‘ททท.’ จ่อโยกงบ ‘ทัวร์เที่ยวไทย’ ถกเพิ่มสิทธิ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ ก่อนสิ้นปี
นับตั้งแต่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดให้ประชาชนจองสิทธิโรงแรมที่พักโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3” จำนวน 2 ล้านสิทธิเมื่อวันที่ 8 ต.ค.2564 ได้รับกระแสตอบรับดีต่อเนื่องจนจำนวนสิทธิที่พักเหลือต่ำกว่า 1 แสนสิทธิ และคาดว่าจะหมดภายในเร็ววันนี้
ส่งผลให้ผู้ประกอบการโรงแรมที่พักเรียกร้องให้ภาครัฐเพิ่มจำนวนสิทธิและต่ออายุโครงการเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศให้เดินเครื่องต่อไปได้ในสถานการณ์ที่แม้ประเทศไทยจะดำเนินนโยบาย “เปิดประเทศ 1 พ.ย.2564” แล้วก็จริง แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยเดินทางเข้ามาด้วยจำนวนที่ไม่ได้อุ่นหนาฝาคั่งเหมือนภาวะปกติก่อนเจอวิกฤติโควิด-19
ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท. กล่าวว่า มีแนวโน้มจะโยกงบประมาณบางส่วนของโครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” เพื่อนำมาเพิ่มจำนวนสิทธิของโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เนื่องจากขณะนี้จำนวนสิทธิของเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 ซึ่งมี 2 ล้านสิทธิ ถูกใช้ไปจำนวนมากแล้ว จากการรวบรวมสถิติวานนี้ (9 ธ.ค. เวลา 9.00 น.) เหลือสิทธิที่พัก 97,463 สิทธิ รวมมูลค่าการใช้จ่ายโรงแรมที่พัก คูปอง และตั๋วเครื่องบินทั้งสิ้น 7,425.1 ล้านบาท ขณะที่จำนวนสิทธิคงเหลือของโครงการทัวร์เที่ยวไทย ตามข้อมูลบนหน้าเว็บไซต์ ทัวร์เที่ยวไทย.ไทย อยู่ที่ 985,187 สิทธิ ถูกใช้ไป 14,813 สิทธิ จากจำนวนทั้งหมด 1 ล้านสิทธิ
“เมื่อจำนวนสิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 ถูกใช้จนหมด แต่งบประมาณของโครงการทัวร์เที่ยวไทยยังเหลือ ทาง ททท.จะขอประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในเร็วๆ นี้ ว่าจะทำอย่างไรกับงบฯทัวร์เที่ยวไทยต่อ โดยต้องมาดูเพนพอยต์ (Pain Point) ของทัวร์เที่ยวไทยว่าคืออะไร ทำไมถึงขายแพ็คเกจทัวร์ได้ไม่หมด และเราจะช่วยเหลือผู้ประกอบการทัวร์อย่างไร โจทย์คือต้องสร้างสมดุลความสุขแก่ผู้ประกอบการของทั้งฝั่งโครงการเราเที่ยวด้วยกันและทัวร์เที่ยวไทยด้วย จะให้โยกงบฯที่เหลือของทัวร์เที่ยวไทยไปเราเที่ยวด้วยกันทั้งหมด ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะผู้ประกอบการทัวร์ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการเราเที่ยวด้วยกัน”
เมื่อประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว จะนำเรื่องนี้หารือกับนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท.อีกครั้งภายในสิ้นปี 2564 ก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอมติเห็นชอบต่อไป
ทั้งนี้ เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 ถือเป็นโครงการที่ได้รับกระแสตอบรับดีจากนักท่องเที่ยวไทยหลากหลายกลุ่ม อย่างตลาด “คนไทยเที่ยวต่างประเทศ” ซึ่งปัจจุบันยังมีข้อจำกัดด้านการเดินทางระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ “โอมิครอน” ที่สร้างแรงกระเพื่อมทั่วโลก!
