ราคาน้ำมัน-ค่าบาท-โควิด เสี่ยง จีดีพีเกษตรไทยปี 2565
สศก. เคาะจีดีพีเกษตรปี 65 โต 2 – 3 % หลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้น แต่ยังต้องระวังโควิด อัตราแลกเปลี่ยน และราคาน้ำมัน ขณะจีดีพี ปี64 ขยายตัว 1.5 % ต่ำกว่าเป้าเล็กน้อย ภาคปศุสัตว์ ประมง หดตัว
ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 2 – 3 % โดยสาขาพืช สาขาปศุสัตว์ สาขาประมง สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกสาขา จากปัจจัยสนับสนุน ทั้งสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย การดำเนินนโยบายด้านการเกษตรที่ต่อเนื่อง ทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)
เพิ่มช่องทางให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ข้อมูลเพื่อการวางแผนการผลิต การแปรรูป และการตลาด โดยใช้หลักการตลาดนำการผลิต ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการผลิตและยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร รวมทั้งพัฒนาระบบโลจิสติกส์ และศักยภาพในการผลิตสินค้าเกษตรของไทย
อย่างไรก็ตาม ยังต้องเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม เช่น ภัยธรรมชาติ และความแปรปรวนของสภาพอากาศ สถานการณ์ของโรคโควิด-19 ที่อาจเกิดการระบาดในระลอกใหม่ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน โดยหากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าประเทศคู่แข่ง จะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันทางการค้าสินค้าเกษตรไทย และราคาน้ำมันดิบที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นไปด้วย
ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร หรือจีดีพีเกษตร ปี 2564 มีอัตราการขยายเพิ่มขึ้น 1.5 % เมื่อเทียบกับปี 2563 แต่ต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย จากที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 1.7- 2.7 % เนื่องจากเกิดปัญหาน้ำท่วมท้ายปีในบางพื้นที่ แต่ปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2563 ต่อเนื่องถึงปี 2564ทำให้เพาะปลูกพืช และประมง มีผลผลิตมากขึ้น
ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดสูงขึ้น จูงใจให้เกษตรกรเพิ่มการผลิตและบำรุงรักษาที่ดี รวมไปถึงการดำเนินนโยบายและมาตรการของภาครัฐ เช่น การขยายช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ การพักชำระหนี้ และการประกันรายได้ ทำให้เกษตรกรสามารถทำการผลิตและบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้ออกสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการผ่อนคลายมาตรการการควบคุมการระบาดของ โควิด-19 ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ขยายตัว
หากพิจารณาในแต่ละสาขา พบว่า สาขาพืช ในปี 2564 ขยายตัว 3.3% เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยพืชสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปรัง มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากในปี 2564 มีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก รวมถึงการปลูกทดแทนพืชชนิดอื่น เช่น อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และในบางพื้นที่สามารถเพาะปลูกข้าวนาปรังได้ 2 รอบ
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการดูแลรักษาที่ดี มันสำปะหลัง ผลผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคามันสำปะหลังปรับตัวเพิ่ม ยางพารา ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้นยางสมบูรณ์ดี ประกอบกับต้นยางพาราที่กรีดได้ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุที่ให้ผลผลิตสูง อีกทั้งภาครัฐยังมีโครงการรักษาเสถียรภาพราคายาง จึงจูงใจให้เกษตรกรบำรุงดูแลมากขึ้นและเพิ่มจำนวนวันกรีด
ปาล์มน้ำมัน มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากแหล่งผลิตสำคัญทางภาคใต้มีปริมาณน้ำฝนมากขึ้นในช่วงปลายปี 2563 ประกอบกับในปี 2564 มีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้ต้นปาล์มน้ำมันที่ให้ผลผลิตในช่วงกลางปีถึงปลายปี 2564 มีทะลายสมบูรณ์ดี
สาขาปศุสัตว์ หดตัว 2.4% ได้แก่ ไก่เนื้อ สุกร และไข่ไก่ โดยผลผลิตไก่เนื้อลดลง เนื่องจากความต้องการบริโภคที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผลผลิตสุกรลดลง เนื่องจากเกษตรกรปรับลดปริมาณการเลี้ยงสุกรจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้น
สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัว 3.7% เนื่องจากมีการจ้างบริการเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ทางการเกษตร ในการเตรียมพื้นที่เพาะปลูก การบำรุงดูแลรักษา และการเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยพื้นที่เพาะปลูกพืชที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง และสับปะรดโรงงาน และพื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิตพืชที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปรัง อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และสับปะรดโรงงาน