ไทยพาณิชย์แนะรัฐกู้เพิ่ม1ล้านล้านบาทฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ไทยพาณิชย์แนะรัฐกู้เพิ่ม 1 ล้านล้านบาทปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ขณะที่ ปรับลดจีดีพีปีนี้เหลือ 0.7% และ ปีหน้าเหลือ 3.2% จับตาโอมิครอนส่อเค้าระบาดในไทย หวั่นกระทบการบริโภคในประเทศ ขณะที่ การส่งออกยังประสบปัญหาด้านซัพพลายเชน และดิสรัปชั่น และการท่องเที่ยวยังฟื้นตัวไม่เต็มที่
นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยมุมมองเศรษฐกิจปีนี้ และปีหน้า โดยภาพรวมเศรษฐกิจยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และการควบคุมการระบาดค่อนข้างรุนแรง ทำให้เราปรับลดจีดีพีจาก 0.9% เหลือ 0.7% ส่วนปีหน้าคาดขยายตัวได้ 3.2% จากคาดการณ์เดิม 3.4% และแม้ว่าปีหน้าจะโตได้ แต่ถ้ามองรวม 3 ปี นับจากปี 2563 ที่โตติดลบ 0.6% ปีนี้ 0.7% และ ปีหน้า 3.4% ก็ยังถือว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยค่อนข้างช้า
สาเหตุที่ปรับจีดีพี ปีนี้ เพราะการระบาดโควิด-19 ยาวนานต่อเนื่อง โดยเครื่องชี้หลักคือ การบริโภคเอกชน ซึ่งคาดจะขยายตัวติดลบ 0.8% จากเดิม 0.1% ด้านการส่งออกคาดขยายตัวได้ 15% เพราะเห็นสัญญาณการชะลอตัวจากซัพพลายดิสรัปชั่นในประเทศ และจากซัพพลายเชนในต่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังคาดจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงจาก 3 แสนราย เหลือ 1.7 แสนคน สะท้อนการเปิดประเทศอาจไม่ได้ผลบวกมากนัก เพราะหลายประเทศระวังการออกนอกประเทศ ส่วนปีหน้ามองฟื้นตัวค่อยเป็นค่อยไปที่ 6.3 ล้านคน ส่วนเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ ไม่น่ากังวล
“ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยหดตัวเทียบไตรมาสต่อไตรมาส แต่คาดไตรมาส 4 เศรษฐกิจจะขยายตัวดีขึ้น จากการระบาดลดลง”
เขากล่าวด้วยว่า อีกสัญญาณหนึ่งที่อยากนำเสนอคือ เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวค่อนข้างช้า โดยเศรษฐกิจไทยจะกลับมามีขนาดการฟื้นตัวเท่ากับก่อนเกิดโควิด-19 ได้ประมาณกลางปี 2566 จากก่อนหน้านี้ เรามองจะฟื้นตัวได้ประมาณต้นปี 2566 หลังจากผลกระทบรุนแรง
ขณะที่ หลายประเทศสามารถกลับฟื้นตัวได้ค่อนข้างมาก แต่ประเทศกำลังพัฒนารวมถึงไทยยังช้ามีช่องว่างการเติบโตที่ค่อนข้างช้าประมาณ 10% สะท้อนความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น กล่าวคือ รายได้ที่หายไป หรือความมั่งคั่งของทุกภาคปรับตัวแย่ลง เป็นประเด็นหลักที่เรามีมุมมองว่า นโยบายภาครัฐอาจต้องมีบทบาทเพิ่มเติม ชดเชยรายได้ส่วนนี้
“เรามองว่า ภาครัฐยังมีรูมในการใช้จ่าย ตอนนี้เงินพ.ร.ก. 5 แสนล้านบาท เหลืออยู่กว่า 2 แสนล้านบาท แต่คิดว่า ไม่เพียงพอ ซึ่งการฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจยังจำเป็น โดยหนี้ต่อจีดีพีจะพุ่งเกิน 60% แน่นอนแม้จะไม่มีการกู้เพิ่ม ถ้ากู้เพิ่ม 5 แสนล้าบาท ถึง 1 ล้านล้านบาท ยังทำได้ เพราะสภาพคล่องยังมี และดอกเบี้ยยังต่ำ โดยหนี้ต่อจีดีพีอาจจะอยู่ที่ 69%”
ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตา คือ การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่โอมิครอนที่คาดกันว่าสามารถแพร่กระจายได้มากขึ้นและอาจลดประสิทธิภาพของวัคซีนลงบ้าง อย่างไรก็ดี คาดว่าผลกระทบจะไม่รุนแรงเท่ากับการระบาดรอบเดลตา เนื่องจากการฉีดวัคซีนในไทยและประเทศหลักส่วนใหญ่อยู่ในอัตราสูงกว่าเดิม ทำให้ภาครัฐไม่จำเป็นต้องออกมาตรการควบคุมที่เข้มงวดมากเหมือนเดิม
