ยุทธศาสตร์ BOI หลังโควิด ดันประเทศสู่ New Economy

ยุทธศาสตร์ BOI หลังโควิด ดันประเทศสู่ New Economy

ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจทั่วโลก "ประเทศไทยจะเดินช้ากว่านี้ไม่ได้" ต้องเร่งผลักดันประเทศหลุดกับดักรายได้ปานกลาง สร้างสภาพแวดล้อมดึงดูดลงทุนกลุ่มเทคโนโลยีแทนการเป็นแหล่งแรงงานราคาถูก

การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก และหากสถานการณ์การระบาดคลี่คลายลงย่อมทำให้ทุกประเทศเร่งเดินหน้าฟื้นฟูประเทศ เพื่อช่วงชิงโอกาสในการยกระดับประเทศหลังจากโควิด-19 ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงหลายด้านและเกิดเป็น New Normal

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในช่วง 10 ปี ข้างหน้า ประเทศไทยจะเผชิญกับความท้าทายแบ่งเป็น 2 มิติ คือ 

มิติความท้าทายภายในประเทศ ซึ่งจะมีทั้งความท้าทายจากการฟื้นฟูประเทศภายหลังการระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงความท้าทายจากภาวะสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งในปี 2564 เป็นปีแรกที่ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุ เมื่อผู้มีอายุเกิน 60 ปี มีสัดส่วนเกิน 20% ของจำนวนประชากรไทย และในปี 2578 ประเทศไทยจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกที่เข้าสู่ภาวะ Super-aged society หลังจากมีผู้สูงอายุเกิน 30% ของประชากรรวม

รวมถึงความท้าทายจากคุณภาพการศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

 

มิติความท้าทายจากต่างประเทศ โดยทุกประเทศจะมีการฟื้นฟูผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้เห็นการแข่งขัน 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.การช่วงชิงการลงทุน โดยเฉพาะในกลุ่มนักลงทุนที่มีความสำคัญหรือกลุ่ม Anchor investor 2.การแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด 3.การแย่งชิงบุคลากรที่มีทักษะสูง

“ที่ผ่านมาเริ่มเห็นการแย่งชิง 3 เรื่องนี้แล้ว แต่หลังโควิดคลี่คลายจะเห็นมากขึ้น ทำให้บีโอไอวางแผนรองรับ เช่น ด้านบุคลากรมีมาตรการสมาร์ทวีซ่าหรือการพำนักในประเทศไทยระยะยาว”

สำหรับ 2 มิติดังกล่าว มีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งการที่จะแข่งขันกับต่างประเทศได้ต้องสร้างปัจจัยภายในให้มีความเข้มแข็ง เพราะขณะนี้หลายประเทศในภูมิภาคต่างเร่งสร้างความพร้อม ทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซียและสิงคโปร์ จึงทำให้ประเทศไทยเดินช้าไปกว่านี้ไม่ได้ และต้องกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ ซึ่งต้องไม่ใช่ประเทศรองรับการลงทุนกลุ่มที่ใช้ประโยชน์จากแรงงานราคาถูก แต่ต้องวางสถานะเป็นประเทศที่รองรับการลงทุนกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยี เพราะมีจำนวนแรงงานลดลงทำให้ต้องดึงผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติมาทำงานในประเทศไทยมากขึ้น

ทั้งนี้ ผลการจัดอันดับของ KPMG เกี่ยวกับ Technology Innovation Survey 2021 ที่สำรวจเมืองที่เหมาะเป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใน 4 ปี ข้างหน้า โดยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พบว่า สิงคโปร์ อันดับ 1 กัวลาลัมเปอร์ อันดับ 9 และกรุงเทพฯ อันดับ 15 โดยใน 15 อันดับแรกมีเมืองจากจีนและอินเดียชาติละ 3 เมือง ดังนั้นประเทศไทยต้องผลักดันให้อยู่ในอันดับต้นเพื่อให้ประเทศไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง

นอกจากนี้ สิ่งที่น่ากังวลเมื่อมีการสำรวจในลักษณะดังกล่าว คือ ประเทศไทยจะอยู่กลางตารางทำให้ถูกกดดันจากประเทศ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเทคโนโลยีสูง และกลุ่มต้นทุนต่ำ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสเพราะเป็น “ประเทศที่ไม่ถูกเลือก” ดังนั้นประเทศไทยต้องถอยออกจากประเทศที่ใช้ต้นทุนการผลิตต่ำหรือมีแรงงานราคาถูก  

ประเทศไทยจำเป็นต้องยกระดับเพื่อก้าวเข้าสู่ New Economy ผ่านการพัฒนาบุคลากร เทคโนโลยี นวัตกรรม และสร้าง Ecosystem ที่รองรับการสร้างเศรษฐกิจใหม่ โดยประเทศไทยต้องกำหนด “ตำแหน่ง” ของประเทศให้ชัดเจน โดยเลือกจุดแข็งของประเทศที่สอดคล้องกับเทรนด์ของโลกมาส่งเสริมและเร่งสปีดเพื่อให้เกิด Economy of speed ด้วยการทลายกฎหมายที่เป็นอุปสรรคและสร้าง One Stop Service สำหรับการลงทุน
ในขณะที่ทิศทางการลงทุนสำหรับอนาคต 10 ปี ข้างหน้า ที่จำทำให้ประเทศเป็นดาวเด่นต้องผลักดัน 5 ส่วน คือ

