเบี้ยให้แก่สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรแล้ว จำนวน 384,775 ราย ในพื้นที่ 77 จังหวัด สหกรณ์ 1,093 แห่ง กลุ่มเกษตรกร จำนวน 319 แห่ง รวม 1,412 แห่ง และในปี 2565 มีแผนชดเชยดอกเบี้ยให้สมาชิกที่ได้รับยังไม่เต็มจำนวนอีก 353,445 ราย
นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระของสมาชิกสหกรณ์ เนื่องจากกรมฯได้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาหนี้ค้างชำระของสมาชิกสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบอาชีพและการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งส่งผลต่อรายได้และการดำรงชีพของสมาชิกสหกรณ์
จึงมีนโยบายแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2562 และต่อเนื่องมาจนถึงปี 2564 โดยจัดอบรมถ่ายทอดความรู้แก่ฝ่ายจัดการของสหกรณ์ 741 แห่ง 3,920 ราย ให้มีความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการธุรกิจสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระของสมาชิก และส่งเสริมให้สมาชิกมีความรู้ในการบริหารจัดการหนี้ของตนเอง รู้จักวางแผนทางการเงิน สามารถชำระหนี้ค้างได้ และเสริมสร้างอาชีพเสริมให้สมาชิก 2,496 ราย
โดยสมาชิกสหกรณ์ที่มีหนี้ค้างชำระ ณ วันที่ 1 ม.ค. 2564 จำนวน 751.095 ล้านบาท ลดลงเหลือ 727.783 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ส.ค. 2564 คิดเป็น 7.03% พร้อมทั้งได้สนับสนุนเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ย 1% จากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ วงเงิน 25 ล้านบาท
ภายใต้โครงการสนับสนุนเงินทุนเพื่อแก้ปัญหาหนี้และฟื้นฟูอาชีพสมาชิกสหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนให้สมาชิกกู้ยืมรายละไม่เกิน 30,000 บาท อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3% ต่อปี ระยะเวลาให้กู้ต่อเนื่อง 3 ปี เพื่อให้สมาชิกที่มีปัญหาภาระหนี้ ใช้เป็นทุนในการประกอบอาชีพและสร้างรายได้ระยะสั้น โดยสหกรณ์จะช่วยหาตลาดรองรับผลิตผลล่วงหน้า ตามนโยบายตลาดนำการผลิต
ปัจจุบันมีสหกรณ์ขอกู้เงินจาก กพส.แล้ว 83 แห่ง วงเงิน 16.415 ล้านบาท และจากการติดตามผลการแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระของสมาชิกสหกรณ์ที่ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2562 พบว่า ในภาพรวมสมาชิกสหกรณ์ยังมีหนี้ค้างชำระ ณ วันที่ 30 ก.ย. 2564 จำนวน 189,254 ราย มูลหนี้ค้างรวม 30,030.639 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเม.ย. 2564 ที่มีจำนวน 205,676 ราย และมูลหนี้ค้างรวม 33,752.427 ล้านบาท ผลจากการดำเนินโครงการดังกล่าว ส่งผลให้สมาชิกมีหนี้ค้างลดลง จำนวน 16,422 ราย มูลหนี้ค้างลดลง 3,721.733 ล้านบาท หรือคิดเป็น 11.03 %
สำหรับมาตรการที่ 3 เป็นการช่วยเหลือบรรเทาภาระหนี้ให้แก่สมาชิกสหกรณ์และสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ออกประกาศนายทะเบียนสหกรณ์ ให้สหกรณ์ใช้เป็นแนวทางในการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของสมาชิกสหกรณ์ โดยขอความร่วมมือสหกรณ์ผ่อนผัน การชำระหนี้ให้กับสมาชิก ทั้งขยายเวลาชำระหนี้หรือพักชำระหนี้เป็นการชั่วคราว รวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ส่วนการชำระค่าหุ้นของสมาชิก ขอให้ปรับลดหรืองดส่งค่าหุ้นรายเดือนเป็นการชั่วคราว หรืองดหักส่งค่าหุ้นตามส่วนของเงินกู้ จนกว่าจะเข้าสู่สถานการณ์ปกติ
ผลจากการให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของสมาชิกจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด 19 ในปี 2564 มีสหกรณ์ที่เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือบรรเทาหนี้ ให้สมาชิก 3,994 แห่ง โดยพักชำระหนี้ให้สมาชิก 261,009 ราย มูลหนี้รวม 63,710.90 ล้านบาท มีการลดดอกเบี้ยเงินกู้ ให้สมาชิก 789,874 ราย ลดภาระหุ้นโดยปรับลด/งดค่าหุ้นชั่วคราวให้สมาชิก 315,865 ราย มูลค่า 1,390.31 ล้านบาท ปรับโครงสร้างหนี้ให้สมาชิก 57,560 ราย โดยสหกรณ์รับภาระหนี้แทน 6,652.04 ล้านบาท และลดค่าใช้จ่ายให้กับสมาชิกสหกรณ์ 314,996 ราย มูลค่า 429.67 ล้านบาท
“ในปัจจุบันเราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า สถานการณ์ของสหกรณ์ภาคการเกษตร หลาย ๆ สหกรณ์มีปัญหาเรื่องของธุรกิจสินเชื่อค่อนข้างมาก หรือแม้แต่ธุรกิจรวบรวมผลผลิตและธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่ายก็เหมือนกัน ซึ่งก็เป็นผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด19 และส่งผลต่อเนื่องถึงตัวสมาชิกสหกรณ์ รายได้จากการผลิตสินค้าของเขาก็มีปัญหา มันก็เป็นเรื่องที่ต่อเนื่องกัน แต่ในวิกฤติก็ย่อมต้องมีโอกาส เพราะว่าจากการที่ได้ลงไปเยี่ยมเยียนในต่างจังหวัดหลาย ๆ แห่ง สหกรณ์ที่เขามีศักยภาพในการส่งเสริมให้สมาชิกประกอบอาชีพและรวบรวมผลผลิตออกจำหน่าย สหกรณ์เหล่านี้ยังมีศักยภาพแล้วสมาชิกก็ทำจริง มีรายได้จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่กรมฯพร้อมให้การสนับสนุนให้สมาชิกสหกรณ์พัฒนาอาชีพและ สร้างรายได้ เพื่อจะได้มีเงินเลี้ยงครอบครัวและส่งชำระหนี้คืนสหกรณ์ได้ ทำให้ปัญหาเรื่องหนี้ค้างชำระลดลงในที่สุด”