อีกทั้ง ภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือนมีความพร้อมในการปรับตัวต่อสถานการณ์
เพิ่มมากขึ้น ผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ และออนไลน์ต่างๆ ที่เติบโตขึ้นต่อเนื่อง สำหรับการใช้จ่ายในประเทศคาดว่าแม้ในระยะสั้นจะมีการฟื้นตัวจากการใช้จ่ายกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากอุปสงค์คงค้าง (pent-up demand)
และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การฟื้นตัวในภาพรวมจะยังเป็นไปอย่างช้าๆ จากผลของร่องรอยแผลเป็นเศรษฐกิจในช่วงสองปีที่ผ่านมาทั้งในด้านรายได้ครัวเรือนจากตลาดแรงงานที่ซบเซา และภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้ หนึ่งในแผลเป็นเศรษฐกิจไทยที่สำคัญคือ ความเหลื่อมล้ำหลังโควิด-19 ทั้งการว่างงานและเงินออม โดยปัญหาการว่างงานนั้น เราจะมีคนว่างงานที่มีระยะเวลาที่นานขึ้นเกิน 6 เดือน ถึง 1 ปี ขึ้นไปเกิน 40% เราประเมินว่า รายได้ภาคแรงงานจะลดลงถึง 1.7 ล้านล้านบาทต่อปี ปกติ 6.8 ล้านล้านบาท หายไป 1 ใน 4 ของรายได้เดิม
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งเราคาดว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสสองอยู่ที่ 90.5% เป็นเพราะจีดีพีครึ่งหลังจะติดลบ โดยมอง 92% ในสิ้นปี โดยสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นสินเชื่อเดียวที่มีการเติบโต สะท้อนครัวเรือนมีความเดือดร้อน และกูเกิลเทรนด์การเสิร์ชประเด็นเงินด่วนเงินร้อนมีอยู่สูงมาก ดังนั้น หนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มสูงทั้งในระบบ และนอกระบบ โดยเฉพาะมาตรการพักหนี้สิ้นสุดลง
ด้านนโยบายการเงินนั้น เราคิดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะคงอัตราดอกเบี้ยยาว โดยจะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งจะเป็นปี 2567 เพราะว่า กว่าเราจะกลับไปมีรายได้ใช้เวลานาน ถ้าจะขึ้นคงขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป และจะปรับสูงสุดแค่ 2-3% เพราะระดับหนี้ที่สูงขึ้นมากทั้งภาครัฐ และครัวเรือน ถามว่า มีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยไหม ก็ยังมี เรามอง 20-30%ในปีนี้ แต่ถ้าการระบาดโควิด-19 ยังรุนแรงนำไปสู่การปิดเมือง คิดว่า แบงก์ชาติคงจะเก็บกระสุนไว้กรณีจำเป็น
“ประเด็นที่แบงก์ชาติน่าจะให้ความสนใจมากขึ้นคือ การกระจายสภาพคล่อง เราเริ่มเห็นว่า ภาคธุรกิจวงเงินมากกว่า 500 ล้านบาท แนวโน้มเริ่มติดลบน้อยลง เริ่มเป็นบวกแต่เป็นบวกจากฐานที่ต่ำ ส่วนเอสเอ็มอีนั้น มีความจำเป็นต้องได้สภาพคล่อง แต่ยังเข้าถึงได้ไม่ดีนัก”
ส่วนเงินบาทนั้น อ่อนค่าลงมามากประมาณ 9% โดยปีนี้ เรามอง 32.5-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนปีหน้ามอง 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เชื่อเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดี และดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลง
ทั้งนี้ ค่าเงินบาทจะมีแนวโน้มผันผวน และอ่อนไหวค่อนข้างมากตามปัจจัยที่เข้ามากระทบโดยเฉพาะจากข่าวการระบาดโควิด-19 รอบใหม่ๆ ที่จะกระทบต่อแนวโน้มภาคการท่องเที่ยวของไทย รวมทั้ง การเปลี่ยนแปลงของตลาดต่อมุมมองนโยบายการเงินของสหรัฐ
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์