5 ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจของไทยปี 2565 !!
ปี 2565 "เศรษฐกิจไทย" ยังคงเผชิญความท้าทายหลายประการ หากไม่เตรียมรับมือให้ดี เศรษฐกิจไทยเสี่ยงซ้ำรอยปีนี้ นั่นคือ "โตต่ำ โตช้า โตไม่ทันคนอื่น"
สิ้นปีแล้ว มาทบทวน "เศรษฐกิจไทย" ปีนี้ และประเมินเศรษฐกิจไทยปีหน้ากันครับ
สำหรับปีนี้ หากต้องให้คะแนนเศรษฐกิจไทย ต้องบอกว่าสอบตก ผลประกอบการไม่ดีนัก ..ไม่ว่าจะเทียบกับทั่วโลกหรือเพื่อนบ้านข้างเคียง พบว่าโตต่ำกว่าเค้าหมด
โดยเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของเศรษฐกิจโลก ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน และที่สำคัญสุดหากเทียบกับเพื่อนบ้านในอาเซียน ไม่นับพม่าที่เผชิญวิกฤติการเมืองในประเทศ เศรษฐกิจไทยโตต่ำสุด ทั้งนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้โตที่ 5.9% ประเทศกำลังพัฒนาโตที่ 6.4% ส่วนในอาเซียน ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ประเมินว่าโตที่ราว 3% ขณะที่เศรษฐกิจไทยโตเพียง 0.9 - 1% เท่านั้น เรียกว่าต่ำกว่าใครๆ .. เห็นอย่างนี้แล้ว น่าหดหู่ใจทีเดียวครับ
แล้วปีหน้า เศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร จะดีขึ้น เติบโตทันเพื่อนบ้านหรือไม่ มีความเสี่ยงอะไรรออยู่
ปีหน้าเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงหลักอย่างน้อย 5 ข้อ โดย 2 ข้อแรกจากปัจจัยภายในประเทศ และ 3 ข้อหลังจากปัจจัยภายนอกประเทศ
ข้อแรก โควิดจะทำให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ จนต้องล็อกดาวน์อีกไหม
หากเกิดการระบาดระลอกใหม่ เช่น มีเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ทำให้ควบคุมโรคยาก จนรัฐบาลต้องนำมาตรการล็อกดาวน์ ปิดห้างร้านกลับมาใช้ จะส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยในประเทศสูง เศรษฐกิจไทยเสี่ยงหดตัวมาก
ข้อสอง โควิดจะทำให้การเดินทางระหว่างประเทศหยุดชะงัก หรือไทยต้องปิดประเทศอีกหรือไม่
ทั้งนี้เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวสูง ก่อนโควิด มีนักท่องเที่ยวปีละ 40 ล้านคน การท่องเที่ยวคิดเป็นกว่า 15% ของ GDP ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องมีส่วนจ้างแรงงานมากถึง 1 ใน 6 ดังนั้นตราบใดที่นักท่องเที่ยวไม่กลับมา เศรษฐกิจไทยยังคงได้ผลกระทบสูง ทั้งนี้จะเห็นว่า ความเสี่ยงทั้ง 2 ข้อล้วนขึ้นกับโควิด ว่าเราคุมโควิดได้ดีแค่ไหน รับมือการแพร่ระบาดได้ดีกว่าปีนี้หรือไม่
ข้อสาม สถานการณ์เงินเฟ้อ สินค้าแพง ค่าครองชีพพุ่ง
ทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาเงินเฟ้อ หลายประเทศเงินเฟ้อพุ่งทำลายสถิติ เช่น สหราชอาณาจักรที่เงินเฟ้อสูงทำลายสถิติในรอบ 10 ปี สหรัฐอเมริกาที่เงินเฟ้อทำลายสถิติในรอบ 30 ปี ปรากฏการณ์ของแพง ต้นทุนสินค้าปรับตัวสูงขึ้นกำลังเกิดขึ้นทั่วโลก สาเหตุหลักมาจาก ราคาน้ำมันและเชื้อเพลิงที่แพงขึ้น ราคาอาหารสูงขึ้น โดยดัชนีราคาอาหารโลกของ UN Food and Agriculture Organization (FAO) เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 10 ปี นอกจากนี้ยังมีผลจากโควิด ที่ทำให้ 2 ปีที่ผ่านมา ห่วงโซ่การผลิตสินค้าทั่วโลกสะดุดหรือหยุดชะงัก (Supply Chain Disruption) การผลิตสินค้าไม่สามารถดำเนินได้ตามปกติ ขาดวัตถุดิบจากต่างประเทศ การขนส่งหยุดชะงักจากมาตรการควบคุมโควิด ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ราคาสินค้าแพงขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นปรากฏการณ์ที่จะเห็นชัดในปีหน้า
