‘เอกชน’ ปาดเหงื่อเมื่อ ‘เงินบาท’ ผันผวนหนักขึ้น
เป็นอีกหนึ่งปีที่ “ภาคธุรกิจ” บ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า “เหนื่อย” โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งปี 2567 ถือเป็นปีที่ “เงินบาท” ผันผวนหนักขึ้นกว่าทุกๆ ปี
...จะเห็นว่าปีนี้(2567) เงินบาทมีกรอบการเคลื่อนไหวที่กว้างมากถึง 4.81 บาทต่อดอลลาร์ หรือมีกรอบการเคลื่อนไหวในระดับ 32.29 - 37.10 บาทต่อดอลลาร์ คิดเป็นส่วนต่างถึง 15% โดยช่วงที่เงินบาทอ่อนค่าสุดในปีนี้(37.10 บาทต่อดอลลาร์) เกิดขึ้นในเดือนเม.ย.2567 ส่วนช่วงที่เงินบาทแข็งค่าสุดของปี(32.29 บาทต่อดอลลาร์) อยู่ในเดือนก.ย.2567 จะเห็นว่าเพียงแค่ 5 เดือนเท่านั้น เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาถึง 15% ความผันผวนในระดับนี้คงยากที่จะมีผู้ประกอบการรายไหนปรับตัวรับมือได้ทัน
ถ้าเทียบการเคลื่อนไหวของเงินบาทกับภูมิภาค แม้จะมีทิศทางสอดคล้องกัน คือ แต่ระดับ “ความผันผวน” ของเงินบาทดูจะแซงหน้าหลายประเทศไปแล้ว ข้อมูลที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เปิดเผยในรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 2567 ซึ่งเป็นการหยิบข้อมูลจาก Bloomberg มาเปิดเผย พบว่า ค่าความผันผวน(implied volatility) ของเงินบาทในเดือนมิถุนายน กันยายน และ ตุลาคม มีความผันผวนในระดับ 4.75 , 10.63 และ 10.35 ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาค จะเป็นรองก็เพียง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และ อินโดนีเซีย
นอกจากนี้ค่าความผันผวนดังกล่าวยังสูงขึ้นมากในช่วงเดือนกันยายน 2567 ซึ่งเป็นช่วงที่ปัจจัยในประเทศสนับสนุนให้เกิดเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้าตลาดทุนไทย ได้แก่ ความชัดเจนทางการเมืองหลังการจัดตั้งรัฐบาล และการเสนอขายหน่วยลงทุนกองทุนวายุภักษ์ ส่วนแนวโน้มเงินบาทช่วงที่เหลือของปี 2567 ทาง สศช. ประเมินว่า จะมีความผันผวนในระดับสูงต่อเนื่อง จากความไม่แน่นอนของทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐ โดยเฉพาะนโยบายทางการค้าที่จะส่งผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐ รวมทั้งนโยบายเศรษฐกิจของไทยด้วย
เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวและเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนที่มีแนวโน้มว่าจะผันผวนมากยิ่งขึ้น สศช. แนะนำว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรส่งเสริมให้ภาคส่วนต่างๆ เข้าถึงเครื่องมือทางการเงินและมีทางเลือกการลงทุน เพื่อช่วยบริหารจัดการและป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนให้ทั่วถึง เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs สามารถบริหารจัดการการเงินและวางแผนการผลิตให้เหมาะสมกับประเภทและขนาดของธุรกิจได้
เราเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็น เพราะผลดำเนินงานของหลายบริษัทในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา สะท้อนเชิงลบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ยิ่งในอนาคตรัฐบาลใหม่ของสหรัฐภายใต้การนำโดยประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ความไม่แน่นอนทางด้านเศรษฐกิจและการค้าจะพุ่งสูงขึ้น ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนย่อมต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และหากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ยังยอมปล่อยให้เงินบาทผันผวนเพิ่มขึ้น การเตรียมพร้อมของเหล่าบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนก็ควรต้องให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มากขึ้นตามไปด้วย