1.การพัฒนาบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานให้ทันสมัย โดยการพัฒนาบุคลากรจะต้องรองรับโลกใหม่ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในขณะที่แรงงานระดับอาชีวศึกษาจะต้องเป็น “อาชีวะไฮเทค” ซึ่งบีโอไอทำงานร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อเตรียมวิศวกร 20,000 คน ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เพื่อ Reskill และ Upskill และมีมาตรการดึงผู้เชี่ยวชาญต่างชาติเข้ามาทำงาน

ทั้งนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจะรวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 สนามบินอู่ตะเภา รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เช่น เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) รวมทั้งจะต้องเปิดประตูให้กว้าง โดยเฉพาะการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ที่ประเทศเวียดนามทำแล้วถึง 52 ประเทศ

2.การผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในสาขาที่มีศักยภาพสูงและอยู่ในเทรนด์ใหม่ของโลก โดยประกอบด้วยการเป็นศูนย์กลาง BCG ที่ไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมแต่เป็นแพลตฟอร์มที่จะทำให้ประเทศไทย Go Green เพื่อเข้าสู่สังคมคาร์บอนเป็นศูนย์ รวมถึงการเป็นศูนย์กลางด้านเกษตรอาหาร ศูนย์กลางด้านพลังงานหมุนเวียน ศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่มีมูลค่าสูง และศูนย์กลางธุรกิจการดูแลสุขภาพ

3.อุตสาหกรรมใหม่ที่มีมูลค่าสูง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนจากการผลิตในโลกเดิมให้ไปสู่ New S Curve โดยการผลิตในโลกเดิมที่ไทยเป็นผู้นำในอาเซียน คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์และปิโตรเคมี ซึ่งจะต้องยกระดับเพื่อเปลี่ยนอุตสาหกรรมยานยนต์ในปัจจุบันให้เป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อุตสาหกรรมระบบราง อุตสาหกรรมอากาศยานและชิ้นส่วน

ส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ต้องยกระดับเป็นฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและอุปกรณ์อัจฉริยะ ที่เชื่อมกับ IoT และอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ต้องยกระดับเป็นฐานการผลิต Bio base และการผลิต Specialty chemicals

นอกจากนี้ ควรจะมีการผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Startup nation เพื่อให้แหล่งในการสร้างนวัตกรรมและเป็นแหล่งสร้างโอกาสทางธูรกิจให้กับคนรุ่นใหม่

4.การสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ครอบคลุม 2 มิติ คือ มิติเอสเอ็มอี เพื่อเป็นซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมใหม่ โดยต้องพัฒนาให้เป็น “สมาร์ท เอสเอ็มอี” ที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ส่วนมิติการพัฒนาเชิงพื้นที่ เพื่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ โดยจะต้องผลักดันให้การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเกิดขึ้นจริง รวมทั้งมีการผลักดันการพัฒนานวัตกรรมที่สอดคล้องกับแต่ละพื้นที่เพิ่มมากขึ้น

5.การยกระดับผู้ประกอบการให้เป็นมาตรฐานสากล คือ Go Green และ Go Digital โดย Go Green เป็นประเด็นที่ทุกประเทศมีทิศทางการพัฒนาไปทางนี้ โดยเดินตามแนวทาง Environmental, Social, and Corporate Governance (ESG) 

ส่วน Go Digital เป็นแนวโน้มที่กำลังมาแรงมากขึ้น ซึ่งจำเป็นที่จะต้องช่วยผู้ประกอบการปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัล โดยทั้ง Go Greenและ Go Digital เป็นทิศทางที่พาประเทศไทยก้าวเข้าไปสู่ New Economy รวมทั้งการที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ที่จะได้โชว์ศักยภาพว่าประเทศไทยพร้อมที่จะสร้างเศรษฐกิจใหม่

ขณะนี้ บีโอไออยู่ระหว่างจัดทำยุทธศาสตร์ใหม่ เพื่อนำมาใช้แทนยุทธศาสตร์ 8 ปี (2558-2565) เพื่อนำมาใช้แทนยุทธศาสตร์ 5 ปี (2566-2570) ซึ่งจะเป็นยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (2566-2570)

“การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังจากนี้จะต้องเน้นการรักษาโมเมนตั้มเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพราะจะทิ้งของเดิมไปเลยคงไม่ได้ แต่การพัฒนาประเทศหลังจากนี้จะวัดกันที่การปรับตัวว่าใครจะปรับได้เร็วและยั่งยืนมากกว่ากัน”