ดังนั้นคนไทยต้องเตรียมรับมือของแพง ค่าครองชีพที่เพิ่ม ซึ่งเสี่ยงซ้ำเติมผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ที่รายได้ลดลงในสถานการณ์โควิดอยู่แล้ว
ข้อสี่ กระแสการย้ายฐานการผลิตและการลงทุนทั่วโลก เสี่ยงกระทบการลงทุนและการจ้างงานในประเทศ
จากปัญหาห่วงโซ่การผลิตสะดุดหรือหยุดชะงัก บรรษัทขนาดใหญ่ทั่วโลกมีแนวโน้มปรับย้ายฐานการผลิต พึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศลดลง พึ่งพาวัตถุดิบจากในประเทศมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงขาดแคลนวัตถุดิบนำเข้าจนกระทบการผลิตสินค้า กระแสการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีแนวโน้มให้เกิดการปรับเปลี่ยนฐานการผลิตทั่วโลก ประเทศไทยในฐานะเป็นแหล่งลงทุนเพื่อผลิตสินค้าขั้นกลาง มีบริษัทผู้ผลิตสินค้าขั้นกลางจำนวนมาก เสี่ยงสูญเสียคำสั่งซื้อและถูกย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น การย้ายฐานการผลิตและการลงทุนเสี่ยงกระทบการจ้างงานในประเทศ
ข้อห้า ความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย
ในบรรยากาศที่ทั่วโลกมีเงินเฟ้อสูงขึ้น หลายประเทศมีแนวโน้มขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลอเงินเฟ้อ ล่าสุด (16 ธ.ค.) ธนาคารกลางอังกฤษประกาศเพิ่มอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 3 ปี จาก 0.1% เป็น 0.25% เช่นเดียวกับธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ถูกคาดหมายว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อรับมือเงินเฟ้อเช่นกัน
การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเสี่ยงกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก เสี่ยงทำให้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน นอกจากนี้หากไทยมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็เสี่ยงกระทบการลงทุน กระทบผู้กู้หรือผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุน กระทบปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงอยู่แล้ว
ทั้งหมดนี้คือปัจจัยระยะสั้นที่จะกระทบเศรษฐกิจไทยในปีหน้า ยังไม่รวมปัจจัยอื่นที่ต้องจับตา เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและไต้หวัน ปัญหาหนี้เสียในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน รวมถึงผลกระทบจากโลกร้อนและมาตรการที่รัฐบาลแต่ละประเทศจะออกมา ตลอดจนความไม่ปลอดภัยทางอินเตอร์เน็ตที่นับวันเพิ่มมากขึ้น และก่อต้นทุนให้เศรษฐกิจทุกประเทศ
กล่าวโดยสรุป ปีหน้า เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญความท้าทายหลายประการ หากไม่เตรียมรับมือให้ดี เศรษฐกิจไทยเสี่ยงซ้ำรอยปีนี้ คือโตต่ำ โตช้า โตไม่ทันคนอื่นต่อไป