รู้จัก “สมเด็จคอยน์:SDC” กับโอกาสในตลาดเอ็กเชนจ์
“สมเด็จคอยน์” (SDC) พระเครื่องดิจิทัลปลุกเสกแรกของไทย โดยทีมผู้พัฒนา เล็งผลักดันเข้าซื้อขายตลาด “Binance และ Satang” โดยขณะนี้ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการพิจารณาคุณสมบัติ กับโอกาสสู่ตลาดเอ็กเชนจ์ "ปรมินทร์" ผู้ก่อตั้ง Satang ย้ำ เรื่องความเชื่อกับเหรียญ ยังต้องระวัง
แค่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ หลายคนคงได้ยินชื่อ “สมเด็จคอยน์” หรือ Somdejcoin (SDC) หรือ “เหรียญสมเด็จดิจิทัล” ปลุกเสกแล้วนั่นเอง
โดยทีมงานพัฒนา “สมเด็จคอยน์” สกุลเงินดิจิทัลพระเครื่องแรกของโลก นำเหรียญอันเป็นมงคล มาขอบารมีหลวงพ่อ พัฒน์ ปุญญกาโม แห่งวัดห้วยด้วน ซึ่งท่านก็มีเมตตา อธิฐานปลุกเสกเหรียญ “สมเด็จคอยน์” ที่มีจำนวน 66,186,727 เหรียญ เพื่อความเป็นสิริมงคลให้ผู้ถือเหรียญ
ปัจจุบันยังเป็นการแลกเปลี่ยนเหรียญผ่าน “Pancakeswap” เท่านั้น แต่ทางทีมพัฒนา ยังมีเป้าหมายที่จะพยายามนำ “สมเด็จคอยน์” เข้าไปอยู่ในตลาดซื้อขายระดับโลก
โดยทีมพัฒนา มีแนวคิด ที่จะผลักดันเข้าไปในตลาดซื้อขาย “Binance และ Satang” เพื่อให้ผู้ถือครองเหรียญทั่ว โลกโอนย้ายเหรียญการกุศลได้สะดวกและเมื่อมีการซื้อขายหรือโอนย้ายจะก่อให้เกิดการช่วยเหลือสังคมและมูลนิธิ ภายในประเทศไทย “สมเด็จคอยน์” สามารถเพิ่มโอกาสให้กับคนที่ลำบากอีกมากมาย
ขณะที่เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2564 ทางผู้พัฒนา “สมเด็จคอยน์” ได้ยื่นหนังสือถึงสํานักพุทธศาสนาแห่งชาติ และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เพื่อเตรียมนำเหรียญ SDC ที่ได้ช่วยการกุศลนี้ลิสขึ้น Centralized Exchange ภายในประเทศและในอนาคตต่อไป โดยขณะนี้สำนักงาน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างพิจารณาว่า เหรียญดังกล่าวเข้าข่ายเป็นเหรียญสินทรัพย์ดิจิทัล 4 ประเภทหรือไม่
แต่การเข้าตลาดซื้อขายเหรียญคริปโตระดับโลกหรือแม้แต่ในไทย อาจมีกฎระเบียบข้อบังคับจำนวนมากและผู้บริหาร เป็นจำนวนมากและผู้บริหารของเอ็กซ์เชนจ์น้ันๆอาจจะเป็นผู้กำหนดและตัดสินใจในการเลือกเหรียญเพื่อเข้าตลาด
ผ่านมุมมอง “ปรมินทร์ อินโสม” ผู้ก่อตั้งและกรรมการ บริษัทสตางค์ คอร์ปอเรชั่น ผู้ให้บริการเว็บเทรด Satang Pro กับโอกาสที่เหรียญ “สมเด็จคอยน์” จะเข้ามาซื้อขายในเอ็กซ์เชนจ์ ว่า
