กรุงไทยชี้ปี 65 จุดเริ่มต้นเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจน
กรุงไทยชี้ปี 65 จุดเริ่มต้นเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจน ประเมินโอมิครอนไม่กระทบหนัก คาดจีดีพีขยายตัว 3.8% หนุนภาครัฐเดินหน้านโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ มองเงินบาทแข็งค่าจากนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามามากขึ้น แนะผู้ประกอบการปรับตัวรับแนวคิด “GROWTH” ติดสปีดให้เศรษฐกิจไทย
นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทยเปิดเผยว่า ทางกรุงไทยคอมพาสมองว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน จะกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยไม่มาก ด้วยเหตุผลที่แม้ว่า สายพันธุ์ดังกล่าวจะแพร่ระบาดเร็ว แต่ไม่รุนแรง ขณะที่ อัตราการฉีดวัคซีนของไทยก็อยู่ในระดับที่ดีหรือเกินกว่า 60%ของประชากร ดังนั้น ก็เชื่อว่า รัฐบาลจะไม่ประกาศล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยปี 2565 จะกลับเข้าสู่เส้นทางของการฟื้นตัว หรือ “Recovery Path” ชัดเจนขึ้น การฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมประชากรในสัดส่วนที่สูงขึ้นในหลายประเทศ รวมถึง การปรับพฤติกรรมของคนให้สามารถอยู่ร่วมกับโควิด-19 จะช่วยรักษาโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้ส่งออกไทยโตได้ต่อเนื่องที่ 3.9% ในปีหน้า ถือว่า ยังเติบโตได้ได้ภายใต้ภาวะต้นทุนแพงและการขาดแคลนวัตถุดิบ
ด้านอุปสงค์ในประเทศของไทยคาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมที่ฟื้นตัวเป็นลำดับนับตั้งแต่ไตรมาสที่สี่ของปี 2564 อย่างไรก็ดี มีหลายปัจจัยท้าทายที่ทำให้การกลับเข้าสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ของเศรษฐกิจไทยต้องล่าช้าไปเป็นปี 2566 โดยเฉพาะการระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งเราก็มองว่า ยังเป็นความเสี่ยง
“แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้นจากปีก่อน แต่ก็เป็นการเติบโตหลังจากที่เศรษฐกิจต้องสะดุดลงจากการแพร่ระบาดใหญ่ มีความเปราะบางทั้งจากการฟื้นตัวที่ไม่พร้อมเพรียงกัน (K-Shaped Recovery) และปริมาณหนี้ในระดับสูง ทำให้เศรษฐกิจไทยจะยังไม่กลับเข้าสู่ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 และยังต้องอาศัยการผ่อนคลายนโยบายการเงินและการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลังเพื่อช่วยสร้างโมเมนตัม”
นายมานะ นิมิตรวานิช ผู้อำนวยการฝ่าย ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการลงเม็ดเงินเยียวยาเศรษฐกิจเพิ่มเติมใน 3 มิติหลัก ได้แก่ “กลบหลุมเดิม-เติมกำลังซื้อ-รื้อโครงสร้างธุรกิจ” เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการขาดหายรายได้ของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะการจ้างงานแรงงานในภาคบริการที่คาดว่า จะยังฟื้นตัวได้ช้ากว่ากลุ่มอื่น ทั้งนี้ ทางแบงก์ชาติได้ระบุว่า กำลังแรงงานที่หายไปทำให้หลุมรายได้หายไปราว 2.6 ล้านล้านบาท
นอกจากนี้ ยังเห็นว่า ภาครัฐควรเดินหน้ามาตรการที่ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในรูปแบบของการช่วยออกค่าใช้จ่าย หรือ Co-payment ที่มี Multiplier กับเศรษฐกิจสูง ตลอดจนการช่วยเหลือและเสริมความแข็งแกร่งหรือปรับโครงสร้างให้ธุรกิจสามารถรองรับความเสี่ยง และแข่งขันได้ในยุค New Normal
ด้านนโยบายการเงินคาดว่า จะอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง หลังคณะกรรมการนโยบายการเงินให้สัญญาณที่ชัดเจนว่าจะใช้นโยบายการเงินสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ทำให้คาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ 0.5% ตลอดทั้งปี
“ในปีหน้า เรายังไม่เห็นปัจจัยที่จะกดดันให้แบงก์ชาติต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แม้ปีนี้ เราจะเผชิญกับราคาสินค้าที่แพงขึ้น แต่อัตราเงินเฟ้อก็ยังอยู่ในระดับ 1.2% และ ปีหน้าคาดว่า จะอยู่ที่ 1.5% ซึ่งอัตรานี้ ถือว่า อยู่ในกรอบล่างการดูแลนโยบายเงินเฟ้อของแบงก์ชาติ ฉะนั้น เงินเฟ้อไม่ได้กดดันต่อการดำเนินนโยบายการเงิน อย่างไรก็ดี เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวได้ เราคาดว่า อาจจะเห็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเริ่มขยับในปี 2566 เป็นต้นไป”
สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟดนั้น คาดการณ์กันว่า มาตรการคิวอีของสหรัฐจะหมดลงในครึ่งปีหน้า ทำให้เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ย 1-2 ครั้ง แต่เรื่องเงินเฟ้อไม่ได้เป็นปัญหาต่อสหรัฐ ดังนั้น แรงกดดันก็จะไม่ส่งผ่านมายังเศรษฐกิจไทย ฉะนั้น นโยบายการเงินของไทยก็ยังคงอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ
สำหรับค่าเงินบาทนั้น มีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นในครึ่งหลังของปีหน้า โดยเฉพาะกรณีที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับมาคาดประมาณ 5.8 ล้านคนในปีหน้า จากปีนี้ที่อยู่ 4 แสนคน ซึ่งจะทำให้ดุลบริการดีขึ้นและทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดปรับตัวดีขึ้น ทำให้เงินบาท ณ สิ้นปีจะอยู่ที่ 31.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ด้านนายกิตติศักดิ์ กวีกิจมณี นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทยกล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสที่ภาคธุรกิจจะทบทวนกลยุทธ์เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวและก้าวไปสู่ความเป็น winner ในอนาคต ด้วยการต่อยอดจากกระแสการพัฒนาในโลกยุค New Normal นำไปสู่การปรับโครงสร้างธุรกิจ
ไม่ว่าจะเป็นการให้ความสำคัญกับการลงทุนรองรับ Green Economy การส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวมูลค่าสูงและยั่งยืนรองรับการเปิดประเทศ การยกระดับ Productivity ด้วยการปรับกลยุทธ์การบริหารและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ท่ามกลางกระแสการแย่งชิง Talent โลกที่เข้มข้นขึ้น การลงทุนต่อยอดจากเทคโนโลยีแห่งอนาคต
นอกจากนี้ ธุรกิจดูแลสุขภาพอาจต้องปรับโมเดลกิจการให้รองรับสถานการณ์การอยู่ร่วมกับโควิด-19 ในระยะยาว หากธุรกิจสามารถจับกระแสและใช้ประโยชน์จากทิศทางดังกล่าวได้อย่างเต็มที่ ก็จะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ได้เร็วขึ้น และจะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันต่อความเสี่ยงของการระบาดของโควิด-19 รวมถึงปัจจัยความไม่แน่นอนอื่นๆ ที่อาจเข้ามากระทบเศรษฐกิจในอนาคตได้อย่างแข็งแกร่งขึ้น