เช็คก่อนซื้อ! 8 วิธีดู “NFT” สินทรัพย์ดิจิทัลแท้หรือปลอม ดูอย่างไร?
รู้เคล็ดลับ 8 วิธีจับโป๊ะ "NFT" ของปลอม ถ้าไม่อยากพลาดซื้อผลงานศิลปะ กระเป๋าแบรนด์เนม หรือสินค้าลักชัวรีอื่นๆ ที่ไม่ใช่ของจริง เรารวบรวมเทคนิคไว้ให้ตรงนี้แล้ว!
ช่วงปีที่ผ่านมา วงการซื้อขาย “NFT” ซึ่งเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ดิจิทัล กำลังได้รับความนิยมไม่น้อยหน้าสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ ทำให้หลายแบรนด์ยักษ์ใหญ่ทั่วโลก โดยเฉพาะแบรนด์ลักชัวรีลงมาเล่นตลาดนี้ด้วย ทั้งผลิตสินทรัพย์เอง และเปิดรับซื้อสินค้าด้วยเหรียญสกุลดิจิทัลต่างๆ ด้วย
แต่สิ่งที่ควรระวังในการซื้อขาย NFT ที่เป็น "งานศิลปะ" รูปแบบดิจิทัล ก็คือ "NFT ของปลอม" ซึ่งในปัจจุบันยังตรวจสอบได้ยากหากไม่มีความชำนาญมากพอ
หากใครคิดจะลงทุนซื้อผลงานศิลปะดิจิทัลจำพวกกระเป๋าแบรนด์เนม รองเท้าสตรีทคอลเลกชันหายาก หรือรูปภาพที่หายากหนึ่งเดียวของโลกฯลฯ แต่ไม่อยากโดนต้มตุ๋นล่ะก็ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จะพาไปรู้จัก 8 วิธีเช็ค สินทรัพย์ NFT ว่าแบบไหนคือ สินทรัพย์ดิจิทัลของแท้ แบบไหนคือ ของปลอม?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เทคนิคจับโป๊ะ "กระเป๋าแบรนด์เนม" แท้-ปลอม เช็คได้ด้วยตัวเองใน 5 ขั้นตอน
- เจ้าของกระเป๋า "แอร์เมส" ลั่น "สรพงษ์" ต้องจ่าย 2 ล้านตามที่ลั่นวาจา
- "ทนายเกิดผล" เปิดหลักฐานยันกระเป๋า "แอร์เมส" แท้ยันเงา
- 'NFT' คืออะไร? รู้จัก 'สินทรัพย์' แบบใหม่ ให้ผู้ครอบครองเป็น 'เจ้าของทิพย์' บนโลกดิจิทัล6
- คลิปดัง ‘ชาร์ลีกัดนิ้วผม’ประมูล NFT ทำเงิน ‘7.6 แสนดอลลาร์’
1. เช็คโปรไฟล์โซเชียลมีเดียผู้สร้างผลงาน NFT
ก่อนจะซื้อ NFT ขั้นแรกคุณต้องตรวจสอบ “โปรไฟล์โซเชียลมีเดียของผู้สร้างผลงาน” เพื่อดูว่าเขามีตัวตนจริงหรือไม่ โดยเช็คจากความเคลื่อนไหวช่วงเวลาที่ผ่านมา และดูว่าคอนเทนท์มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ เพราะบางรายอาจปลอมโซเชียลมีเดียจนคล้ายของจริงมาก
2. หากหาเจอสินทรัพย์ NFT ใน Marketplace อื่นๆ = ปลอม
ผู้ซื้อควรลองค้นหาจาก “มาร์เก็ตเพลส NFT ช่องทางอื่นๆ” ด้วยว่า งานศิลปะ NFT ชิ้นนี้มีการขายบนแพลตฟอร์มอื่นด้วยหรือไม่ เพราะสินทรัพย์ NFT แต่ละผลงาน มีได้เพียงแค่ชิ้นเดียวเท่านั้น หากพบหลายที่ ให้เดาไว้ก่อนว่าผลงานนั้นอาจเข้าข่ายของปลอม
3. หากซื้อผลงานประเภท “รูปภาพ” ให้เช็คประวัติก่อน
สินทรัพย์ NFT ที่เป็นผลงานในลักษณะ “รูปภาพ” ให้เช็คประวัติบนโซเชียลมีเดียก่อนว่า ภาพนี้มีมานานแล้วแค่ไหน ใครเป็นผู้สร้าง มีผลงานที่แท้จริงปรากฏเป็นรูปธรรมหรือไม่ โดยการเอาไฟล์ภาพมาค้นหาบน Google หรือเอาลิงก์นั้นมาค้นหาใน Search Bar