การนำ "ความเชื่อ" เข้ามาเกี่ยวข้องกับคริปโทเคอเรนซี ต้องระมัดระวัง ผู้พัฒนาอาจมีความตั้งใจที่ดี แต่อาจต้องมองลึกไปที่รูปแบบและระบบการทำงานของเหรียญดังกล่าวด้วยว่า มีที่มาที่ไป มีวัตถุประสงค์ มีคุณสมบัติการทำงานอย่างไร และที่ สำคัญมาก คือ “จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างไร และต้องชัดเจนว่า ไม่ได้เป็นการลงทุนเพื่อการเก็งกำไร เพราะเมื่อมีเรื่องการเก็งกำไรก็จะกลับไปว่า ใครเป็นคนที่ได้ประโยชน์แท้จริงๆ”
ในส่วนของระบบการทำงานของเหรียญที่มีการหักภาษี ยังมีหลายขั้นตอนที่จะต้องอธิบายอีกมากหักแล้วนำไปบริจาคอย่างไร บริจาคให้ใคร ใครได้ผลประโยชน์จากการบริจาค ต้องระบุให้ชัดเจน
ก.ล.ต.ผู้ชี้ขาดนำสมเด็จคอยน์เทรดในเอ็กเชนจ์
"ปรมินทร์" มองว่า ตอนนี้ข้อมูลต่างๆเหล่านี้เกี่ยวกับเหรียญดังกล่าว ยังไม่มีความชัดเจน อาจสุ่มเสี่ยง ต้องประเด็นการเป็นแหล่งฟอกเงินได้เช่นกัน
ดังนั้น การที่จะนำมาซื้อขายในกระดานเอ็กเชนจ์ของไทย "ผู้ชี้ขาด" คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ต.ล.) ที่ต้องออกมารับรองให้ “สมเด็จคอยน์” เป็นคริปโทฯ ที่ถูกกฎหมายก่อน ถึงจะสามารถดำเนินการได้
แต่อย่างไรก็ตาม หาก “สมเด็จคอยน์” เข้ามาซื้อขายในเอ็กเชนจ์ของไทยได้สำเร็จ
"ปรมินทร์" มองว่า จะเป็นเหรียญพระเครื่องดิจิทัล ต้นแบบ ให้กับอีกหลายๆวัดอย่างแน่นอน ที่จะออกตามมาอีกหลายเหรียญ อีกทั้งแบบต้นทุน ของรูปแบบการบริจาค ที่สามารถมีช่องทางระดมทุนเพิ่มมากขึ้น
แต่เมื่อมาถึงจุดที่มีการระดมทุนเกิดขึ้น ต้องคำนึงถึงว่า “การเก็งกำไร” ที่จะเกิดขึ้นตามมา อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ใช่เพียงแค่การทำบุญหรือบริจาคทั่วไป
“มุมมองส่วนตัว คาดว่า มีความเป็นไปได้ยากที่เหรียญในลักษณะนี้ จะนำมาซื้อขายในเอ็กเชนจ์ของไทย แม้ว่าแนวคิดของนำเหรียญ เพื่อการทำบุญหรือบริจาค ถือเป็นสิ่งที่ดี เพียงแต่ว่ามีรายละเอียดและการทำงานของเหรียญ ต้องสามารถบอกให้ได้ชัดเจนว่า มันดีอย่างไรบ้าง”
“ปรมินทร์” กล่าวว่า แต่สุดท้าย แม้ก.ล.ต.จะไม่อนุญาตให้ซื้อขายในเอ็กเชนจ์ไทย เหรียญดังกล่าวมีโอกาสที่จะไปซื้อขายในเอ็กเชนจ์ต่างประเทศได้อยู่แล้ว ซึ่งเป็นช่องทางที่ผู้พัฒนาเหรียญส่วนใหญ่ ในขณะนี้ก็นำเหรียญไปลิสในกระดานต่างประเทศกัน
อนาคตของเหรียญการกุศลหรือบริจาค จะเป็นอย่างไรนั้น
นอกจากนี้ “ปรมินทร์” ยังได้ยกเคสในต่างประเทศ มี “มูลนิธิ” แห่งหนึ่งที่ออกออกเหรียญในลักษณะเก็บภาษีในการส่งหากัน หรือคิดเป็นค่าธรรมเนียม เมื่อหักแล้วจะนำไปบริจาคให้กับเด็กยากจน
