"บีโอไอ" ชงต่ออายุ 1 ปี มาตรการลงทุน "อีอีซี"

"บีโอไอ" ชงต่ออายุ 1 ปี มาตรการลงทุน "อีอีซี"

“อีอีซีเป็นพื้นที่เป้าหมายที่จะกระตุ้นการลงทุน เมื่อโครงสร้างพื้นฐานเสร็จก็จะทวีความสำคัญขึ้นกว่าเดิม”

เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ถือเป็นพื้นที่ลงทุนสำคัญที่มีการกำหนดสิทธิประโยชน์เฉพาะให้กับผู้ลงทุนในอีอีซี ซึ่งต้องการให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่และการลงทุนในเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ โดยจะสิ้นสุดมาตรการในสิ้นเดือน ธ.ค.2564 และกำลังจะเสนอต่อมาตรการอีก 1 ปี ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนวันที่ 20 ธ.ค.2564

ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า นโยบายส่งเสริมการลงทุนระยะ 7 ปี (2558-2564) มีการขยายเวลาเพิ่มเป็น 8 ปี เพื่อให้กรอบเวลาสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ฉะนั้นแผนที่มีอยู่เดิมจะมีการขยายเวลาให้สิ้นสุดลงในปี 2565 หลังจากนั้นบีโอไอจะมีการจัดทำยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ทั้งสิ้น เริ่มต้นใช้งานในปี 2566

สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี ที่หมดอายุสิ้นปี 2564 จะเสนอต่ออายุมาตรการในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้ โดยบีโอไอ

“อีอีซียังเป็นพื้นที่เป้าหมายในการกระตุ้นให้เกิดการลงทุน และเมื่อโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังดำเนินโครงการสำเร็จ พื้นที่อีอีซีจะทวีความสำคัญยิ่งขึ้นกว่าเดิม”
 

สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนอีอีซี แบ่งเป็น 2 เกณฑ์ และเลือกดำเนินการทั้ง 2 เกณฑ์ควบคู่กันหรือเลือกเกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่งได้ ดังนี้ 

กรณีพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ลงทุนในกิจการเป้าหมาย โดยต้องมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาตามรูปแบบที่กำหนด ได้แก่ ความร่วมมือในโครงการ Work-integrated Learning (WL) สหกิจศึกษาและทวิภาคี หรือความร่วมมือเพื่อพัฒนาบุคลากรไทยในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอื่นตามที่ได้รับความเห็นชอบจากบีโอไอ โดยต้องยื่นแผนความร่วมมือในการรับนักเรียนหรือนักศึกษาเข้าฝึกอาชีพ โดยมีจำนวนนักเรียนหรือนักศึกษาที่จะรับเข้าฝึกอาชีพไม่น้อยกว่า 1% ของจำนวนพนักงานทั้งหมดในโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน หรือไม่น้อยกว่า 40 คน แล้วแต่จำนวนใดต่ำกว่า

สำหรับกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5-8 ปี อยู่แล้ว จะได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เพิ่มเติม 3 ปี และสำหรับกิจการกลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมายและกลุ่มสนับสนุน จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพื่อมเติม 2 ปี

กรณีแบ่งตามสถานที่ตั้งโครงการ ในเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษในอีอีซี ดังนี้ เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) 

เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์พัทยา (EECmd) และเขตส่งเสริมการแพทย์จีโนมิกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา (บางแสน) 

สำหรับกิจการที่ได้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5-8 ปี จะได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เพิ่มเติม 2 ปี ส่วนกิจการกลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมายและกลุ่มสนับสนุนรวมถึงกรณีตั้งกิจการในนิคมอุตสาหกรรมอีอีซีจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 1 ปี 

ทั้งนี้ กิจการที่ตั้งในเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ 4 แห่ง ดังกล่าว ไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดในการยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน

ส่วนคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) ปี 2564 มี 348 โครงการ เงินลงทุน 173,780 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น จ.ฉะเชิงเทรา 49 โครงการ มูลค่าการลงทุน 27,800 ล้านบาท จ.ชลบุรี 132 โครงการ มูลค่าการลงทุน 54,310 ล้านบาท และ จ.ระยอง 67 โครงการ มูลค่าการลงทุน 91,640 ล้านบาท

\"บีโอไอ\" ชงต่ออายุ 1 ปี มาตรการลงทุน \"อีอีซี\"

สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า บีโอไอควรให้สิทธิประโยชน์นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม New S-Curve เพื่อให้เกิดการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ อย่างไรก็ดีเสนอแนะให้บีโอไอมีการทำงานเชิงลึกและมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่เข้าถึงกลุ่ม SMEs ไทยมากขึ้นในกลุ่มธุรกิจ อาทิ เครื่องสำอาง แฟชัน สุขภาพ และสมุนไพร โดยยืดหยุ่นประเภทธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีมาใช้และปรับตัวสู่อุตสาหกรรม 4.0

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ผ่านมาได้ต่ออายุและปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนแล้ว ดังนี้

1.มาตรการส่งเสริมการลงทุนเศรษฐกิจฐานราก จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในวงเงิน 120% ของเงินสนับสนุน หรือให้ได้รับวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมวงเงิน 120% ของเงินสนับสนุน แล้วแต่กรณี โดยเงินลงทุนที่ใช้สนับสนุนต้องไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน โดยต้องสนับสนุนท้องถิ่นไม่น้อยกว่า 200,000 บาทต่อราย

ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการมีส่วนร่วมสนับสนุนองค์กรท้องถิ่นพัฒนากิจการเกษตรที่ยั่งยืน และยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันด้านการผลิตหรือให้บริการขององค์กรท้องถิ่นหรือชุมชนในกิจการด้านการเกษตรและเกษตรแปรรูป กิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมเบาและกิจการท่องเที่ยวชุมชน

2.มาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับ SMEs โดยมีสิทธิประโยชน์ครอบคลุมภาคการผลิตและบริการ ดังนี้ ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักรและวัตถุดิบผลิตเพื่อการส่งออก ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เพิ่มเป็น 2 เท่า หรือ เป็นวงเงิน 200% ของเงินลงทุน ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี ตามประเภทกิจการ หากลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมจะได้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่ม 1 ปี เมื่อลงทุนใน 20 จังหวัด ที่มีรายได้ต่อหัวต่ำจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่ม 3 ปี สำหรับกลุ่มธุรกิจ A1 และ A2 รับลดหย่อยภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 50% อีก 5 ปี

สำหรับคุณสมบัติของ SMEs ต้องมีบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่า 51% และมีรายได้ของกิจการ ทั้งกิจการที่ได้รับการส่งเสริมบีโอไอและไม่ได้บีโอไอ รวมกันต่อปีไม่เกิน 500 ล้านบาท ในช่วง 3 ปีแรก