ปรับพอร์ตอย่างไรในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ?

ปรับพอร์ตอย่างไรในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ?

ส่องเทรนด์การ "ลงทุนหุ้น" ปี 2022 หลังดอกเบี้ยกลับเข้าสู่วัฏจักรขาขึ้น ที่มาพร้อมกับการระบาดของ Omicron ควรปรับพอร์ตอย่างไรให้เหมาะสม

ผลการประชุม Fed ล่าสุดแม้ Fed จะมีท่าที Hawkish เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการประชุมครั้งอื่นๆ แต่ตลาดหุ้นทั่วโลกกลับตอบรับในเชิงบวก โดยตลาดหุ้นสหรัฐ ดัชนี S&P500 +1.63% ดัชนี NASDAQ +2.15% ตลาดหุ้นญี่ปุ่น +2.13% เรามองว่า สาเหตุน่าจะเกิดจาก 1. ตลาดได้ปรับลดลงไปแล้ว (Price-in) ก่อนหน้าว่า Fed จะเพิ่มการ tapering ให้เร็วขึ้น และมีโอกาสปรับคาดการณ์ทิศทางดอกเบี้ย (dot plot) 

2. Fed ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP สหรัฐ ปี 2022 ทำให้ภาพรวมนักลงทุนมองว่าโมเมนตัมเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง  

3. การส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยผ่าน dot plot ถึง 3 ครั้ง อาจเป็นระดับสูงสุด แต่ปี 2022 อาจจะไม่ได้ปรับขึ้นจริงถึง 3 ครั้ง

แต่ในคืนวันที่ 16 ธ.ค.64 ที่ผ่านมา ก็จะเห็นได้ว่าเกิดการหมุนเงินออกจากหุ้นกลุ่ม Growth และทำให้ตลาดกลับมาปรับตัวลดลงอีกครั้ง

ดอกเบี้ยกำลังจะเป็นขาขึ้น จะส่งผลต่อตลาดหุ้นอย่างไร ?

ในสภาวะปกติของการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย มักจะเกิดขึ้นในช่วงเศรษฐกิจกำลังขยายตัวดี ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อ และการจ้างงานเร่งตัวขึ้น เพียงแต่ว่าในครั้งนี้ สภาพคล่องที่เกิดจากเม็ดเงิน QE กำลังจะสิ้นสุดลง ดังนั้น อัตราผลตอบแทนในระดับสูง ที่เคยเกิดขึ้นดังเช่นปี 2020/2021 ก็ควรจะลดลงเข้าสู่ระดับปกติมากขึ้น (ค่าเฉลี่ยผลตอบแทนในตลาดหุ้นสหรัฐ ในช่วง 20 ปี ย้อนหลังที่ 7.3%) และเมื่อพิจารณาจากสถิติย้อนหลังในช่วงที่ Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ย พบว่าผลตอบแทนในตลาดหุ้นสหรัฐ (ดัชนี S&P500) ผันผวนแต่ท้ายสุดจะยังคงปรับเพิ่มขึ้น สรุปได้ดังนี้

  • ในปี 1994 และ 1999 ตลาดหุ้นสหรัฐ ปรับตัวลดลงประมาณ 5-10% ในช่วง 1-2 เดือนหลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
  • ในปี 2004 ตลาดหุ้นมีความผันผวนน้อย เนื่องจากการสื่อสาร และส่งสัญญาณของ Fed ก่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 
  • ในปี 2015 ตลาดหุ้นสหรัฐ ปรับตัวลดลงประมาณ 10% ก่อนการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นระยะเวลานานจากผลกระทบจากเหตุการณ์ Subprime Crisis แต่ภายหลังขึ้นดอกเบี้ย 2 เดือน ตลาดหุ้นเริ่ม rebound อีกครั้ง 

ปรับพอร์ตอย่างไรในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ?

และเมื่อเปรียบช่วงเดียวกันกับตลาดหุ้น Emerging Markets มีแนวโน้มที่จะผันผวนมากกว่า

  • พบว่าในช่วงปี 1994 และ 1999 ตลาดหุ้นปรับเพิ่มขึ้นก่อน Fed จะขึ้นดอกเบี้ย แต่เมื่อ Fed ขึ้นดอกเบี้ยตลาดปรับตัวลดลงกว่า 10-30 
  • ปี 2004 ตลาดหุ้นปรับลง 3 เดือนก่อน Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ย
  • ปี 2015 ตลาดหุ้นปรับลง 6 เดือนก่อน Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 
  • ปี 2016 ตลาดหุ้นปรับลง 1 เดือนก่อน Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ย

ปรับพอร์ตอย่างไรในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ?

Source: TISCO Economic Strategy Unit

เรามีมุมมองอย่างไรหลังจากนี้?