แต่สุดท้ายแล้ว เหรียญดังกล่าวที่เกิดจากแนวคิดแบบนี้ ก็ยังไม่ได้รับความนิยมจากคนทั่วไป คือ คนที่เข้ามาร่วมซื้อขายเหรียญไม่ค่อยมี หรือจำกัดเฉพาะชุมชนที่ชื่นชอบ เนื่องจากเหรียญนั้นไม่ได้มีเหตุผลให้คนทั่วไปต้องเข้าไปใช้
รู้จัก สมเด็จคอยน์ “Somdejcoin” หรือ SDC
- สมเด็จคอยน์คืออะไร
เหรียญดิจิทัลที่สร้างขึ้นบนบล็อกเชน หรือที่เรียกว่า DeFi Token
- จำนวนเหรียญ
66,186,727 ล้านเหรียญ (ใช้จำนวนประชากรไทยปี 2563 มาสร้างเป็นจำนวนเหรียญ)
- วัตถุประสงค์
-เพื่อรองรับคนไทยและคนทั่วโลกที่ต้องการสะสมเหรียญสมเด็จเวอร์ซันดิจิทัล
-เปิดโอกาสให้ช่วยเหลือสังคม ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาผ่านการสะสมเหรียญ
- การทำงานของเหรียญสมเด็จคอยน์
-ระบบจะหักภาษี 9% ทุกครั้งที่แลกเปลี่ยนซื้อขาย แบ่งเป็น 3 ส่วน
- ส่วนที่ 1 - 3% นำไปทะนุบำรุงศาสนาและช่วยเหลือสังคม
- ส่วนที่ 2 - 3% นำไปเสริมสภาพคล่องระบบเหรียญ
- ส่วนที่ 3 - 3% นำไปเพิ่มเหรียญให้ผู้ถือของในระบบ
- เปิดให้บริจาคเหรียญ SDC ให้วัดทั่วไทยได้ โดยติดต่อผู้พัฒนาเพื่ออำนวยความสะดวก เพื่อแลกเหรียญเป็นเงินบาทผ่านตลาดซื้อขายต่างๆ นำไปมอบให้วัดโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
-ช่วงแรกต้องแลกเปลี่ยนเหรียญผ่าน Pancakeswap เท่านั้น แต่ในอนาคตผู้พัฒนาตั้งเป้าหมายให้แลกเปลี่ยนในตลาดซื้อขายระดับโลกได้
- ศึกษาข้อมูล Whitepaper
เว็บไซต์somdejcoin.com และจะมีเลข Contract : 0xae4ca3272792d8499575aefacdc299f0cbdc9270 เท่านั้น
"สมเด็จคอยน์" แจกฟรีให้กับคนที่ต้องการสะสม (ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ) สามารถนำไปทำการแลกเปลี่ยนกับสกุลเงินดิจิทัลได้ทั่วโลก ผ่านทาง Pancakeswap ของ BSC หรือ Decentralised Exchange อย่าง Arken.Finance ได้ แต่ทางทีมผู้พัฒนา แนะนำให้เหรียญ SDC เป็นเหรียญสำหรับการสะสม ไม่ได้มีไว้เพื่อการเก็งกำไร
ขณะที่ ก.ล.ต. รายงานมูลค่าซื้อขายสะสมแยกตามประเภทสินทรัพย์ดิจิทัล พบว่าค่อนข้างกระจายตัว ณ 13 ธ.ค. 2564 ดังนี้
- Bitcoin 213.33 พันล้านบาท สัดส่วน 13.4%
- Dogecoin 166.59 พันล้านบาท สัดส่วน 10.46%
- Ethereum 162.45 พันล้านบาท สัดส่วน 10.20%
- Tether 143.10 พันล้านบาท สัดส่วน 8.99%
- Cardano 100.21 พันล้านบาท สัดส่วน 6.29%
- XRP 83.26 พันล้านบาท สัดส่วน 5.23%
- Binance Coin 70.25 พันล้านบาท สัดส่วน4.41%
- อื่นๆ 652.79 พันล้านบาท 41.02%