สวทช. จับมือ ส.อ.ท. พร้อมพันธมิตรเอกชน ร่วมยกระดับ SME สู่อุตสาหกรรม 4.0
เนคเทค สวทช. จับมือ ส.อ.ท. พร้อมพันธมิตรเอกชน ร่วมยกระดับอุตสาหกรรม 4.0 ด้วยแพลตฟอร์มสารสนเทศขั้นสูง พร้อมเปิดตัวศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค สวทช. ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ (มทร.กรุงเทพ) และหน่วยงานพันธมิตรเอกชน จัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการเนคเทคประจำปี 2564 หรือ NECTEC Annual Conference and Exhibitions 2021 (NECTEC–ACE 2021) ภายใต้แนวคิด “ฐานรากเทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาไทยก้าวหน้า” มุ่งเน้นด้าน “Digital Transformation for Sustainable Manufacturing and Services” เพื่อยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
รวมถึงแสดงผลงานทางด้านนวัตกรรมการผลิตและบริการที่ยั่งยืน ซึ่งสามารถนำไปใช้แก้ไขปัญหาและประยุกต์ใช้งานได้จริงในสายการผลิต พร้อมเปิดตัวศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) ตอบโจทย์การผลิตยุคใหม่ พัฒนาไทยสู่ Industry 4.0
นายพาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะประธานเปิดงาน กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษกิจของไทย แต่ในช่วงที่ผ่านมากลับเติบโตช้าลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความสามารถด้านแข่งขันและความเข้มข้นของการใช้เทคโนโลยีที่น้อยกว่าภูมิภาคอื่น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของอุตสาหกรรมไทย ประกอบกับสถานการณ์จากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างเร่งด่วน
นอกเหนือจากการลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจแล้ว ยังต้องมีการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง ให้พร้อมต่อการแข่งขันภายหลังจากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับสายการผลิตเพื่อยกระดับอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ตามแนวทางการพัฒนาประเทศ Thailand 4.0 ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนได้ถึง 10-40 % และสร้างรายได้เพิ่มขึ้น 10-20 % แต่ผู้ประกอบการยังขาดความรู้ความเข้าใจในการประยุกต์ใช้ อุตสาหกรรม 4.0
จากเหตุผลดังกล่าวจึงได้กำหนดแนวทางในการสนับสนุนผู้ประกอบการโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการ SME ให้สามารถยกระดับองค์กรให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างสอดคล้องกับทิศทางธุรกิจ พร้อมรองรับการเข้าสู่ยุคความปกติใหม่หลัง COVID-19 ขึ้น อย่างเป็นระบบ
โดยใช้แนวทางบันได 3 ขั้น คือ 1.การประเมินความพร้อมในปัจจุบัน และการจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องดำเนินการตามทิศทางของธุรกิจ (Initiation) 2.การจัดทำแผนดำเนินการและการจัดหาเทคโนโลยีโซลูชั่น (Solutioning) 3.การติดตั้งเทคโนโลยีโซลูชั่นและการประยุกต์ใช้งานในโรงงาน (Implementation&Operation)
เมื่อภาคอุตสาหกรรมของไทยสามารถประเมินความพร้อมได้ จะทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกจำนวนหนึ่งที่จะเป็นประโยชน์ในการพิจารณากำหนดนโยบายหรือมาตรการช่วยเหลือและกระตุ้นผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม ในการยกระดับความพร้อมของสถานประกอบการให้เข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 และสามารถนำไปใช้ในการวางแผนการพัฒนากำลังคนอุตสาหกรรม และการพัฒนา Technology Solution Provider/System Integrator (SI) ให้มีทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการ
ซึ่งจะช่วยทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการ ในการยกระดับเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ต่ำลง และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น อีกทั้งยังจะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะของประเทศไทยให้เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ และสอดคล้องกับอุปสงค์ของภาคอุตสาหกรรมในประเทศอีกด้วย
นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. กล่าวว่า การจัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการของเนคเทคประจำปี 2564 หรือ NECTEC Annual Conference and Exhibitions 2021 (NECTEC - ACE 2021) ถือเป็นกิจกรรมสำคัญในการส่งมอบผลงานให้กับประเทศไทย เป็นเวทีนำเสนอผลงานวิชาการ ผลงานวิจัย การสนับสนุนภารกิจสำคัญของประเทศและเครือข่ายพันธมิตร
โดยในปีนี้มีกลุ่มเป้าหมายและพันธมิตรที่สำคัญ คือ ภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย และหน่วยงานพันธมิตรเอกชน ที่ต้องการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ด้วยเทคโนโลยีเหมาะสมและคุ้มค่าต่อการลงทุน
นอกจากนี้ ภายในงานจะมีการนำเสนอองค์ความรู้จากผลงานวิจัยของเนคเทค และผลงานที่ร่วมกับพันธมิตร มานำเสนอในรูปแบบการสัมมนาวิชาการ และการจัดนิทรรศการแบบออนไลน์ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อนำเสนอผล งานและบริการที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อแสดงศักยภาพและเทคโนโลยีจากภาครัฐและเอกชนในด้านเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับภาคอุตสาหกรรม และนำเสนอความก้าวหน้าทางวิชาการทางด้านการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และสารสนเทศขั้นสูง
โดยในปีนี้จะมีการจัดงานในรูปแบบออนไลน์ มีระยะเวลาจัดงาน 4 วัน , มี 4 Keynote , 17 หัวข้อสัมมนา, 50 บูธนิทรรศการ, 10 ห้องเจรจาธุรกิจ ที่สำคัญ คือ Virtual Exhibition ทั้ง 50 บูธ ยังเปิดให้ผู้สนใจสามารถเข้าไปรับชมและศึกษาข้อมูลได้ตลอด 3 เดือนภายหลังวันจัดงาน
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 35 ปี ในการก่อตั้งเนคเทค สวทช. ได้สะสมองค์ความรู้และผลงานวิจัยในด้านต่างๆ เพื่อตอบโจทย์สำคัญ โดยมุ่งเน้นสร้างฐานรากเทคโนโลยีสารสนเทศขั้นสูงให้กับประเทศ ที่ผ่านมาได้ส่งมอบผลงานในหลายด้าน อาทิ AIFORTHAI, KidBright, NETPIE2020, HandySense Smart Farming Open Innovation, Open-D และในวันนี้สิ่งหนึ่งที่เนคเทค สวทช. พัฒนาเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่อง คือ การเพิ่มขีดความสามารถด้านอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ประกอบกับมีโจทย์สำคัญของประเทศในการขับเคลื่อนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19
ในปี 2564 เนคเทค สวทช. จึงส่งมอบ Smart Factory Platform ซึ่งประกอบด้วยเทคโนโลยีที่ช่วยตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภายใต้แผนพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi จึงมีโอกาสขยายต่อยอดเพื่อประโยชน์แก่ภาคอุตสาหกรรมทุกระดับต่อไป พร้อมเปิดตัวศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) ตอบโจทย์การผลิตยุคใหม่ พัฒนาไทยสู่ Industry 4.0”
ภาคอุตสาหกรรมจะได้เตรียมความพร้อมในการก้าวสู่อุตสาหกรรมอุตสาหกรรม 4.0 คือ การรู้จักตัวเองด้วยดัชนีชี้วัดความพร้อมอุตสาหกรรม 4.0 (Thailand I4.0 Index) ช่วยในการสนับสนุนตามมาตรการของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นกระบวนการการประเมินศักยภาพความพร้อมของผู้ประกอบการ โรงงาน เเละบริษัท โดยทำการลำดับการปรับปรุงโรงงานในด้านต่าง ๆ
เมื่อภาคอุตสาหกรรมมีความเข้าใจก็สามารถเริ่มต้นได้ง่าย เพื่อก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ในราคาที่จับต้องได้ ด้วยแพลตฟอร์ม IDA หรือ Industrial IoT and Data Analytics Platform ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มไอโอที (IoT) และระบบวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรม ที่เชื่อมโยงข้อมูลจากเครื่องจักรการผลิตและนำข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและอนุรักษ์พลังงานให้ดีที่สุด