ในปี 2022 ปัจจัยที่เรากำลังเผชิญดังนี้ 

1. การเข้าสู่วัฏจักรของดอกเบี้ยขาขึ้น ตามการส่งสัญญาณของ Fed (แต่จริงๆ แล้ว Fed อาจจะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ถึง 3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมที่มีโอกาสเปลี่ยนไป เช่น 1. ปัญหา supply chain 2. การระบาดของไวรัส 3. ตลาดแรงงาน) 

2. สภาพคล่องที่เกิดจาก QE จะหมดลงในช่วงไตรมาสที่ 1/2022 

3. การระบาดของ Omicron แม้ยังมีความไม่แน่นอน แต่ทิศทางการระบาดของ COVID-19 โดยรวมน่าจะดีขึ้น โดยปี 2022 น่าจะเริ่มเข้าสู่การใช้ยารักษาที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น ด้วยปัจจัยดังกล่าว เรายังมองว่าการลงทุนในตลาดหุ้นยังคงน่าสนใจ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับตราสารหนี้

 

หากพิจารณาภาพรวม กลุ่ม developed countries จะ outperform emerging countries ซึ่งตามสถิติมักจะเกิดขึ้นในช่วงเริ่มต้นของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย (ยกเว้นจีน ปี 2022 กำลังจะกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจ) สำหรับมุมมองราย sector หุ้นกลุ่ม growth (เช่น technology และ healthcare) จะยังคงน่าลงทุน แต่ต้องเป็นบริษัทที่มีรายได้เติบโตดี, อัตรากำไรขั้นต้นสูง และมีกำไรสม่ำเสมอ และเรายังมีมุมมองบวกสำหรับกลุ่ม cyclical (financial, semiconductor, airline, tourism และ กลุ่ม opening economy) แต่อาจจะต้องติดตามพัฒนาข่าว Omicron จะมีการเปลี่ยนไปหรือไม่

สรุปผลการประชุม Fed - มีท่าที Hawkish พร้อมส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยปี 2022

  • Fed ประกาศเพิ่มการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรรัฐบาลตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เป็นเดือนละ $30 billion ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากเดิมที่เดือนละ $15 billion โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2022 ส่งผลให้ Fed จะยุติการดำเนินมาตรการ QE ในเดือนมีนาคม 2022
  • นอกจากนั้น คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินมีมติเป็นเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0-0.25% ในขณะที่คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) คาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2022 จำนวน 2 ครั้งในปี 2023 และอีกจำนวน 2 ครั้งในปี 2024
  • อย่างไรก็ตาม Fed จะยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่าการทำ Tapering จะสิ้นสุด โดย นาย Powell ยังกล่าวเพิ่มเติมว่าระหว่างการสิ้นสุด Tapering และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะไม่ห่างกันมากนัก

มุมมอง Fed ต่อเศรษฐกิจสหรัฐ?

เงินเฟ้อ

  • ความไม่สมดุลกันระหว่าง Supply และ Demand ที่เกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาด และการกลับมาเปิดประเทศ ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อ และมองว่าการเร่งตัวของเงินเฟ้อจะมากขึ้นและยาวนานขึ้นกว่าที่คาด
  • Fed ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 2021-2023 สู่ระดับ 5.3%, 2.6% และ 2.3% ตามลำดับ และคงคาดการณ์ตัวเลขในปี 2024 ที่ระดับ 2.1% และคงตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะยาวที่ระดับ 2.0%

การจ้างงาน

  • คณะกรรมการ FOMC ทุกท่านมองว่าการจ้างงานอย่างเต็มที่จะเกิดขึ้นได้ในปี 2022 ทั้งนี้ นาย Powell กล่าวว่าการจ้างงานในระดับสูงอาจใช้ระยะเวลานานกว่าที่คาด อย่างไรก็ตาม Fed จะทำทุกวิถีทางเพื่อเป้าหมายของการจ้างงานและราคาที่คงที่
  • Fed ปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราการว่างงานในปี 2021-2022 สู่ระดับ 4.3% และ 3.5% ตามลำดับและคงคาดการณ์ตัวเลขในปี 2023-2024 ที่ระดับ 3.5% ทั้ง 2 ปี และคงตัวเลขคาดการณ์อัตราการว่างงานในระยะยาวที่ระดับ 4.0%

ที่มา: TISCOASSET, TISCOESU, CNBC

ข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์และการคาดหมาย รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ทำขึ้นบนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดที่ได้รับมา และพิจารณาแล้วเห็นว่า น่าเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความถูกต้อง ความสมบูรณ์ แท้จริงของข้อมูลดังกล่าว ความเห็นที่แสดงไว้ในรายงานฉบับนี้ได้มาจากการพิจารณาโดยเหมาะสมและรอบคอบแล้ว และอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าแต่อย่างใด บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏ อยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยงและเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่เพียงผู้เดียว

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.ทิสโก้ หรือ TISCO Contact Center โทร. 02-633- 6000 กด 4,  / 02-080 -6000 กด 4 และ www.tiscoasset.com หรือ แอพพลิเคชั่น TISCO My Funds