เมื่อทุกคนต่างจับตาความเสี่ยงต่างๆ รวมหลายปัจจัยซึ่งกระทบต่อความรู้สึก (Sentiment) อาจจะไม่อยากออกไปเที่ยวต่างประเทศในช่วงนี้ แม้ว่าบางประเทศจะเริ่ม “เปิดประเทศ” ต้อนรับนักท่องเที่ยวไทยแล้วก็ตาม ทำให้จุดหมายในไทยที่ได้รับความนิยมจากตลาดไทยเที่ยวนอกในช่วงนี้ ส่วนใหญ่เป็นหาดทรายชายทะเล โดยเฉพาะสมุย ภูเก็ต และกระบี่ ทั้งนี้เริ่มเห็นเทรนด์ของนักท่องเที่ยวไทยตลาดลักชัวรีนิยม “ล่องเรือยอช์ต” จำนวนมาก ขณะที่ภาคเหนือก็เริ่มเห็นกระแสการเดินทางดีมากเช่นกัน เพราะเข้าสู่ไฮซีซั่นรับลมหนาวแล้ว
ฐาปนีย์ เล่าเพิ่มเติมว่า และด้วยปี 2565 จะเป็น “ปีแห่งการท่องเที่ยวไทย” (Visit Thailand Year 2022) เพื่อพลิกโฉมประเทศไทย! แนวทางส่งเสริมของตลาดในประเทศจะมุ่งสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ภายใต้แนวคิด “เที่ยวเมืองไทย Amazing ยิ่งกว่าเดิม” โดย ททท.จะติด “สปริงบอร์ด” แก่ทั้ง 45 สำนักงาน ด้วยการอัพสกิลและรีสกิลให้เป็น “อินฟลูเอนเซอร์” เพื่อรองรับการเข้าสู่การตลาดออนไลน์อย่างเต็มระบบ ทำให้เห็นว่าสิ่งที่อะเมซิ่งยิ่งกว่าเดิมนั้นอยู่ในมิติไหน เป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ และสามารถขายสินค้าท่องเที่ยวได้จริง!
“ททท.ต้องเร่งเสริมทักษะการตลาดออนไลน์แก่ทุกสำนักงานเพื่อรองรับเทรนด์โลก เช่น เมตาเวิร์ส (Metaverse) ซึ่งไม่ใช่เรื่องของโลกแห่งอนาคตอีกต่อไป แต่คือโลกแห่งความเป็นจริงที่ยิ่งเริ่มช้า โอกาสยิ่งถอยหลัง โดยในงานเทศกาลเที่ยวเมืองไทย ตั้งแต่วันที่ 19-23 ม.ค.2565 ณ สวนลุมพินี จัดโดย ททท. จะมีการจัด Metaverse Zone เพื่อนำเสนอนิทรรศการเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของโลกเสมือนจริงของผู้คนผ่านอินเทอร์เน็ตที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้วย”
อีกอย่างคือการปรับตัวเข้าสู่กระแส “นิวนอร์มอล” (New Normal) ของภาคท่องเที่ยวหลังถูกโควิด-19 ดิสรัป เช่น เทรนด์ Workation เที่ยวไปด้วยทำงานไปด้วย รวมถึงการนำเสนอสินค้าท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์พฤติกรรมหลายกลุ่ม อาทิ สินค้าท่องเที่ยวระดับลักชัวรี และสินค้าความสนใจพิเศษ เจาะกลุ่มเป้าหมายใหม่อย่างกลุ่มเศรษฐีใหม่ (New Wealth) ที่เกิดขึ้นจำนวนมากจากการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล และเดินหน้าขยายฐานกลุ่ม Active Senior หรือผู้สูงวัยซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพเช่นกัน แม้ไม่ได้พำนักยาว แต่ใช้จ่ายสูงและมีความถี่ของการเดินทางที่ดี
นอกจากนี้จะเดินหน้าการกระจายรายได้สู่ “เศรษฐกิจฐานราก” เน้นท่องเที่ยวเมืองรอง และแหล่งท่องเที่ยวชุมชนตามยุทธศาสตร์ชาติ ควบคู่กับการส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวตามกระแส พร้อมชูประสบการณ์การท่องเที่ยวจากกิจกรรม วัฒนธรรม และประเพณีของแต่ละพื้นที่มาเป็นจุดขาย ตอบโจทย์การท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการทำตลาดท่องเที่ยวในทุกยุคสมัย!