นอกจากนี้ เนคเทค สวทช. ร่วมกับ ส.อ.ท. พร้อมพันธมิตร ร่วมเปิดตัวศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) ในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi ณ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง โดยมีวิสัยทัศน์เพื่อตอบโจทย์การผลิตยุคใหม่ พัฒนาไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 มุ่งเน้นการพัฒนาแพลตฟอร์มที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการผลิต ผู้พัฒนาระบบ นวัตกร นักวิจัยตลอดจนนักศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้องสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ผ่านกิจกรรมต่างๆ
โดย SMC ช่วยปลดล็อกปัญหาในการก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ด้วยบริการทั้ง 5 ด้าน
1) การประเมินความพร้อมของโรงงาน ว่ามีประเด็นใด ที่ต้องพัฒนาไปสู่ Industry 4.0 ด้วย Thailand I4.0 Index
2) การพัฒนากําลังคนร่วมกับพันธมิตรเพิ่มทักษะรองรับการเปลี่ยนแปลง
3) การเลือกใช้เทคโนโลยีและการให้คําปรึกษาเรื่องแหล่งเงินทุนรวมถึงสิทธิประโยชน์ด้านภาษีกับอุตสาหกรรมการผลิตแบบ One Stop Shop
4) ให้บริการแพลตฟอร์มพื้นฐาน เพื่อตอบโจทย์โรงงานขนาดเล็กและกลางที่มีเงินลงทุนจำกัด
5) ให้บริการเครื่องมือทดสอบ (Testbed) เบื้องต้นสามารถเข้ามาใช้บริการศูนย์การเรียนรู้ SMC Learning Center เพื่อเรียนรู้และรับบริการให้คำปรึกษาเชิงเทคนิค ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สามารถรับคำแนะนำจากบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีขั้นสูงที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม 4.0 ในด้านต่างๆ กว่า 100 ท่าน
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบันดิจิทัลดิสรัปชันและโควิด-19 ต่างเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่รวดเร็วขึ้น ทุกธุรกิจและทุกอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อก้าวข้ามวิกฤตินี้ไปให้ได้ ต้องเรียนรู้ให้เท่าทันกับเทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ Metaverse, Automation & Robotics, Artificial Intelligence, Block Chain และ Internet of Things เป็นต้น
จากข้อมูลพบว่า มีการนำระบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมอย่างแพร่หลาย โดยมีตัวเลขประมาณการเติบโตถึง 14% ต่อปี ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมไทยจึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน กระบวนการผลิตสู่แนวทาง Industry 4.0 ให้มากที่สุด ปัจจุบันไทยมีค่าเฉลี่ยประสิทธิภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 50% (มาตรฐานสากลอยู่ที่ประมาณ 85%)
ซึ่งทำให้ไทยมีต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยสูงกว่าสากล ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง ด้วยเหตุนี้เอง ส.อ.ท. จึงมุ่งขับเคลื่อนและสนับสนุนให้เกิด Industry 4.0 ในภาคอุตสาหกรรม อาทิ การผลักดันให้เกิด Industry 4.0 use cases ในภาคอุตสาหกรรม, การสนับสนุนหลักสูตรด้าน Industry 4.0 ผ่าน FTI Academy, ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการนำเสนอแนวทางการผลักดันและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม, สนับสนุนการจับคู่ด้าน Industry 4.0, ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการประเมินสถานะความพร้อมเพื่อเข้าสู่ Industry 4.0 และการร่วมกำกับดูแลและสนับสนุนผู้ประกอบการนำร่อง พร้อมผลักดันให้เกิดการใช้งานแพลตฟอร์ม