4. ถ้ามีราคาต่ำเกินไป ส่วนใหญ่อาจเป็นของปลอม
หากมีราคาประมูลหรือ “ราคาขายต่ำเกินไป” ให้เอะใจไว้ก่อนเลยว่า สินทรัพย์ NFT นี้อาจเป็นของปลอม เพราะส่วนใหญ่ NFT จะไม่มีราคาที่ต่ำจนเกินไป อาจเข้าข่ายโดนสแคมเมอร์หลอกลวงเพื่อโกยกำไร
5. ผู้สร้าง NFT จะมี “เครื่องหมายยืนยัน”
สินทรัพย์ NFT ของแท้ สามารถสังเกตได้ง่ายๆ โดยชื่อแอคเคานต์ผู้สร้างผลงานต้องมีเครื่องหมายยืนยันเป็นรูปวงกลมสีน้ำเงิน และมีเครื่องหมายถูกตรงกลาง อีกทั้งจะต้องระบุคุณสมบัติของผลงานและชื่อผู้สร้างไว้อย่างชัดเจน
6. หากมีวิธีการดูแลลูกค้าแปลกๆ จะคิดว่าเป็น NFT ปลอมไว้ก่อน
กรณีที่ผู้ขายสินทัพย์ NFT มีบริการช่วยเหลือทางเทคนิคที่ดูแปลกๆ เช่น เมื่อลูกค้ามีปัญหาหรือข้อสงสัยในการทำธุรกรรมแล้วขอความช่วยเหลือ จะมีแอดมินให้ความช่วยเหลือผ่านทาง Discord หรือ Telegram ซึ่งแอบอ้างว่ามาจาก OpenSea โดยอาจขอให้คุณแชร์หน้าจอเพื่อตรวจสอบ แบบนี้ให้เอะใจว่าอาจถูกมิจฉาชีพหลอกลวง โดยแอดมินคนนั้นจะสามารถเข้าถึง "วอลเล็ต" ของคุณได้ และบังคับให้ไปเวบไซต์ที่หลอกลวงเพื่อให้กรอกข้อมูลสำคัญ จนได้ข้อมูลและทรัพย์สินไป
7. เว็บไซต์ NFT ปลอม
พอตลาดนี้เริ่มเป็นที่สนใจในคนหมู่มาก ก็เริ่มมีการระบาดของ “เว็บไซต์ NFT ปลอม” ซึ่งบางทีอาจมีลักษณะคล้ายกันจนแยกได้ยาก ให้ลองเช็คข้อมูลสินทรัพย์ NFT ที่เว็บไซต์ OpenSea ซึ่งเป็นตลาดกลางซื้อขาย NFT ที่ถูกต้องตามกฎหมายที่ใหญ่ที่สุด เพื่อเช็คให้ดีเสียก่อน
นอกจากนี้ผลงานศิลปะที่เป็นสินทรัพย์ NFT ปัจจุบันยังจำแนกได้เป็น 5 ประเภท โดยเรารวบรวมช่องทางที่น่าเชื่อถือมาให้แล้ว ดังนี้
- 1. ผลงานศิลปะ ช่องทางซื้อขายที่น่าเชื่อถือ มีดังนี้ Super Rare, Foundation, Nifty Gateway, Rarible, Zora และ Mintable
- 2. การกีฬา ช่องทางซื้อขายที่น่าเชื่อถือ มีดังนี้ NBA, Top Shot และ Sorare
- 3. เกม ช่องทางซื้อขายที่น่าเชื่อถือ มีดังนี้ Axie Infinity, Street Fighter, Myth.Market และ Treasureland
- 4. สินทรัพย์ออนไลน์ ช่องทางซื้อขายที่น่าเชื่อถือ มีดังนี้ Decentraland
- 5. ทวีต ช่องทางซื้อขายที่น่าเชื่อถือ มีดังนี้ Valuables
8. ระวังการแจก NFT ฟรี
ขึ้นชื่อว่าการซื้อขาย ไม่มีอะไรที่จะได้มาฟรีๆ ใครที่เจอว่ามีคนมาพูดชวนเชื่อ ทำนองว่าจะให้ NFT ฟรี หากชนะจากการทำกิจกรรมอะไรก็ตาม หากเชื่อและทำตามคุณอาจโดนหลอกให้ทำธุรกรรมไปเชื่อมโยงกับวอลเล็ตของคุณ ซึ่งจะโดนขโมยข้อมูลและเงินจากวอลเล็ตไปได้ง่ายๆ
---------------------------------
อ้างอิง: TREND MICRO, INCOPRO, MUO, Market Realist, NFT Culture, Cyber Scrilla
พิสูจน์อักษรโดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์